“Co-Working Space” ธุรกิจ “เซ็กซี่”? ยุค Startup ฟีเวอร์

“Co-Working Space” ธุรกิจ “เซ็กซี่”? ยุค Startup ฟีเวอร์

ยุคนี้ใครๆ ก็อยากเปิดCo-Working Spaceรับการโตของฟรีแลนซ์-Startup แต่ทำไมถึงยังมีคน“ทำเจ๊ง!”ติดตามเรื่องจริงจากเหล่ากูรู เตือนสติก่อนสตาร์ท

ข้อมูลจาก ภาควิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) บอกจำนวน Co-Working Space ธุรกิจพื้นที่ทำงานร่วมแบ่งปัน ในปี 2558 ว่า เฉพาะในกรุงเทพฯ มีอยู่มากกว่า 40 แห่ง ต่างจังหวัดอีกกว่า 10 แห่ง

ทว่า ปีนี้เรายังมี Co-Working Space เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด และผู้เล่นไม่ได้มีแค่คนตัวเล็ก แต่สารพัดเจ้าใหญ่ๆ ที่แห่แหนกันลงมาแข่งในสนามนี้ ถึงขนาดที่ "อมฤต เจริญพันธุ์” ผู้ร่วมก่อตั้ง HUBBA COWORKING SPACE คาดการณ์ว่า น่าจะมี Co-Working Space แล้วเกินกว่าร้อยราย เติบโตเป็น 100% เมื่อเทียบจากปีก่อน

Co-Working Space เป็นธุรกิจน้องใหม่ ที่เพิ่งจุติบนโลกมาได้แค่ไม่กี่ปี โดยที่แรกคือ “The Hat Factory” ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2005 ส่วนไทยเอง แม้ก่อนหน้านี้พอจะได้ยินชื่อ Third Place หรือ The sync (ปิดไปแล้ว) แวะเวียนมาให้เข้าหูบ้าง แต่ที่พอสร้างความรู้จักในธุรกิจนี้ได้จริงๆ ก็ตอนมี HUBBA ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4 ปี ก่อน จึงยังสดใหม่พอตัวสำหรับธุรกิจนี้ ที่สำคัญยังคงเติบโตอย่างคึกคัก

ทำไมนักลงทุนถึงอยากเหลือเกินที่จะเปิด Co-Working Space

กูรูในสนาม เล่าให้ฟังว่า มาจากสภาพแวดล้อมการทำงานของคนยุคนี้ที่เปลี่ยนไป หลังเทคโนโลยีเข้ามาปฏิวัติการทำงาน ทำให้ผู้คนมีอิสระในการนั่งทำงานมากขึ้น ก็แค่มีอินเตอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ แม้จะอยู่ที่ไหนบนโลกก็สามารถทำงานได้ทั้งนั้น 

ขณะไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ไม่ชอบตอกบัตรเข้าทำงาน เบื่อรถติด เบื่อชีวิตจำเจ เลยอยากออกมา Startup ธุรกิจของตัวเอง แม้แต่การที่บริษัทต่างๆ ลดต้นทุนการจ้างพนักงานประจำลง ก็ส่งผลให้อาชีพ “ฟรีแลนซ์” เพิ่มขึ้นมหาศาล

คนกลุ่มนี้ต้องการสถานที่ทำงาน สะดวกสบาย ใกล้รถไฟฟ้า อยู่ในเมือง มีอุปกรณ์เท่าที่จำเป็นให้ใช้ แต่จะให้ลงทุนสร้างออฟฟิศเองก็คงไม่มีปัญญา เลยขอสถานที่ทำงาน ราคาไม่แพง และมี “Community” หรือชุมชนของกลุ่มคนที่จะได้มาแชร์ไอเดีย สร้างสัมพันธภาพ และลดความยากในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่

“ปัจจุบันบริษัทอสังหาฯ ใหญ่ๆ ก็เริ่มเล็งเห็นความสำคัญ โดยเริ่มมีการปรับพื้นที่บางส่วนมาทำ Co-Working Space เพราะเขามีโลเคชั่นดีๆ อยู่เต็มไปหมด อย่าง กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา, สยามพิวรรธน์ หรือ บมจ. เอสเอฟ คอร์ปอเรชั่น (SF Cinema) ก็กำลังทำ Co-Working Space ของเขาอยู่ที่ ศูนย์การค้าเมญ่า เชียงใหม่”

