โรงแรมฉีกกลยุทธ์บุกตลาดสุขภาพ
แม้ว่าตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทยวันนี้ยังจัดอยู่ในกลุ่มความสนใจเฉพาะ (นิชมาร์เก็ต)
แต่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยเฉพาะมิติรายได้ ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เตรียมจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมเมดิคัลแอนด์เวลเนส หรือการท่องเที่ยวเชิงแพทย์และสุขภาพ ที่สร้างรายได้สะพัดให้ไทยไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้านบาทต่อปี
แต่สิ่งที่น่าจับตา คือการเคลื่อนไหวของภาคเอกชน ที่ล้ำหน้าในการเตรียมรับมือตลาดนี้ไปก่อนแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ “ฉีกกลยุทธ์” หันมาชูจุดแข็งรับตลาดสุขภาพโดยเฉพาะมากขึ้นทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
ดนัย วันสม กรรมการผู้จัดการ โรงแรมเวลล์ กรุงเทพสุขุมวิท 20 กล่าวว่าโรงแรมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปีนี้ ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นการลงทุนโครงการ วางตำแหน่งทางการตลาดและแผนการพัฒนาบริการเพื่อเจาะตลาดสุขภาพโดยเฉพาะ สะท้อนให้เห็นตั้งแต่การเลือกใช้ชื่อของโรงแรม เพราะนอกจากการเป็นโรงแรมแล้ว ยังมีบริการเสริมด้านอาหารการกินในรูปแบบอาหารบำบัด (Food Therapy) เป็นตัวเลือกนอกเหนือจากเมนูทั่วไป
พร้อมแนะนำการออกกำลังกายใหม่ๆ เข้ามาเสริมตลอดเวลา เช่น การปั่นจักรยานในน้ำ ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกที่มีบริการดังกล่าว โดยผนวกศาสตร์ต่างๆ รวมไว้ด้วยกันหมด รวมถึงมีบริการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะให้คำแนะนำด้านสุขภาพ จัดหาเทรนเนอร์สำหรับให้คำปรึกษาเฉพาะทาง เช่น การดูแลสุขภาพและการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
การฉีกกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างความ“แตกต่าง” จากโรงแรมทั่วไปที่แข่งขันกันในพื้นที่เดียวกันค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาแม้กลุ่มลูกค้าที่เข้ามายังเป็นกลุ่มเล็กราว 10% เทียบกับแขกที่เข้าพักทั้งหมด แต่เริ่มมีเห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างเด่นชัดพร้อมกับกระแสรักสุขภาพ ความตื่นตัวในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บแทนที่จะรอรักษาเมื่อเจ็บป่วยแล้ว
ประเด็นที่ต้องจับตาคือ ตลาดจีน ที่อดีตอาจมีการรับรู้ว่าเข้ามาแบบกระแสหลักนั้น กลับมีส่วนหนึ่งที่เป็นนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ ใช้ช่องทางออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ (โอทีเอ) จองตรงเข้ามาด้วย ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าที่เดินทางด้วยตัวเอง (FIT) สูงกว่า 70% ขณะที่ลูกค้าจากกรุ๊ปทัวร์มีอยู่ราว 30%
หลังจากเปิดตัวตั้งแต่ต้นปีอัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ราว 70-80% แต่หากเป็นเดือนที่มีเทศกาลท่องเที่ยวเช่น เม.ย.ห้องพักเต็มเกือบ 100% ขณะที่ช่วงสุดสัปดาห์อยู่ที่ 80-90% นอกจากตลาดนักท่องเที่ยวแล้ว การมีทำเลใกล้กับศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ทำให้ได้กลุ่มลูกค้าธุรกิจในสัดส่วนกว่า 20% ซึ่งในการจับตลาดกลุ่มนี้ จะพยายามสอดแทรกโปรแกรมสุขภาพที่น่าสนใจนำเสนอควบคู่ เช่น แพ็คเกจสปา หรือการออกกำลังกายช่วยฟื้นฟูร่างกายให้เหมาะสำหรับการทำงานออฟฟิศที่ใช้เวลาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานๆ
“ความสนใจด้านสุขภาพเริ่มมีมากว่า 20-30 ปีแล้ว แต่ไม่แพร่หลายมากจนกระทั่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราเติบโตสูง และทำให้ตัดสินใจมุ่งสู่บริการเฉพาะเพื่อรับลูกค้าที่สนใจมากขึ้น มั่นใจว่าปีหน้ารายได้จะเติบโตกว่า 10-20%”
