เหรียญในรัชกาลที่9

เหรียญในรัชกาลที่9

ข้อแตกต่าง“เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน-เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก” คือ การวางลวดลายด้านหน้า-ด้านหลัง เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนวางลวดลายแบบ American Turning

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์มากมาย หลายชนิดหลายรุ่น เริ่มจากเหรียญทองแดง และเหรียญดีบุกตราพระบรมรูปตราแผ่นดิน ใน พ.ศ.2493 ผลิตเหรียญราคา 5 บาท ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2515 มีลักษณะเป็นเหรียญแบนเก้าเหลี่ยม แต่เนื่องด้วยมีการปลอมแปลงกันมากจึงได้ยกเลิก ดังนั้นในปี 2520 จึงได้ผลิตขึ้นอีกครั้ง แต่เป็นเหรียญ 5 ชนิดกลม สอดไส้ทองแดง 

นอกจากนี้ ยังได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก รวมทั้งมีการพัฒนาจัดทำเหรียญที่ระลึก ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน มีลักษณะโดยสังเขป คือ

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน (Circulated Coins) เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน มี 9 ชนิดราคา ประกอบด้วย เหรียญ 10 บาท เหรียญ 5 บาท เหรียญ 2 บาท เหรียญ 1 บาท เหรียญ 50 สตางค์ เหรียญ 25 สตางค์ เหรียญ 10 สตางค์ เหรียญ 5 สตางค์ และเหรียญ 1 สตางค์ 

"แต่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมี 6 ชนิดราคา ประกอบด้วย เหรียญ 10 บาท เหรียญ 5 บาท เหรียญ 2 บาท เหรียญ 1 บาท เหรียญ 50 สตางค์ และเหรียญ 25 สตางค์ ส่วนเหรียญชนิดราคา 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ มีใช้ในทางบัญชีเท่านั้น"

สำหรับ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก (Commemorative coins) เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ผลิตออกใช้ในวโรกาส และโอกาสที่สำคัญต่าง ๆ เช่น เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 เป็นต้น โดยจัดทำ 2 ประเภท คือ ขัดเงา และไม่ขัดเงา

อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างระหว่างเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ก็คือ การวางลวดลายด้านหน้าและด้านหลัง โดยเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนจะวางลวดลายแบบ American Turning ซึ่งต้องพลิกดูลวดลายด้านหลังในแนวดิ่ง 

สำหรับเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกได้จัดวางลวดลายแบบ European Turning ซึ่งจะต้องพลิกในแนวนอนเพื่อดูลวดลายด้านหลัง

ส่วนเหรียญที่ระลึก (Medal) เป็นเหรียญที่ผลิตขึ้นเนื่องในวโรกาสและโอกาสที่สำคัญต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตรงที่จะ ไม่มีราคาหน้าเหรียญ เนื่องจากมิใช่เงินตราจึงไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย