10 สายการบิน จ่อเปิดตัวใหม่ในไทยปีหน้า

10 สายการบิน จ่อเปิดตัวใหม่ในไทยปีหน้า

อุตสาหกรรมการบินโต "10 แอร์ไลน์" เตรียมเปิดตัวใหม่ในไทย ด้าน "กพท." ติดเครื่องกระบวนการตรวจสอบออกใบอนุญาตใหม่ คาดแล้วเสร็จเดือน ก.พ. ปีหน้า

สายการบิน 10 รายยื่นขอใบอนุญาตบินในไทยรองรับอุตสาหกรรมการบินไทยขยายตัว จากแนวโน้มการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แม้ไทยยังติดปัญหามาตรฐานการบินจากหน่วยงานนานาชาติ

แนวโน้มการใช้บริการเดินทางด้วยเครื่องบินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจากสถิติของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ระบุว่า เที่ยวบินและผู้โดยสารที่ผ่านท่าอากาศยานนานาชาติ 6 แห่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ปีนี้ อัตราการเติบโตของเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 8.31% ส่วนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 11.50% อยู่ที่ 53.82 ล้านคน

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีสายการบินใหม่ที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการเดินอากาศ (AOL) ในไทยแล้วประมาณ 10 ราย และอยู่ระหว่างเตรียมการอบรมบุคลากรเพื่อเปิดกิจการ

“แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินกิจการได้ เนื่องจากยังต้องการตรวจสอบสายการบินเดิมที่เหลืออยู่ 25 สายให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้นจะตรวจรายใหม่”

นายจุฬา กล่าวว่า กพท.ได้เริ่มขั้นตอนตรวจสอบสายการบินเพื่อออกใบอนุญาตเดินอากาศ (Re-AOC) ในขั้นตอนแรกคือการตรวจเอกสารแล้วตั้งแต่วันที่12 ก.ย.ที่ผ่านมา และคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจะทยอยแล้วเสร็จพร้อมออกใบอนุญาตให้ 8 สายการบินในกลุ่มแรกได้ภายใน ก.พ.2560 ซึ่งในระยะเวลาเดียวกัน กพท.จะดำเนินการรายงานความคืบหน้าแก้ไขปัญหาไปยังองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) เพื่อขอพิจารณาปลดล็อกธงแดงภายในปีหน้า

กพท.แบ่งกลุ่มตรวจสอบออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 8 สายการบิน ซึ่งกลุ่มแรกที่เข้ารับการตรวจสอบเป็นกลุ่มสายการบินที่มีส่วนแบ่งการตลาด 70% ได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, นกแอร์, นกสกู๊ต, เคมายล์ และโอเรียลไทย

ส่วนกลุ่มที่ 2 มี 8 สายการบิน ได้แก่ ไทยสมายล์, สยามแอร์, เจ็ตเอเชีย, อาร์แอร์ไลน์, เอเชียแอตแลนติก, ไทยเวียตเจ็ต, ไทยไลออนแอร์, และ นิวเจนแอร์ ส่วนกลุ่มที่ 3 มี 7 สายการบิน ได้แก่ เอ็มเจ็ท, ทาชแอร์, เอซีเอวิเอชั่น, แอดวานซ์เอวิเอชั่น, วีไอพีเจ็ต, เอชเอส เอวิเอชั่น และสยามแลนด์ฟายอิ้ง และกลุ่มที่ 4 มี 2 สายการบิน คือ ซิตี้แอร์ และไทยเอ็กเพรสแอร์

คาดปีหน้าเริ่มออกในอนุญาตใหม่

นายจุฬา กล่าวว่า หากไอเคโอเห็นชอบการแก้ไขปัญหา และการตรวจสอบออกใบอนุญาตใหม่แล้ว ก็จะส่งผลให้ไทยมีมาตรฐานตรวจสอบสายการบินที่เป็นหลักสากล และสามารถเริ่มออกใบอนุญาตใหม่ให้กับสายการบินรายใหม่ที่เข้ามาขอทำการบินในไทยได้ในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป

“เราคาดว่าจะตรวจสอบกลุ่มแรกและออกใบอนุญาตใหม่ให้ได้ภายใน ก.พ.นี้ และก็จะดำเนินการรายงานผลไปยังไอเคโอให้เข้ามาตรวจสอบซ้ำ ซึ่งกรอบกำหนดขึ้นอยู่กับไอเคโอว่าจะเข้ามาเมื่อไร แต่คาดว่าเราจะสามารถปลดล็อกธงแดงได้ภายในปีหน้าอย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อตรวจสอบล็อตเก่าแล้วเสร็จตามมาตรฐานใหม่ ก็จะนำมาสู่การตรวจสอบออกใบอนุญาตของสายการบินล็อตใหม่ได้ในช่วงปีหน้าเช่นเดียวกัน หลังจากที่ปัจจุบันก็ค้างอยู่ประมาณ 10 รายที่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือไลเซ่นส์แล้ว แต่ยังไม่สามารถทำการบินได้เพราะยังไม่ได้รับ AOL ดังนั้นในช่วงปีหน้าก็จะเริ่มเห็นสายการบินใหม่ๆ เกิดขึ้นในไทย แต่เราก็จะทำการตรวจสอบเข้มงวดดูเรื่องโครงสร้างทางการเงิน และมาตรฐานให้รอบคอบ”