“เอกรัฐ สันทนตานนท์” ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บอกเล่าสถานการณ์หอมหวานของ Co-Working Space อสังหาฯ น้องใหม่ที่เป็น “Destination” หมุดหมายให้คนเข้าหา เรียกว่า แค่อยู่ในทำเลดี เดินทางสะดวก แม้จะอยู่ในจุดอับ จุดบอดของตึกไหน ก็ยังสามารถทำ Co-Working Space ได้ แถมยังจะดึงทราฟฟิกให้สถานที่นั้นได้ด้วย

รายได้หลักของ Co-Working Space จะมาจาก “ค่าบริการจากการให้ใช้พื้นที่” ไม่ว่าจะพื้นที่ทำงานส่วนกลาง ห้องทำงานส่วนตัว ห้องประชุม ห้องจัดกิจกรรม ฯลฯ ใครครีเอทหน่อยยังสามารถคิดค่าบริการเสริมอื่นๆ เพิ่ม เช่น บริการที่ปรึกษา หรือแมสเซนเจอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถหารายได้จากช่องทางอื่นๆ อาทิ การทำพื้นที่สำหรับจัดงานอีเว้นต์ จัดงานสัมมนาต่างๆ รวมทั้งบริการไปรษณีย์และเคาท์เตอร์เซอร์วิส ซึ่งเหล่านี้ จะเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ และยังเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการด้วย

วันนี้ Co-Working Space ยังสามารถทำร่วมกับธุรกิจอื่น เช่น “คาเฟ่” ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจ “โฮสเทล” รองรับตลาดคนชอบเดินทางและทำงานไปในเวลาเดียวกัน “Maker space” พื้นที่ลงมือทำของเหล่านักสร้างสรรค์ “Business Consult” บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ หรือบางที่จะกลายร่างเป็น “Incubator” ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ Startup ก็สามารถทำไปด้วยกันได้ เพื่อเพิ่ม “จุดขาย” และ “สร้างรายได้” ให้มากขึ้น

ในส่วนของ “ค่าบริการ” จะหอมหวานสักแค่ไหน? ภาควิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงสำรวจ Co-Working Space ในเขตกรุงเทพฯ พบว่า ย่าน สยามสแควร์ และราชเทวี คิดอยู่ที่ประมาณ 240-250 บาท ต่อคน/ต่อวัน ย่านอารีย์ อยู่ที่ 200-280 บาท  ทองหล่อ-เอกมัย อยู่ที่ 280-350 บาท ส่วน สีลม สาทร สุรศักดิ์ เก็บกันที่ 260-350 บาท ต่อคน/ต่อวัน ขณะกรุงเทพฯชั้นนอกก็รับไป 150-300 บาท ซึ่งอัตราค่าบริการมีทั้งแบบรายวัน และรายเดือน (บางที่อาจทำแพคเก็จเป็นรายชั่วโมง รายสัปดาห์ ไปจนถึงรายปี เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า) ซึ่งเรตจะสูงต่ำก็ขึ้นกับความเหมาะสมของพื้นที่ และคู่แข่งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน รวมถึงต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของแต่ละรายด้วย

ส่วนค่าใช้จ่ายหลักๆ แบ่งเป็นค่าเช่าพื้นที่ 65% ค่าพนักงาน 15% ค่าน้ำค่าไฟ 10% และค่าเบ็ดเตล็ดอีก 10%

แล้วต้องมีเงินเท่าไรถึงจะเปิด Co-Working Space ได้ คนในสนามบอกเราว่า ขนาดพื้นที่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 400-800 ตรม. ใช้เงินลงทุนรวมอุปกรณ์ประมาณ 3 หมื่นบาทต่อตรม. แต่ถ้าจะให้คุ้มการลงทุน ควรคืนทุนให้ได้ภายใน 3 ปี เพราะส่วนใหญ่มักเป็นการเช่าพื้นที่คนอื่นมาลงทุน ซึ่งเช่าไป 3 ปี อาจถูกเอาที่คืนก็ได้ ฉะนั้นสิ่งที่กูรูแนะ คือ ต้องสร้างแบรนด์ให้ติดใน 2 ปีแรก เพื่อที่เมื่อต้องย้ายไปที่อื่นคนก็จะยังตามไปด้วย และคืนทุนให้ได้ภายใน 3 ปี!

