สูตรเคลื่อนทัพ “เมโกะคลินิก” ฉบับ “ฉายาวิจิตรศิลป์”

สูตรเคลื่อนทัพ “เมโกะคลินิก” ฉบับ “ฉายาวิจิตรศิลป์”

เมื่อคนรุ่นหนึ่งสร้างธุรกิจไว้อย่างแข็งแกร่ง หน้าที่ของทายาทคือต้องขับเคลื่อนให้เติบใหญ่ต่อไปได้ ติดตามสูตรธุรกิจครอบครัว “ฉายาวิจิตรศิลป์"

โลดแล่นอยู่ในสนามความงามมานานถึง 34 ปี สำหรับ “เมโกะคลินิก” สถาบันความงามครบวงจร ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1982 (พ.ศ.2525) โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงาม ผู้บุกเบิกวงการศัลยกรรมความงามในยุคต้นๆ ของเมืองไทย “นายแพทย์มนัส ฉายาวิจิตรศิลป์”

จากสาขาแรกย่านสะพานควาย (สาขาจตุจักร) ขยายจนในวันนี้มีถึง 7 สาขา และคาดว่าจะไปได้ครบ 8 สาขา ณ สิ้นปี พร้อมแผนที่จะสยายปีกไปต่างประเทศอีกด้วย

บนเวทีสัมมนา “สีสันแห่งธุรกิจครอบครัว” (Colors of Family Business) จัดโดยศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด งาน COSMEX Conference 2016 ที่ผ่านมา “เมโกะคลินิก” คือหนึ่งกรณีศึกษาการบริหารธุรกิจครอบครัว ที่วันนี้มีคนรุ่น 2 เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญอยู่เบื้องหลัง

ด้วยความสามัคคีของทายาททั้ง 4 รวมเขยและสะใภ้อีก 2 ชีวิต ช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ให้ธุรกิจของครอบครัว

“เมื่อธุรกิจของคุณพ่อเริ่มใหญ่ขึ้น และมีหลายแอเรียให้ต้องช่วยกันดูแล เนื่องจากเรามีหลายสาขา ขณะที่ในธุรกิจการแพทย์การแข่งขันก็สูงมากด้วย คุณพ่อเลยขอให้ทุกคนเข้ามาช่วย”

คำบอกเล่าจาก “พามงคล ฉายาวิจิตรศิลป์” กรรมการผู้จัดการ เมโกะคลินิก ทายาทหมายเลข 2 ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจครอบครัว เขาจบไฟแนนซ์ จากมหาวิทยาลัย โอเรกอนสเตท (Oregon State University) สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นธุรกิจแรกในวัยเพียง 22 ปี กับ “โรงแรมเชดอนสาทร” ซึ่งเจ้าตัวย้ำว่า เป็น “ธุรกิจส่วนตัว” ที่ ทำเอง กู้แบงก์เอง และเป็นหนี้เอง ไม่ได้ใช้เงินพ่อแม่

ความโชคดีของตระกูล ฉายาวิจิตรศิลป์ คือการได้ “คนที่ถูกต้อง” มาเติมเต็มแต่ละส่วนงานของธุรกิจครอบครัว โดย พามงคล มาดูแลด้าน การพัฒนาสาขา และเรื่องกฎหมาย พี่สาวคนโต “พญ.แพรมาลา” ซึ่งจบแพทยศาสตรบัณฑิต ที่ University of California San Diego สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นทั้งแพทย์ประจำโรงพยาบาล และอาจารย์แพทย์ มาดูแลด้านคอนเนคชั่นกับหมอภายนอก คอยหาทีมแพทย์คุณภาพส่งให้กับเมโกะ ตลอดจนดูแลเรื่องความรู้ และการวิจัย

ทายาทสาวหมายเลข 3 “มนต์นภา” จบปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยแคลร์มองต์ แม็คเคนนา คอลเลจ (Claremont Mc-Kenna College) สหรัฐอเมริกา เคยทำงานเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีอยู่ที่อเมริกา 2 ปี และทำงานด้านบัญชีที่บริษัทข้ามชาติในไทยอีก 2 ปี ก่อนนำประสบการณ์และความรู้มาสานต่อธุรกิจครอบครัว ปิดท้ายกับ “มาลาตรี” ลูกสาวคนสุดท้อง ที่จบจาก วอร์ตัน บิสซิเนส สคูล สหรัฐอเมริกา ในคณะเศรษฐศาสตร์ สาขา การบริหารการเงิน และยังเลือกเรียนการบริหารจัดการด้านสุขภาพเพิ่มอีกด้วย ซึ่งวันนี้มาดูแลแบรนด์ที่เน้นเจาะตลาดล่าง ขยายโอกาสธุรกิจให้กว้างขึ้น

ส่วนสะใภ้ที่เป็นหมอ มาดูแลด้านการรักษา และบริหารบุคลากรทางการแพทย์ในองค์กร ขณะเขยมาต่อจิกซอว์ด้านตลาดต่างประเทศ รับแผนสยายปีกโตนอกบ้าน โดยเตรียมเปิดสาขาที่ ลาว พม่า กัมพูชา ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้

“มีคนเคยให้ความรู้กับครอบครัวเราว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในบริษัท คือคนภายในของเราเอง ฉะนั้นก่อนที่เราจะไปแข่งขันกับใคร ต้องดูคนในองค์กรให้ทำงานร่วมกันได้ดีก่อน เพราะถ้าข้างในยังทะเลาะกันอยู่ ขาขวา กับขาซ้าย ยังทำงานร่วมกันไม่ได้ อย่าเพิ่งไปคิดเลยว่า จะทำเวลาได้ดีแค่ไหน แต่เราแพ้ตั้งแต่ก่อนวิ่งแล้ว”