เริ่มทยอยตรวจสอบสายการบินใน2สัปดาห์

นายจุฬา ยังกล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบออกใบอนุญาตตามมาตรฐานใหม่นั้น ปัจจุบัน กพท.ได้เริ่มขั้นตอนที่ 1 คือตรวจสอบเอกสาร และขั้นตอนที่ 2 เชิญสายการบินเข้ามาประชุมหารือ โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมาได้นัดหารือร่วม 3 สายการบินที่มีความพร้อมเข้ามาดำเนินการก่อน คือ สายการบินไทย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ และสายการบินไทยแอร์เอเชีย

หลังจากนี้ กพท.จะทยอยดำเนินการตรวจสอบสายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศในปัจจุบันให้ครบจำนวน 25 สายการบินภายในช่วง 2 สัปดาห์นี้ โดยจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ราย ซึ่งหากในขั้นตอนแรกมีสายการบินใดติดขัดปัญหาการเตรียมเอกสาร หรือไม่สามารถหาเอกสารประกอบข้อมูลเพิ่มเติมตามระเบียบได้ กพท.ก็จะตัดสิทธิ์ใบอนุญาตทันที

ขณะที่ขั้นตอน 3 จะดำเนินการตรวจเอกสารของแต่ละสายการบิน หากพบว่าสายการบินใดยังขาดข้อมูลประกอบ กพท.จะให้ระยะเวลาดำเนินการ 20 วัน ก่อนจะพิจารณาตัดสิทธิ์ใบอนุญาต เพื่อเริ่มสู่ขั้นตอนที่ 4 ตรวจภาคปฏิบัติ ซึ่งจะลงพื้นที่ทั้งในส่วนของสำนักงานของแต่ละสายการบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงและการปฏิบัติการบิน ขั้นตอนสุดท้ายขั้นตอนที่ 5 เป็นการออกใบอนุญาตให้สายการบินใหม่ตามมาตรฐานไอเคโอ

คาดแก้‘เอสเอสซี’เสร็จขอปลดธงแดง

นายจุฬา กล่าวว่า ในเบื้องต้น กพท.ตั้งเป้าจะดำเนินการตรวจสอบออกใบอนุญาตสายการบินกลุ่มแรกให้แล้วเสร็จภายใน ก.พ.2560 ซึ่งจะเป็นระยะเวลาที่ กพท.คาดว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาที่มีนัยสำคัญด้านความปลอดภัย (เอสเอสซี) แล้วเสร็จ นำมาสู่ช่วงเวลาของการรายงานผลไปยังไอเคโอเพื่อขอรับการตรวจสอบซ้ำและปลดล็อกธงแดง

“สำหรับการเริ่มต้นดำเนินการตรวจสอบสายการบินขั้นตอนแรกในวันนี้ กพท.จะนำผลไปรายงานความคืบหน้าให้กระทรวงคมนาคมของสหภาพยุโรป (อียู) หรือ DG Move : Directorate General Mobility and Transportations ทราบในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.2559) ณ กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งการเดินทางไปชี้แจงครั้งนี้ก็จะรวมไปถึงการรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขมาตรฐานการบินให้ ผู้บริหารองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่ง สหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency) หรือ EASA ทราบด้วย”

“อาคม”ชี้ปลอดธงแดงต้องทำหลายด้าน

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าการเริ่มขั้นตอนตรวจสอบสายการบินครั้งนี้ จะสร้างความมั่นใจได้ว่าสายการบินที่กพท.ได้ออกใบรับรองให้นั้น มีความปลอดภัย

ทั้งนี้คาดว่ากระบวนการขั้นตอนที่ 1 และ 2 จะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่วนกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. - ก.พ. 2560 ขณะที่การปลดธงแดงได้เมื่อใดนั้น ต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น การเพิ่มบุคลากรด้านผู้ตรวจสอบ การปรับโครงสร้างองค์กร และการแก้ไขกฎหมายการเดินอากาศต่างๆ โดยเราจะต้องพร้อม 100% เพราะการตรวจสอบซ้ำจะต้องผ่านอย่างเดียว

เอกชนมั่นใจมีโอกาสปลดธงแดง

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่าการหารือร่วม กพท.ถือเป็นการเริ่มต้นในขั้นตอนแรก คือการทำความเข้าใจในเรื่องเอกสาร และขั้นตอนตรวจสอบร่วมกัน จากที่ผ่านมา บริษัทฯได้ยื่นเอกสารพร้อมรับการตรวจสอบไปแล้ว โดยหลังจากนี้ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของการตรวจสอบมาตรฐานสายการบิน ซึ่งทางไทยแอร์เอเชีย และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีความพร้อมในทุกด้าน และมั่นใจว่าจะผ่านการตรวจสอบ

สำหรับกรอบเวลาในการปลดล็อกธงแดงตามที่ กพท.ชี้แจงนั้น ในฐานะผู้ประกอบการประเมินว่า จากการร่วมงานในขณะนี้ก็สร้างความมั่นใจได้ว่าไทยมีโอกาสปลดล็อกธงแดงได้ตามกำหนดในช่วงปีหน้าแน่นอน

นายธรรศพลฐ์ กล่าวถึงภาวะการแข่งขันหาก กพท.จะเริ่มตรวจสอบสายการบินใหม่เพื่อออกใบอนุญาตว่าต้องรอดูมาตรฐานของ กพท.ที่จะออกมาใหม่ด้วยว่ามีข้อกำหนดเข้มข้นแค่ไหน เช่น หากมีการกำหนดต้องมีเครื่องบินมากกว่า 10 ลำก็จะทำให้สายการบินใหม่เข้ามาเปิดบินยากขึ้น แต่ในส่วนของไทยแอร์เอเชียเองมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจการบินอยู่แล้ว