เช่นเดียวกับโรงแรมและรีสอร์ทในต่างจังหวัด ที่ปัจจุบันเริ่มเห็นการวางจุดแข็งรุกหนักเรื่องบริการด้านสุขภาพครบวงจรมากขึ้น โดยเฉพาะทำเลท่องเที่ยวดังอย่าง “ภูเก็ต” ที่เป็นแหล่งรวมการแขงขันธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่ชัดเจนที่สุดพื้นที่หนึ่ง
ปรารถนา ปุณณกิติเกษม กรรมการผู้จัดการ อมาธารา รีสอร์ท แอนด์ เวลเนส กล่าวว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา กระแสตลาดที่ตอบรับเทรนด์รักสุขภาพเติบโตอย่างก้าวกระโดด สำหรับในไทยธุรกิจที่เติบโตในช่วงแรกๆ ได้ดีอยู่ที่เรื่องของความงามเป็นหลัก ส่วนผู้เล่นในกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทที่จับตลาดด้านนี้โดยเฉพาะยังไม่ถือว่ามีจำนวนมาก แต่มีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยขณะนี้ถือว่าอุปสงค์และอุปทานเหมาะสมพอดีกับตลาด ซึ่งเป็นกลุ่มนิชมาร์เก็ต ที่ยังอาจไม่มากเท่านักท่องเที่ยวกระแสหลัก
สำหรับประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในการชูตัวเองเป็นจุดหมายของการสร้างสุขภาพที่ดี (เวลเนส เดสติเนชั่น) คือการมองมิติการรักษาสุขภาพที่หลากหลาย เช่น เชิงป้องกันความเจ็บไข้, การดูแลทางจิตใจควบคู่ไปกับร่างกาย เพิ่มเติมจากอดีตอาจส่งเสริมผลักดันไปทางการท่องเที่ยวเชิงแพทย์ (เมดิคัล ทัวริซึ่ม) เป็นส่วนใหญ่
จากการส่งเสริมการตลาดของหน่วยงานภาครัฐในปัจจุบันที่เริ่มเห็นความสำคัญของประเด็นเวลเนส และสร้างการรับรู้เฉพาะด้านนี้มากขึ้น ถือว่าเป็นประโยชน์ และทำให้ตลาดนี้มีโอกาสเติบโตเร็วขึ้น
กลุ่มลูกค้าที่เข้าพักกับโรงแรม สามารถแสวงหาตลาดได้หลากหลาย เนื่องจากมีความผสมผสานทั้งเอเชียและยุโรป 50% เท่ากัน โดยตลาดเอเชียมาจากจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และลูกค้าคนไทยเองซึ่งมีสัดส่วนกว่า 10% ส่วนตลาดยุโรปมาจากสวิตเซอร์แลนด์, อังกฤษ, เยอรมนี, อเมริกา, ออสเตรเลีย
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ แม้แต่ตลาดจีนก็ยังได้รับกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์เข้ามาจำนวนมาก แสดงถึง6กำลังในการใช้จ่ายที่ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศไหน หากสามารถนำเสนอสินค้าบริการที่ตอบโจทย์กับกลุ่มนิชมาร์เก็ตได้ และเมื่อประกอบกับการอยู่ในโลเกชั่นที่ถูกต้อง เช่นที่ อมาธารา ตั้งอยู่ในภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติต้องการมาเยือนอยู่แล้ว จึงเป็นสูตรสำเร็จที่คาดว่าจะผลักดันให้ธุรกิจในปี 2560 เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 60%
"การวางตำแหน่งของรีสอร์ทที่มีบริการเฉพาะด้านสุขภาพที่หลากหลาย และให้บริการระดับหรูราคาเฉลี่ยต่อคืนตั้งแต่ 1 หมื่นบาทถึง 4.3 หมื่นบาท เมื่อนำมารวมเป็นแพ็คเกจสุขภาพ 3 วันเฉลี่ยกว่า 4.5 หมื่นบาท ก็ยังได้รับการตอบรับที่ดี แสดงให้เห็นถึงความสนใจเรื่องสุขภาพของนักท่องเที่ยว และยังมาจากหลากหลายประเทศ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง"
ด้วยเทรนด์เติบโตดังกล่าว จึงตัดสินใจลงทุนเพิ่มในการยกระดับบริการสู่ไฮเอนด์และครบวงจรตอบโจทย์กลุ่มกำลังซื้อสูงขึ้นไปอีก โดยช่วงไตรมาส 3 นี้ ปรับปรุงห้องพักธรรมดาให้เป็นพูลวิลล่า ทำให้ห้องพูลวิลล่าเพิ่มจาก 35 ห้องเป็น 57 ห้อง จากห้องพักที่มีทั้งหมด 105 ห้อง บนพื้นที่ 44.5ไร่ บริเวณแหลมพันวา หลังจากที่ในไตรมาส 2 ปรับปรุงห้องประชุมรองรับกลุ่มบริษัทที่ต้องการส่งพนักงานมาเข้าโปรแกรมสุขภาพเพิ่มขึ้น ด้วยความจุได้ขนาด 70-100 คน
ขณะเดียวกันเพิ่มบริการด้านสุขภาพเพื่อสร้างความครบวงจรที่สุดของการเป็นรีสอร์ทด้านเวลเนสในภูเก็ต ด้วยการเพิ่มแพ็คเกจสุขภาพอีก 2 โปรแกรม คือ โยคะ และชะลอวัย รวมเป็น 7 แพ็คเกจภายในปลายปีนี้ ทำให้ลูกค้าสามารถใช้บริการที่ลงทุนสร้างมาใหม่ อาทิ ถ้ำเกลือ, คลินิกกายภาพบำบัด โดยระดมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะศาสตร์เข้ามาทำงานประจำ อาทิ รัสเซีย, อินเดีย เข้ามาให้คำปรึกษา