หนึ่งใน Co-Working Space ที่ชัดเจนเรื่องแผนการลงทุนคือ Draftboard พวกเขาใช้เงินลงทุนประมาณ 5-6 ล้านบาท เนรมิต Co-Working Space ของเหล่ากราฟฟิกดีไซเนอร์ โดยหวังคืนทุนได้ใน 3-4 ปี “ภูดิศ เจริญปัญญายิ่ง” ผู้ร่วมก่อตั้ง Draftboard บอกเรื่องจริงที่อาจดับฝันคนโลกสวยว่า Co-Working Space รายได้อาจน้อยกว่า “ร้านกาแฟ” ด้วยซ้ำ

“Co-Working Space ไม่ได้เหมือนธุรกิจร้านกาแฟ แต่คล้ายกันตรงที่ ต่อเก้าอี้ 1 ตัว ร้านกาแฟสามารถขายลูกค้าได้ 3 คน ตกเฉลี่ย 500-800 บาท แต่กับ Co-Working Space เก้าอี้ 1 ตัว คนนั่ง 1 คน แถมนั่งทั้งวันเลยนะ เท่ากับว่าเราขายเก้าอี้ 1 ตัวได้แค่ 250 บาท ทำให้รายได้ของธุรกิจนี้น้อยกว่าร้านกาแฟถึง 3-4 เท่า!” เขาบอก

มาลองเทียบดูกับธุรกิจใกล้เคียงกัน อย่าง ทำออฟฟิศให้เช่า ที่เซ็นสัญญาระยะยาว ไม่ว่าจะ 6 เดือน ไปจน 1-3 ปี เซ็นจบ ตามเก็บเงิน เสร็จสิ้นภารกิจ แต่พอเป็น Co-Working Space ต้องขายกันเป็นรายวัน ฉะนั้นความเสี่ยงจึงสูงกว่ามาก เพราะลูกค้ามาวันนี้ พรุ่งนี้อาจจะไม่มาอีกก็ได้ 

นั่นคือเหตุผลที่ Co-Working Space ต้องทำตัวเองให้แตกต่าง มีจุดขาย ดึงดูดคนอยากมาใช้บริการ ต้องทำกิจกรรมต่อเนื่อง และต้องรักษาฐานลูกค้าไว้ให้ได้

โดย “โลเคชั่น” และ “ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ” ของแต่ละ Co-Working Space ยังเป็นกุญแจสำคัญ

“ถ้าตั้งเป้าว่า จะมาหารายได้จากการเปิด Co-Working Space ส่วนตัวผมมองว่า เปิดออฟฟิศให้เช่า คุ้มกว่า สบายกว่า ถ้ามองแค่เรื่องผลกำไร ต้องคิดดูดีๆ ทำการบ้านให้ชัดๆ เพราะ Co-Working Space มีหลายปัจจัยมาก ฉะนั้นใครอยากทำ อยากให้เริ่มจาก แพสชั่น”

“วินเซนต์ เศรษฐีวรรณ” ผู้ร่วมก่อตั้ง Launchpad  พื้นที่ทำงานร่วมแบ่งปัน ขวัญใจของคนแวดวงดิจิทัล บอกเล่าเรื่องจริงในสนาม โดยเขายอมรับหนึ่งข้อผิดพลาดของตัวเอง คือในตอนเริ่มต้น “ใช้ต้นทุนสูงเกินไป” โดยหมดไปกับค่าอุปกรณ์ โต๊ะ เก้าอี้ ที่ล้วนใช้แต่ของดี ของแพง ทั้งนั้น ซึ่งสนอง “ความเยอะ” ส่วนตัวเองล้วนๆ 

“ธุรกิจนี้กำไรอาจไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับอสังหาฯ ในรูปแบบอื่น รวมถึงยังมีต้นทุนการจัดการที่ต้องดูแลในแต่ละวันด้วย ซึ่งใช้ทั้งเวลา และทรัพยากรมาก แต่ด้วยความที่เรามีธุรกิจหลักอยู่คือทำบริษัทเกม เราต้องการออฟฟิศ มันก็ตอบโจทย์เราเอง และการแบ่งพื้นที่ให้บริษัทอื่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับแนวหน้าของประเทศมาเช่าอยู่ด้วยกัน นับเป็นกำไรกับธุรกิจ Startup อย่างเราด้วยซ้ำ” เขาบอก

