ปตท.รื้อโครงสร้างเพิ่มมูลค่าหุ้น
ปตท.เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจ แยกค้าปลีก หวังดันมูลค่าหุ้นเพิ่มยกเครือ
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) PTT เป็นหนึ่งในหุ้นที่เติบโตมาต่อเนื่องจากราคาหุ้นละ30 บาท จนวิ่งขึ้นไปแตะ 400 บาท ด้วยกำไรสุทธิ 9.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2550 หลังจากนั้น ราคาหุ้นไม่สามารถขึ้นไปแตะจุดเดิมได้อีกเลย ขณะที่กำไรของบริษัทค่อนข้างแกว่งไปมา โดยขึ้นไปแตะ 1.05 แสนล้านบาท และ 1.04 แสนล้านบาท เมื่อปี 2554 และ 2555 ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 2 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2558 ตามการลดลงของราคาน้ำมัน
จะเห็นว่าที่ผ่านมาราคาหุ้นของปตท.อิงกับราคาน้ำมันค่อนข้างมาก แต่ด้วยภาวะน้ำมันถูกลงกว่าครึ่ง และอนาคตที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ปตท.มีการปรับโครงสร้างมาต่อเนื่อง รวมถึงการมองหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาต่อยอดธุรกิจเดิม หวังจะสร้างการเติบโตอีกครั้ง
ล่าสุด คือ การแยกเอาธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก (PTTOR) มารวมกลุ่ม เพื่อหวังปลดล็อกมูลค่าผ่านการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ชัยพัชร ธนวัฒนโน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) มองว่า ที่ผ่านมาปตท.มีการปรับโครงสร้างมาต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้พูดออกมา อย่างการรวมเอาทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมีไปรวมไว้ที่ พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)
ขณะที่การแยกเอาธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกมา เพื่อจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปัจจัยบวกที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ มูลค่าธุรกิจที่จะถูกปลดล็อกออกมา ซึ่งแต่เดิมธุรกิจนี้อยู่ภายใต้ปตท. และนักลงทุนให้มูลค่าคิดเป็นค่าพีอีประมาณ 10 เท่า แต่หากพิจารณามูลค่าของธุรกิจค้าปลีกเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว จะเห็นว่าค่าเฉลี่ยของธุรกิจปั๊มน้ำมันหรือค้าปลีกนี้ ค่าพีอีจะสูงขึ้นไปถึง 20 เท่า
“ในอดีตรายได้จากธุรกิจนี้แทบจะมองไม่เห็นหากดูจากภาพรวมของทั้งบริษัท แต่เมื่อน้ำมันลดลงมากว่าครึ่ง สัดส่วนรายได้จากธุรกิจนี้จึงเห็นได้ชัดมากขึ้น”
นอกเหนือจากมูลค่าธุรกิจที่จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากนี้ อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ‘การปรับโครงสร้างเพื่อความยืดหยุ่นในการขยายธุรกิจต่างประเทศ’
ที่ผ่านมา ฐานรายได้หลักของ ปตท. จะอยู่ในประเทศเท่านั้น แต่ด้วยศักยภาพของค้าปลีกนี้ ทำให้เราเริ่มเห็นปตท.ขยับขยายไปยังต่างประเทศมากขึ้น
“ธุรกิจค้าปลีกที่อยู่ภายใต้ PTTOR นี้ หลายส่วนเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะเติบโตไปยังต่างประเทศไทย อย่าง คาเฟ่อเมซอนที่เริ่มต้นจากการเปิดตลาดในเอเชีย และหลังจากนั้นก็มีโอกาสที่จะขยายไปยังตลาดอื่นๆ ได้ ส่วนโครงสร้างในธุรกิจเดิมนั้น เชื่อว่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่อาจจะเห็นความร่วมมือที่มากขึ้นจากการใช้วัตถุดิบบางอย่างร่วมกัน และอาจจะออกมาในรูปแบบของหน่วยธุรกิจใหม่ๆ”
ด้าน บล.ทิสโก้ มองว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจจะส่งผลในเชิงบวก ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ของปตท. และเชื่อว่ากระแสเงินสดขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น 32 บาทต่อหุ้นสอดคล้องกับแผนของปตท.ที่จะเน้นธุรกิจต้นน้ำ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าต้องใช้เวลาในการดำเนินการถึง 9-12 เดือน