‘เซบาสเตียน บาแซง’นำทัพ‘แอคคอร์’ยึดทุกตลาด

‘เซบาสเตียน บาแซง’นำทัพ‘แอคคอร์’ยึดทุกตลาด

ขึ้นแท่นเป็นเชนโรงแรมชั้นนำของโลกไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่สิ่งที่ท้ายกว่าคือการ “ไม่หยุดนิ่ง” ในการเป็น “ผู้ริเริ่ม” บุกเบิกนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบโจทย์โลกการเดินทางที่ปัจจุบันทะยานไปกว่า 1,400 ล้านคน

เซบาสเตียน บาแซง ประธานกรรมการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารแอคคอร์โฮเทล กล่าวถึงการปรับมุมคิดเพื่อผลักดันการเติบโตของแอคคอร์โฮเทลในรอบ 3 ปีที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของเครือใหญ่จากฝรั่งเศสว่า เปรียบเสมือนการปลุกมังกรที่หลับใหลอยู่กว่า 50 ปีให้ผงาดขึ้นมา

            โดยมี 2 กลยุทธ์คู่ขนาน คือ เสริมแกร่งตลาดบนที่สุดด้วยการเพิ่มพอร์ตโรงแรมหรูผ่านการควบรวมกิจการกับ แฟร์มอนต์ ราฟเฟิลส์ โฮเทลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (FRHI) ที่เป็นกลุ่มโรงแรมระดับลักชัวรีแถวหน้าของโลก ตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมวางแผนกวาดฐานลูกค้าตลาดล่างด้วยการสร้างสรรค์แบรนด์ใหม่ล่าสุด “โจแอนด์โจ” ที่จะเข้ามาเขย่าตลาดโฮสเทลและธุรกิจให้เช่าบ้านพักอย่าง “แอร์บีเอ็นบี” โดยตรง

ถือเป็นการปิดผนึกที่สมบูรณ์แบบครบทุกเซ็กเมนต์!! หลังจากเคยสร้างนวัตกรรมเป็นผู้นำในการครองตลาดระดับกลางด้วยแบรนด์ “ไอบิส” จนเป็นปรากฎการณ์เติบโตรวดเร็วที่สุดมาแล้ว

บาแซง กล่าวถึงกลยุทธ์แรกว่า การควบรวมกิจการของ FRHI เข้ามาจะส่งให้แอคคอร์ทะยานขึ้นเป็นเชนที่มีโรงแรมหรูในพอร์ตมากเป็นอันดับ 2 ของโลกทันที ผลักดันสัดส่วนของรายได้จากโรงแรมหรูในเครือที่มีอยู่ราว 15% เพิ่มเป็น 35% เนื่องจาก FRHI มีจำนวนโรงแรมทั่วโลกอยู่แล้ว 154 แห่งในกว่า 40 ประเทศ รวม 40 แห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนา มี 3 แบรนด์หัวหอก ได้แก่ ราฟเฟิลส์, แฟร์มอนต์ และ สวิสโซเทล ที่มีอยู่ 12 แห่ง, 70 แห่ง และ 32 แห่งตามลำดับ ซึ่งโรงแรมที่เปิดแล้วกว่า 114 แห่ง รวม 42,000 ห้อง ปักธงกลางเมืองสำคัญทั่วโลกไว้แล้ว เป็นการกระจายฐานรายได้ไปสู่กลุ่มใหม่ๆ จากเดิมสัดส่วน 50% มาจากการรับบริหารโรงแรมราคาประหยัดที่เป็นจุดแข็งที่สุดของแอคคอร์มายาวนาน

          “โลกหมุนไปเร็วมาก เราต้องเป็นผู้นำในเกม ริเริ่มสร้างสิ่งใหม่ให้กับธุรกิจโรงแรม ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำจึงจะสำเร็จได้ อย่างเช่น 10 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกยังไม่มีโรงแรมอีโคโนมี (ราคาประหยัด) แต่เราก็สร้างไอบิสขึ้นมา และด้วยแบรนด์ทั้งหมดที่เรามีวันนี้เหมือนจะตอบโจทย์ทุกเซ็กเมนต์ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าอาจไม่เพียงพอ ต้องคิดค้นแบรนด์ใหม่ บริการใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ”