เลยได้สนองทั้งตัวเองที่มีออฟฟิศให้นั่งทำงาน แถมยังเก็บรายได้จากค่าเช่าได้ด้วย ที่สำคัญยังเป็นโอกาสดึงดูดคนเก่งมาช่วยทำงาน มีบริษัทรายล้อมที่จะแชร์ไอเดียและช่วยแก้ปัญหา ระหว่าง Startup ธุรกิจของพวกเขา

ขณะบางรายอาจใช้โอกาสผันตัวเองไปเป็น VC (Venture Capital) ลงทุนใน Startup ที่มีศักยภาพใน Co-Working Space ของตัวเอง บางคนทำศูนย์บ่มเพาะ หรือจัดอีเว้นต์ ฯลฯ หารายได้ต่อยอดไปจากแค่ธุรกิจให้เช่าพื้นที่

ยุคหนึ่งเขาว่าร้านกาแฟเซ็กซี่ แต่วันนี้ใครก็มองมาที่ Co-Working Space ว่าแต่มัน “เซ็กซี่จริงไหม?”

“ภายนอกอาจดูเซ็กซี่ เหมือนธุรกิจร้านกาแฟเวอร์ชั่นใหม่ แต่ผมมองว่า มันไม่เซ็กซี่ เพราะว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่อยากเป็น Community Leader อยากจะมานั่งคุยกับ Startup แต่ละคน ตอนที่เขายังไม่ดัง ไม่รวย ยังไม่มีทีมงาน คุณอยากรู้จักลูกค้าคุณหรือเปล่า แล้วคุณช่วยอะไรเขาได้ไหม แนะนำเขาได้หรือเปล่า คุณมีสปิริทตรงนี้ไหม ธุรกิจนี้ใช้พลังงานเยอะมากนะ”

คำบอกเล่าของ "อมฤต เจริญพันธุ์” ผู้สร้างตำนาน HUBBA ที่ย้ำชัดว่า Co-Working Space ไม่ได้มีแค่ โต๊ะ เก้าอี้ หรือพื้นที่สวยๆ แต่หัวใจคือการสร้าง “Community” ชุมชนแห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้น สร้างบรรยากาศให้คนมาทำงานร่วมกัน สร้างสปิริตที่คนจะอยู่ในนี้อย่างมีความสุข และสนุกกับการทำงาน เพราะคนที่เข้ามาคงไม่ได้หวังแค่สถานที่ทำงานเท่านั้น โดยเฉพาะกับกลุ่ม Startup ซึ่งย่อมหวังให้พื้นที่ทำงานแห่งนั้น ช่วยเหลือและสานฝันเขาให้เป็นจริงด้วย

“ธุรกิจนี้ ต้องช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ เมื่อเขาสำเร็จ เราก็สำเร็จด้วย เพราะเขาจะมาใช้บริการเราต่อ”

นั่นเป็นเหตุผลให้คนทำ Co-Working Space ใช่ว่าแค่มีใจอยากจะทำ หรือมีเงินทุนเต็มกระเป๋าแล้วก็จบ ทว่าต้อง “มีศักยภาพพอ” ที่จะทำด้วย เขายกตัวอย่าง การจะทำ Co-Working Space สำหรับ ดีไซเนอร์ แต่ถ้าคนทำไม่มีความรู้เรื่องดีไซน์เลย ไม่เคยทำ ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีผลงาน ไม่แม้แต่รู้จักใครในวงการนี้ เท่านี้ก็ไปต่อได้ยากแล้ว เพราะคนที่มาใช้บริการ เขาย่อมหวังได้เจอ “ตัวจริง” ในสนามกันทั้งนั้น

นอกจากประสบการณ์ หรือความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง คนทำยังต้องมี “เครือข่าย” ที่แข็งแกร่งอยู่พอตัว

“อย่างมาที่ HUBBA เรารู้จักกับนักลงทุน รู้จักหน่วยงานภาครัฐ องค์กรต่างๆ ที่เป็นพาร์ทเนอร์ เรามีสื่อ และมีประสบการณ์ที่ทำ Startup มาก่อน เลยเหมือนมีทรัพยากรที่จะทำให้ Startup รายนั้นไปได้ไกลขึ้น” เขาบอกจุดขาย

