แพลตฟอร์มบ้านสร้างเงิน favstay

มีคำกล่าวที่ว่า “วิกฤติ” มักจะมาพร้อม “โอกาส” เสมอ
ไอเดียตั้งต้นของ favstay ก็เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศของวิกฤติที่เกิดขึ้นโดยมีต้นทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกที่ส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ วิกฤติซัพไพรม์
“ตอนนั้นยังทำงานเป็นเฮดฟันด์อยู่ต่างประเทศ มีหน้าที่มองหาโอกาสการลงทุนจากทั่วโลก ช่วยเจ้าของกองทุนวิเคราะห์หาโอกาสใหม่ๆ ว่าควรลงทุนที่ไหน และอะไรบ้าง” สุชาดา เตโชติรส Chief Executive Offcer favstay กล่าว
การที่ต้องมองหา และคิดต้องคิดถึงโอกาสใหม่เรื่อยๆ ทำให้มองว่าสินทรัพย์ที่ด้อยค่าลงจากวิกฤติที่เกิดขึ้นสามารถนำมาเป็นอีกหนึ่ง “ทางเลือก” ของการสร้างรายได้จากการลงทุน
“ช่วงนั้นเฮดฟันด์ปิดตัวกันจากซัพไพรม์ที่เกิดขึ้น ก็มองว่าน่าจะเป็นโอกาส เช่น คอนโด นำมาสร้างรายได้จากการนำมาแชร์ให้กับคนที่อยากเข้าพัก มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรม นั่งคุยกัน ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านก็น่าจะดี”
จากแนวคิดแปรเป็น “ธุรกิจ” สุชาดา ตัดสินใจก้าวออกจาก Comfort Zone กับองค์กรด้านการเงินที่ทำอยู่มาเริ่มต้นธุรกิจที่นำเอาคอนเซ็ปต์ Sharing Economy หรือ เศรษฐกิจแบบแบ่งปันมาใช้
“แรกเริ่มเราใช้ชื่อว่า Pompome ซึ่งเสียงจากคนรอบข้าง ทั้งเพื่อน และครอบครัว ไม่เข้าใจว่าเราทำอะไร ไม่เข้าใจว่าเราทำโมเดลอะไรอยู่ ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเอาบ้านไปปล่อยเช่า แต่จริงๆ แล้วเราเป็นแพลตฟอร์มให้คนที่เป็นเจ้าของบ้านกับคนที่ต้องการมีความสุขในการได้เข้าไปพักได้มาเจอกัน
บางครั้งแม้จะอธิบายว่าเราเป็นมาร์เก็ตเพลส แต่ส่วนใหญ่ก็ยังจินตนาการไม่ออกว่าทำอะไร ซึ่งก็เป็นความยากที่คนจะเข้าใจว่าทำไมจากที่ทำงานบริษัทที่ได้เงินเดือนค่อนข้างดีแล้วมาทำอะไรตรงนี้”
ด้วยคอนเซ็ปต์ธุรกิจที่ยังใหม่อยู่ในไทยเมื่อนึกย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ความยากจึงอยู่ที่การทำความเข้าใจกับทั้งตลาด(ผู้เข้าพัก)และเจ้าของบ้าน
“ความยากอยู่ที่การเปลี่ยนความคิดของคน ฉะนั้นเราก็ต้องมีวิธีพูดคุย การให้มุมมองเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุนในลักษณะกึ่งๆ คอนเซ้าท์ ว่าการลงทุนในพร็อพเพอร์ตี้ถ้าทิ้งเอาไว้ก็ไม่สร้างผลตอบแทนอะไร การหวังกำไรจากการขายเพียงอย่างเดียวอาจต้องรออีกหลายปี ทางที่เหมาะสมอาจปรับให้เป็นทั้ง Long term ,short term ผสมกันก็น่าจะทำได้ ซึ่งเมื่อให้คำแนะนำไปก็ทำให้เจ้าของบ้านเกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น”
สุชาดา บอกการทำงานที่หนักในช่วงแรกๆ จึงเป็นการทดสอบว่าคนตอบรับมั้ย กับโปรดักท์ และบริการ
“ตอนแรกก็ทำคนเดียวเองทั้งหมด คุยกับเจ้าของบ้าน ทำการตลาดออฟไลน์ เปิดบูธในงานท่องเที่ยว เราก็รู้จักกับเจ้าของบ้านไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีคนเห็นด้วยกับคอนเซ็ปต์มากขึ้น จากนั้นเราก็ขยายรายการสินทรัพย์ไปเรื่อยๆ ตอนนี้มีอยู่ประมาณหมื่นรายการ และอีกส่วนที่กำลังรอขึ้น List”
ธุรกิจเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นแต่ยังไม่สามารถสร้างรายได้มากนัก กระทั่งสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยช่วงปี 2554 ก็เป็นอีก “วิกฤติ” ที่นำ “โอกาส” มาให้
“ช่วงเกิดน้ำท่วมในไทย คนต้องการที่อยู่อาศัยอื่นๆที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ กันมาก ธุรกิจก็ค่อยข้างดีมาโดยตลอด รวมถึงคนก็เริ่มเข้าใจธุรกิจนี้มากขึ้น
นอกจากนั้น การเข้ามาของ Airbnb ที่ทำตลาดในหลายประเทศก็ทำให้คนเข้าใจธุรกิจนี้ ไม่เฉพาะกลุ่มคนที่มี ประสบการณ์การเดินทางและใช้ชีวิตในต่างประเทศเท่านั้น”
ธุรกิจเติบโตมาเรื่อยๆ จนมาถึงวันที่ Pompome ทำการรีแบรนด์ครั้งสำคัญเมื่อปีที่แล้วในชื่อใหม่ favstay
“favstay ก็มาจากคำว่า Favorite +Stay ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างแบรนด์ที่แข็งแรงมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเราจะร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ทางด้านการตลาดกับทางเอไอเอส โดยที่คอนเซ็ปตั้งแต่แรกเริ่มกับภายหลังการรีแบรนด์แล้วก็ไม่ได้ต่างกันคือการทำ Sharing Economy
ทั้งนี้ ภายหลังการรีแบรนด์ และได้ร่วมกับทางคุณหมู อุ๊คบี ที่เป็น co founder แล้วก็ได้มีการปรับเรื่องเทคโนโลยีให้ดีขึ้นเยอะเลย"
ใน 2015 ช่วง 5-6 เดือนแรก สุชาดา บอก favstay ยังโฟกัสตลาดคนไทยเที่ยวไทยเป็นหลัก แต่เมื่อโอกาสมาถึงด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้น ทำให้เริ่มขยับมาทำตลาดส่วนนี้
"สิ่งสำคัญด้วยข้อดีของการทำสตาร์ทอัพ คือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จากเดิมที่วางแผนจะทำตลาดในต่างประเทศในปี 2017 ก็ปรับแผนมาเร็วขึ้น ซึ่งเริ่มเข้าไปทำตลาดที่ฮานอย เวียดนาม และมีแผนที่จะไปโฮจิมินท์ รวมถึงกำลังมองถึงโอกาสในประเทศอื่นๆ ด้วย
พร้อมๆ กับการระดมทุนในระดับ Serie A ในช่วงไตรมาสแรกปี 2017 เพื่อนำมาใช้ในการขยายตลาด การพัฒนาเทคโนโลยี และจัดหาบุคลากร" สุขาดา กล่าว
เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน
FavStay เกิดจากการรวมตัวกันระหว่าง Pompome และ Ookbee Founders เพื่อเพิ่มศักยภาพและขยายการให้บริการที่พักตากอากาศในหัวเมืองท่องเที่ยวของประเทศไทยและเมืองท่องเที่ยวในต่างประเทศ
โดยแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นที่ให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.favstay.com, Line, Call Center นอกจากจะเชื่อมโยงระหว่าง “เจ้าของบ้าน” กับ “คนจองห้องพัก”แล้ว ซีอีโอ favstay บอกสิ่งที่่สร้างความแตกต่างคือการเน้นการให้บริการที่ส่งเสริมประสบการณ์การพักผ่อนให้ตรงกับไลฟ์สไตล์คนไทยมากขึ้น โดยสอดแทรกงานบริการที่เป็น Hospitality ของคนไทยที่เก่งด้านบริการและการต้อนรับเข้าไป อาทิ บริการการรับส่งกุญแจ การดูแลเรื่องการเข้าพัก การทำความสะอาดและตรวจเช็คซ่อมแซมห้องกับทีมงานแม่บ้านและช่าง เป็นต้น
ประเภทของรายการที่พักไว้ให้บริการมีความหลากหลายของระดับราคา แต่ลักชัวรี่ เช่น ไพรเวท วิลล่า ที่ภูเก็ต สมุย ราคาเข้าพักตั้งแต่ 20.000-1,000,000 บาทต่อคืน ไปจนถึงราคาที่ไม่สูงมาก เริ่มตั้งแต่ 3,500-6,000 บาท
ปัจจุบันมียอดจองห้องพักเฉลี่ยวันละ 50-60 รายการมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