จากเมืองแต้จิ๋ว สู่การตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ (2)
บ้านเกิดคุณพ่อของผมอยู่ที่อำเภอเถ่งไฮ่ เมืองแต้จิ๋ว ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออก ของเมืองกวางตุ้ง ทางใต้ของเมืองแต้จิ๋ว
อยู่ติดกับท่าเรือเมืองซัวเถา เมืองแต้จิ๋วกับเมืองซัวเถา เรียกรวมกันว่า “แต้ซัว” ปัจจุบันอำเภอเถ่งไห่อยู่ในการปกครองของเมืองซัวเถา เดิมทีครอบครัวของคุณพ่อเป็นเจ้าของที่ดิน คุณปู่ของผมก็เป็นเจ้าของที่ดิน รายได้ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มาจากการเก็บค่าเช่าที่ดินเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นรายได้ที่เพียงพอ คุณปู่ไม่จำเป็นต้องไปทำงานอื่นอีก คุณพ่อของผมเกิดปีพ.ศ. 2439 มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน
คุณพ่อของผมเป็นลูกชายคนโต คุณพ่อมีน้องชาย 2 คน และน้องสาวอีก 2 คน ในบรรดาน้องๆ ของคุณพ่อ น้องชายคนที่ 3 คือ ท่านชนม์เจริญ (ชื่อจีน เซี่ย เส้าเฟย) ซึ่งเป็นคุณอาคนที่ 3 ของผม ภายหลังคุณอาท่านนี้เป็นมือขวาของคุณพ่อในการทำธุรกิจ ส่วนคุณปู่ของผม ท่านเสียชีวิตตั้งแต่อายุได้ 30 ปี ซึ่งตอนนั้นคุณพ่อของผมเพิ่งจะมีอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น
หลังจากที่คุณปู่เสียชีวิตไป ภาระทางบ้าน ทั้งหมดจึงตกอยู่ที่คุณพ่อของผม ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของครอบครัว คุณอาคนที่ 2 ของผมเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง คุณพ่อของผมจึงตัดสินใจให้คุณอาคนที่ 2 ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งในสมัยนั้นเมืองแต้จิ๋วยังไม่มีมหาวิทยาลัย คุณอาจึงต้องไปเรียนที่มณฑลเสฉวน ค่าใช้จ่ายในการส่งคุณอาไปเรียนคิดเป็นเงินจำนวนไม่น้อย ดังนั้น คุณพ่อและคุณอาคนที่ 3 จึงต้องเริ่มทำการค้าขายตั้งแต่วัยเยาว์
แต้ซัวเป็นสถานที่ที่มีการค้าเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ คนที่เกิดที่นั่นเรียกตนเองว่าคนซัวเถา สมัยนั้นซัวเถายังรายล้อมไปด้วยภูเขา ถนนหนทางก็เดินทางไม่สะดวก ถ้าต้องการออกไปหาลู่ทางทำมาหากินภายนอก การเดินทางด้วยเรือเป็น ทางเดียวที่สะดวกที่สุด การค้าขายระหว่างแต้ซัว และญี่ปุ่นมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง (ปีพ.ศ. 1503-1822) หลังจากที่เมืองซัวเถาเปิดท่าเรือพาณิชย์ในปีพ.ศ. 2403
ชาวแต้จิ๋วจำนวนมากก็มีโอกาสได้ออกไปแสวงหาที่ทำกินใหม่ๆ บ้างก็ไปฮ่องกงซึ่งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ บ้างก็มาประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย ชาวจีนแต้จิ๋วจำนวนไม่น้อยที่อพยพไปทำการค้าที่ฮ่องกงและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างประสบความสำเร็จทั้งสิ้น จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าชาวจีนแต้จิ๋วเป็นชาวจีนที่มีความสามารถในการทำการค้า นอกจาก ซีพี แล้วยังมีธนาคาร กรุงเทพ ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพก็อพยพมาจาก เมืองแต้จิ๋ว, ลี กา ชิง (Li Ka Shing) มหาเศรษฐี แห่งเกาะฮ่องกงก็เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว
แม้ว่าคุณพ่อจะเกิดในตระกูลที่เป็นเจ้าของที่ดิน ไม่มีความรู้ด้านการทำการค้ามาก่อน แต่กลับสามารถทำการค้าขายไปต่างประเทศได้เอง ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะว่า ท่านเติบโตขึ้นในพื้นที่ที่ทุกคนทำค้าขายเก่งก็เป็นได้
ผักของแต้จิ๋วมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและรสชาติ แต่เมื่อนำเมล็ดพันธุ์นี้ไปปลูกในต่างประเทศ จะสามารถปลูกได้แค่ครั้งเดียว ไม่สามารถนำมาขยายเมล็ดพันธุ์แล้วนำไปปลูกซ้ำได้อีก ไม่เช่นนั้นคุณภาพและปริมาณผลผลิตจะลดลง ดังนั้นในแต่ละปีต้องมีการซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ จากเมืองแต้จิ๋ว คุณพ่อเห็นว่านี่เป็นโอกาสในการค้าขาย จึงเริ่มคัดสรรเมล็ดพันธุ์ผัก และทำธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ผัก โดยคุณพ่อตัดสินใจเลือกมาทำการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประมาณปีพ.ศ. 2462 คุณพ่อเดินทางมาประเทศไทยและอาศัยอยู่กับญาติ สมัยนั้น รัฐบาลไทยสนับสนุนการเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเล ชาวจีนแต้จิ๋วจำนวนไม่น้อยจึงได้เข้ามาประเทศไทย ปัจจุบันลูกหลานชาวจีนในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 7,000,000 คน หรือคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งประเทศ
ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ได้ ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ประเทศไทยไม่เป็นรัฐบาลที่ล่าอาณานิคม และขณะนั้นยังไม่มีธุรกิจขนาดใหญ่จากอเมริกาและยุโรปมาขยายการลงทุนในไทย คุณพ่อจึงเห็นช่องทางการค้าขายในประเทศไทย หลังจากอพยพมากรุงเทพฯ คุณพ่อก็ได้ลงหลักปักฐานที่เยาวราช
ชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาส่วนใหญ่จะยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก คุณพ่อนำเมล็ดพันธุ์ที่นำมาจากเมืองจีนขายให้แก่เกษตรกรและส่งขายให้ร้านค้าปลีก ท่านค่อยๆ เก็บหอมรอมริบ เมื่อได้เงินก้อนหนึ่งในปีพ.ศ. 2464 คุณพ่อจึงเปิด “ร้านจียไต๋จึง” ขึ้นบนถนนเยาวราช
“เจิ้งต้า” มาจากสุภาษิตจีน “เจิ้งต้ากวงหมิง” แปลว่า ซื่อสัตย์ ยุติธรรม เที่ยงตรง คุณพ่อของผมเคยเปิดร้านชื่อ “กวงต้า” ตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่ที่ซัวเถา หลังจากอพยพมาที่ไทยแล้ว จึงเปิดร้าน “เจิ้งต้า” คำว่า “เจิ้งต้า” ในภาษาแต้จิ๋ว อ่านว่า “เจียไต๋” ซึ่งนี่ก็คือที่มาของชื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทเจียไต๋ก็ยังดำเนินธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์อยู่ที่เยาวราชมาจนถึงปัจจุบัน
-----------------------------
แปลและเรียบเรียงโดย :- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ - มร.หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัดที่มา : หนังสือพิมพ์“นิกเคอิ”