แน่นอนว่า “ผู้มาใหม่” การจะต่อจิ๊กซอว์แบบนี้ให้เกิดได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด

เลยทำให้ระหว่างการเติบโตอย่างหอมหวาน ก็มี Co-Working Space หลายรายที่ต้อง “กัดก้อนเกลือกิน” ไม่ก็ล้มหายตายจากไปแบบเงียบๆ ด้วยเหตุผลตั้งแต่ เลือกโลเคชั่นไม่ดี Community ไม่แข็งแรง ไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้ เรียกลูกค้ามาใช้บริการต่อเนื่องไม่ได้ หรือต้นทุนอาจสูงเกินไป จนไม่สามารถรันธุรกิจให้อยู่รอด

ฟังแต่เรื่องช้ำๆ อย่าคิดว่ามีแต่คนทำแล้วไม่สำเร็จ ดูตัวอย่าง HUBBA ที่เริ่มจากสาขาเดียวตรงเอกมัยซอย 4 วันนี้พวกเขา คือเจ้าของ Co-Working Space ที่ทั้งลงทุนเองและร่วมบริหารอยู่ถึง 8 สาขา ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด(เชียงใหม่) แม้แต่ในต่างประเทศอย่างเวียงจันทร์ ขณะที่เป้าหมายปีนี้จะขยายสาขาที่ลงทุนเอง จากเดิมมีอยู่ 4 สาขา ให้ไปถึง 10 สาขา! ให้ได้

สิ่งที่โตไปพร้อมกับ HUBBA คือการสร้าง Startup เจ๋งๆ ให้เกิดขึ้น โดยปัจจุบันมี Startup ที่เกิดจาก HUBBA อยู่กว่า 10 ราย ช่วยให้ Startup เหล่านั้นสามารถระดมทุน ได้แล้วประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 150 ล้านบาท โดยเริ่มจากการเป็นสมาชิกของพวกเขา

คนอื่นว่าคืนทุนกันอย่างน้อย 3-4 ปี แต่ อมฤต ผู้ก่อตั้ง HUBBA ยืนยันกับเราว่า ค่าเฉลี่ยระยะเวลาคืนทุนของพวกเขาอยู่ระหว่าง 6 เดือน-2 ปี และมีรายได้ที่ “หลักสิบล้านบาท!” แล้ว

“ทุกครั้งผมไม่เคยบอกเลยว่า ธุรกิจนี้ทำง่าย เพราะ Community ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และไม่สามารถบอกได้ด้วยว่า มันจะแข็งแรงหรือไม่ อยู่ที่ว่า คุณต้องโฟกัส แล้วพยายามพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง คนที่อยากทำเพราะเห็นภาพที่มันสวย มีที่ให้มานั่งทำงาน มาคุยกัน แต่ถ้าไม่มีกิจกรรมอะไรที่น่าสนใจ หรือเราไม่สามารถให้คำปรึกษาเขาได้ แม้แต่คนในนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรที่เจ๋งๆ ที่เขาสามารถเรียนรู้ หรือแลกเปลี่ยนไอเดียกันได้เลย แบบนี้เขาจะมาไหม” เขาบอกโจทย์หิน

แต่ถ้าถามว่า ตลาดนี้ยังมีอนาคตแค่ไหน คนหนุ่มบอกแค่ว่า อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์เมืองไทย มีพื้นที่รวมกว่า 8-9 ล้าน ตรม. แต่ที่เป็น Co-Working Space ยังมีอยู่แค่หลักหมื่นตรม. เท่านั้น ฉะนั้นยังเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ที่คนอาจยังไม่รู้จัก ไม่สัมผัส และไม่เข้าใจ จึงยังมีโอกาสโตได้อีกมาก เมื่อวันที่คนรู้จักและอยากมาใช้พื้นที่ทำงานแบบนี้กันมากขึ้น

ขณะที่ผู้ประกอบการจาก Launchpad และ Draftboard ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Co-Working Space ยังเป็นธุรกิจที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสนใจของเด็กยุคนี้ที่อยากทำ Startup และอยากทำฟรีแลนซ์กันมากขึ้น ซึ่งนั่นจะส่งอานิสงส์ต่อ Co-Working Space รวมถึงการเติบโตไปตามเทรนด์ของ “ดิจิทัลอีโคโนมี” โดย Co-Working Space ที่มีความ "เฉพาะตัว” จะยังได้เปรียบในสนามนี้