คำของทายาทหนุ่มย้ำถึง “หัวใจ” ของธุรกิจครอบครัว ที่ความใกล้ชิด สามัคคี และเข้าอกเข้าใจกันของสมาชิก เป็นตัวขจัดความขัดแย้งที่อาจก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ

ขณะผู้นำหมายเลขหนึ่ง อย่างผู้เป็นพ่อ ก็ต้องแข็งแกร่ง และชัดเจน ในการจัดวางตำแหน่งต่างๆ ให้กับเจนใหม่ขององค์กร โดยมอบหมายให้แต่ละคนได้มีหน้าที่ของตัวเอง และให้อิสระในความรับผิดชอบที่แบกรับอย่างเต็มที่

“ผมว่า การบริหารธุรกิจครอบครัวให้ไม่มีปัญหานั้น อยู่ที่การวางโพสิชั่นของแต่ละคนให้ชัดเจน และต้องมีมายด์เซ็ทที่เห็นตรงกันว่า ถ้าเรายังทะเลาะกันอยู่ ก็เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเอง ทำแบบนั้นเรือยังไม่ทันจะพายก็จมแล้ว ซึ่งการจะสร้างความคิดตรงนี้ได้ เบอร์หนึ่งของบริษัท คือคุณพ่อ ต้องมีความเป็นผู้นำที่สูงมาก” เขาว่า

วันนี้โมเดลขับเคลื่อน Family Business ฉบับฉายาวิจิตรศิลป์ ยังลงตัวเพราะเป็นครอบครัวขนาดเล็ก สมาชิกที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็ยังเป็นคนแค่สองรุ่น แต่พวกเขายอมรับว่า นี่ไม่ใช่โมเดลที่จะอยู่ได้ตลอดไป ซึ่งอนาคตคงต้องปรับให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของครอบครัว ความต้องการคนเข้ามาทำงานในธุรกิจ และรองรับกิจการที่จะเติบใหญ่ขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับธุรกิจครอบครัว ณ วันนั้น

ส่วนแผนในอนาคต เขาว่า ทุกคนจะแยกออกไปทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ภายใต้ร่มของธุรกิจครอบครัว

“อย่างน้องผมเปิดแบรนด์ใหม่ ถ้าแบรนด์แข็งแรงแล้ว ก็จะแยกออกไป น้องคนกลางไปเปิดตลาดต่างประเทศ ก็จะดูแลต่างประเทศทั้งหมด เราจะไม่ไปแข่งกันเอง สิ่งที่คุณพ่อวางแผนไว้ คืออยากให้ทุกคนมีทางของตัวเอง ไปทำในสิ่งที่แต่ละคนถนัด ซึ่งมองว่า จะช่วยลดความขัดแย้งในอนาคตได้” คนหนุ่มบอก

ด้าน “ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล”      ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนความคิดว่า ปัจจุบันปัญหาที่พบมากสุดในธุรกิจครอบครัวไทย คือ การจัดสรรเรื่องผลประโยชน์ ทั้งในเชิงอำนาจการบริหารในบริษัท และทรัพย์สิน นั่นคือเหตุผลที่ ผู้นำ หรือคนเจเนอเรชั่นหนึ่ง ต้องเตรียมพร้อมวางระบบเอาไว้ตั้งแต่ต้น เช่น การจัดวางเรื่องวิธีการทำงานของคนเจนต่อไปให้เรียบร้อย จัดสรรทั้งเรื่องการทำงาน และความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน ให้ชัดเจน เมื่อวันที่ผู้นำไม่อยู่ ปัญหาต่างๆ จะไม่ต้องปะทุขึ้นในยุคของทายาท

“หลายๆ ครอบครัว ไม่อยากจะพูดเรื่องนี้ เพราะด้วยค่านิยมของบ้านเรา การจะพูดเรื่องเงินทอง อำนาจการบริหาร หรือเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ จะไม่อยู่แล้ว มันทำไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่คุยกันเลย เกิดคนที่เป็นหลักไม่อยู่ แล้วแต่ละคนก็มีความเข้าใจไม่ตรงกันอีก ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ และความขัดแย้งของเครือญาติมักจะรุนแรงกว่า เพราะคนสายเลือดเดียวกัน ถ้าทะเลาะกัน เราเดินออกมาจากความเป็นญาติไม่ได้”

หน้าที่ของคนที่เป็นผู้นำ เลยต้องวางแผนทุกอย่างให้เรียบร้อย ค่อยๆ วางระบบ ให้เหมาะกับสถานการณ์ของครอบครัว และธุรกิจ ณ ตอนนั้น เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น ในวันที่คำว่า “ญาติ” เริ่มห่างเหินไปเรื่อยๆ

เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวยังคงอยู่ได้ สมาชิกยังรักกัน เหมือนความตั้งใจที่คนรุ่นหนึ่งได้หวังไว้  

“”””””””””””””””””””””””””””””””””””””

 Key to success

สูตรลดความขัดแย้งธุรกิจครอบครัว

๐ เสาหลักต้องแข็งแกร่ง มีความเป็นผู้นำ

๐ จัดสรรอำนาจและทรัพย์สิน ให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น

๐ สมาชิกต้อง รัก สามัคคี มีมายด์เซ็ทที่ตรงกัน

๐ ปรับโมเดลให้เหมาะกับ ครอบครัว และธุรกิจ

๐ ใช้ระบบมาครอบ ลดความขัดแย้งของครอบครัว