เหตุผลดังกล่าวทำให้แอคคอร์เปิดตัวแบรนด์เจาะตลาดระดับล่างล่าสุด โจแอนด์โจ รองรับศักยภาพกลุ่มใหม่ “มิลเลนเนียลส์” หรือคนอายุ 18-35 ปี ที่มีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวต่อปีถึง 3,000 ยูโร ราว 1.16 แสนบาท คาดว่าภายในปี 2563 จะมีคนกลุ่มนี้เดินทางกว่า 300 ล้านคน และ 20% เป็นการเดินทางเที่ยวต่างประเทศ

แนวคิดของโจแอนด์โจ “กระชับ” กว่าทั้งในด้านเม็ดเงินลงทุนสำหรับผู้พัฒนาโรงแรม เพราะใช้งบ “ต่ำกว่า” กลุ่มบัดเจ็ต อย่าง ไอบิส และยืดหยุ่นกว่าในเชิง “พื้นที่” เพราะดัดแปลงจากอาคารเดิมที่มีอยู่ได้ มีพื้นที่ใช้สอยรวมขั้นต่ำ 2,500 ตร.ม. แต่มีแนวคิดการขายเหมือน “โฮสเทล” แหล่งที่พักครองใจคนรุ่นใหม่ด้วยการขายเป็นหน่วย “เตียง” ไม่ได้ขายเป็นห้องเหมือนกับโรงแรมทั่วไป ซึ่งสิ่งที่แตกต่างจากโฮสเทลอื่นๆ คือ การลงทุนในเชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยี “ดิจิทัล” ตอบโจทย์การเข้าสังคม และมีพื้นที่สำหรับสังสรรค์เต็มรูปแบบ โมเดลดังกล่าวนี้แต่ละแห่งรองรับได้ 300 เตียงขึ้นไป

เบื้องต้นวางแผนภายในปี 2563 จะเปิด โจแอนด์โจ ให้ได้ 50 แห่ง ยึดหัวหาดเมืองหลักทั่วโลกรวมถึง กรุงเทพฯ ที่จะเป็นผู้นำเปิดแบรนด์ใหม่ในเครือแอคคอร์เสมอ

แบรนด์โจแอนด์โจ สามารถใช้ “ราคา” เป็นกลไกดึงดูดลูกค้า เพราะราคาต่อเตียงเริ่มต้น 20-25 ยูโร ราว 775-970 บาท แข่งขันได้กับธุรกิจดาวรุ่งอย่าง “แอร์บีเอ็นบี” ที่ใช้แนวคิดฉีกจากโรงแรมและสร้างฐานตลาดประสบความสำเร็จไปก่อนหน้านี้ อีกเหตุผลที่เชื่อว่าจะทำให้โมเดลนี้สำเร็จคือ ความสามารถในการเข้าถึง “ตลาดท้องถิ่น” ด้วยราคาที่จับต้องได้ ทำให้สัดส่วนคนท้องถิ่นอาจสูง 50% กระจายความเสี่ยงเชิงธุรกิจที่ดี

สำหรับการขยายธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก แม้ปัจจุบันสัดส่วนอยู่เพียง 26% เทียบโรงแรมทั่วโลก แต่แอคคอร์มีแผนเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 50% ซึ่งโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 47% อยู่ในภูมิภาคนี้ทั้งหมด เช่นเดียวกับในไทยที่เป็นจุดหมายหลักของการรับบริหาร ปัจจุบันแอคคอร์ครองแชมป์เชนอินเตอร์เนชั่นแนลใหญ่สุดด้วยจำนวน 68 โรงแรม 15,877 ห้อง และรกำลังก่อสร้างอีก 17 แห่ง รวม 4,099 ห้อง