“ธุรกิจนี้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ด้วยความที่มันโตด้วยกายภาพเพียงอย่างเดียว ทำให้ต้องแข่งกันเอง สุดท้ายก็จะเกิดสงครามราคา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราคงไม่อยากให้เกิดขึ้น ฉะนั้นจากนี้คงต้องมีระบบบางอย่างที่จะควบคุม Co-Working Space เพื่อให้เติบโตทั้งกายภาพและความเป็นระบบมากขึ้น” ภูดิศ แห่ง Draftboard สะท้อนความคิด

แม้เป็นสนามที่ยาก ทว่ายังมีโอกาสหลบซ่อนอยู่ ก็แค่เตรียมตัวให้พร้อม รู้จักและเข้าใจธุรกิจนี้ให้ถ่องแท้ ก่อนพ่ายให้ความ “เซ็กซี่” แล้วกระโจนลงสนามร้อนที่ชื่อ Co-Working Space

...................................

“กูรู”แชร์ไอเดียทำเงิน

-Room111 คือ Co-Working Space ที่ดึงธุรกิจคาเฟ่ มาเติมเสน่ห์ให้บริการเช่าพื้นที่ทำงาน โดยเปิด Slow Cafe by Room 111 มาเป็นอีกหนึ่งจุดขาย มี “กาแฟดริป” เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน ซึ่งในอนาคตยังมีแผนเปิดเป็นโฮสเทล และ Business Clinic เพื่อให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจแก่ลูกค้าด้วย

-Oneday Pause and Forward ไม่ได้ให้บริการแค่พื้นที่ทำงาน แต่ยังมีบริการที่พักขนาดเล็ก เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าที่ต้องการเดินทางและทำงาน

-PINN Creative Space เป็น Co-Working Space ของคนรักงานฝีมือ โดยที่นี่จะมีอุปกรณ์เฉพาะทางในการประดิษฐ์ผลงานต่างๆ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ทันสมัยและราคาสูง เช่น จักรเย็บผ้าดิจิทัล เครื่องสกรีนลายผ้า เครื่องปรินท์ภาพสามมิติ ซึ่งสามารถคิดค่าบริการเพิ่มเติมจากลูกค้า

-Muchroom ไม่ได้มีแค่ Co-Working Space แต่ยังมีบริการให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจ

-HUBBA เป็น Startup Incubator ที่ให้คำปรึกษา จัดหาแหล่งเงินทุนให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพ กับบรรยากาศสบายๆ ในรูปแบบของบ้าน ทำให้ลูกค้ารู้สึกอบอุ่น เกิดสังคมเล็กๆที่คนจึงแวะเวียนมาไม่ขาดสาย

-Ma:D คือ Co-Working Space ของคนที่สนใจประเด็นทางสังคม พวกเขาให้คนมาใช้พื้นที่ส่วนกลางได้ฟรีๆ จะเก็บเงินก็แค่ออฟฟิศส่วนตัว ห้องประชุม และห้องจัดกิจกรรม ส่วนรายได้ที่สำคัญคือการทำโปรเจคเพื่อสังคมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งกลายเป็นรายได้หลักที่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจในวันนี้้

------------------------------

“FASCINATED”กลยุทธ์สำเร็จ 

Co-Working Space

Flexibility ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ

Accessibility ทำเลที่ตั้ง สะดวกสบาย ง่ายต่อการเดินทาง

Service ให้บริการด้วยความอบอุ่น-เป็นกันเอง

Community สร้างปฏิสัมพันธ์ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด-ส่งเสริมการทำงาน

Identity สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว ง่ายต่อการจดจำ

Network ใช้เครือข่ายสร้างโอกาสและสัมพันธภาพเพื่อประโยชน์ธุรกิจ

Atmosphere สร้างบรรยากาศให้เหมาะสมต่อการทำงาน

Trusted สร้างความมั่นใจในความปลอดภัย

Expert ความรู้และความชำนาญเฉพาะทางของผู้ประกอบการ

Determination มุ่งมั่นและตั้งใจดำเนินธุรกิจ

ที่มา : สัมมนา สร้างพื้นที่อย่างมีสไตล์ กวาดรายได้ด้วยธุรกิจ Co-Working Space ภาควิชาการตลาด CMMU