'อภิชัย เตชะอุบล' รุกธุรกิจอาหาร
"อภิชัย เตชะอุบล" รุกธุรกิจอาหาร รีแบรนด์ "ฮอทพอท" สู่ตลาดพรีเมียม
ในช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา อภิชัย เตชะอุบล แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เรื่องการเข้าลงทุนในบริษัท ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) HOTPOT โดยเป็นทั้งการลงทุนส่วนตัว ในชื่อของ อภิชัย เตชะอุบล คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 22.26% และลงทุนในชื่อ บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด(มหาชน) TFD ในสัดส่วน 2.24% รวมเป็นการลงทุนทั้งหมด 24.50% โดยอภิชัย ระบุว่า การเข้าไปร่วมถือหุ้นในครั้งนี้เป็นการเข้าไปรวมมือกับกลุ่มผู้บริหารเดิมในการผลักดันธุรกิจให้เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มความเป็นพรีเมียมมากขึ้น
ที่มาที่ไปในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจอาหาร อภิชัย เปิดเผยว่า ธุรกิจนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับตัวเขาและกลุ่มครอบครัว เนื่องจากกลุ่มครอบครัวมีความสนใจในธุรกิจอาหารมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน อีกทั้งยังมีบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอาหารโดยเฉพาะ คือ บริษัท เจซี เควินฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด ปัจจุบันกลุ่มครอบครัวได้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารจีน “เจิ้งโต่ว“ และซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารจากอังกฤษ ชื่อว่า ”ซินยอร์ ซาสซี่ (Signor Sassi)” ซึ่งเป็นร้านอาหารสไตล์อิตาเลียน และล่าสุดอยู่ระหว่างการเตรียมเปิดให้บริการร้านอาหาร “เบอร์เกอร์แอนด์ล็อบสเตอร์ (Burger&Lobster)” ซึ่งเป็นอีกแบรนด์ ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า แบรนด์ร้านอาหารในมือของอภิชัยนั้น ส่วนมากเป็นร้านอาหารพรีเมียม ซึ่งเมื่อเทียบกับจุดยืนทางการตลาดของแบรนด์ฮอท พอท ที่ค่อนข้างแมส ทำให้เกิดข้อคำถามว่า เขาจะใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอย่างไร
เขากล่าวว่า ความน่าสนใจของธุรกิจอาหารในประเทศไทยรวมถึงเอเชียคือความต้องการบริโภคจำนวนมาก และยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก เนื่องจากจำนวนประชากรที่มากขึ้น ฐานะการเงินและความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยเพื่อปัจจัย 4 ที่เติบโตขึ้นตามการขยายตัวทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจอาหารยังขยายตัวได้อีกมาก อีกทั้งยังมีปัจจัยเร่งการเติบโต ซึ่งก็คือความต้องการพื้นฐานทางสุขอานามัยของประชากร
“ตอนนี้ธุรกิจในมือมีทั้งอสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ได้เห็นวงจรธุรกิจ ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจก็ยังสามารถเติบโตได้อยู่ แต่มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ส่วนธุรกิจอาหารแม้ว่าจะมีมาร์จินต่ำ แต่ได้อานิสงส์ในส่วนของวอลุ่ม และยังมองว่าจากนี้ไปธุรกิจอาหารในประเทศไทยจะมีการเติบโตต่อเนื่อง”
โดยแผนธุรกิจสำหรับฮอทพอท จากนี้จะมีการรีแบรนด์สาขาเดิมที่มีอยู่ประมารณ 100 สาขา ซึ่งจะมีทั้งปรับให้เป็นร้านอาหารระดับพรีเมียม แต่บางสาขาอาจจะต้องตัวลง หากพิจารณาดูแล้วเห็นไม่ใช่สาขาสามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ จะมีการรีแบรนด์ในส่วนของไดโดมอน ที่มีอยู่ 10 สาขา และซิกเนเจอร์ สเต๊ก ลอฟท์ ที่มีอยู่ราว 10 สาขา เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ จะมีแผนในการเปิดสาขาต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเริ่มที่ประเทศอังกฤษ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำร้านอาหารที่เป็นการซื้อแบรนด์จากอังกฤษมาหลายแบรนด์
ทั้งนี้ ในการรีแบรนด์ ฮอท พอท นั้น โชติวิทย์ เตชะอุบล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท ฮอท พอท (HOTPOT) ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา และยังเป็นบุตรชายคนโตของอภิชัยจะเป็นหัวแรงหลัก โดยโชติวิทย์ กล่าวว่า อานิสงส์หลักของการเข้าลงทุนในฮอท พอท คือได้จำนวนสาขาที่ค่อนข้างเยอะ และครอบคลุม และงานแรกที่เขาปักธงไว้ ก็คือการรีแบรนด์ ฮอท พอท ให้มีความพรีเมียมมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงราคาได้ และได้รับคุณภาพสินค้าที่น่าพึงพอใจ
ทั้งนี้ มองว่าการที่ฮอท พอท มีหลายแบรนด์ภายใต้การบริหารเป็นความได้เปรียบทางธุรกิจ เพราะแต่ละแบรนด์มีจุดยืนทางการตลาดที่แตกต่างกันไป และแผนธุรกิจจากนี้ไป ก็จะเน้นปรับปรุงให้แต่ละแบรนด์มีความโดดเด่นในเซกเมน์ของตัวเอง อาทิ ไดโดมอน ก็จะจับตลาดบุฟเฟต์ ส่วนซิกเนเจอร์ สเต๊ก ลอฟท์ จะต้องเพิ่มความโดดเด่นให้กับแบรนด์มากขึ้น เบื้องต้นวางจุดยืนให้เป็นร้านอาหารที่ทันกระแส คือเมื่อมีเมนูอะไรที่โดดเด่นขึ้นมา ซิกเนเจอร์ฯ ก็จะเป็นหนึ่งในผู้บริโภคเลือกรับบริการ เป็นต้น
นอกจากนี้ จะมีการปรับเมนู โดยอาศัยประสบการณ์ในธุรกิจอาหารของอภิชัย และโชติวิทย์ ที่ดูแลแบรนด์ “เจิ้งโต่ว“ และ ”ซินยอร์ ซาสซี่ (Signor Sassi)” โดยจะเป็นการนำอาหารพรีเมียมมาผนวกกับเมนูในฮอท พอท และปรับราคาอาหารขึ้นตามคุณภาพอาหารที่เพิ่มขึ้น หรือบางสาขา มีโอกาสที่จะยกระดับขึ้นเป็น ฮอท พอท แกรนด์ เบื้องต้นวางแผนประชาสัมพันธ์ทางการตลาดด้วยการจัดแคมเปญในงบประมาณไว้ 50 ล้านบาท อีกทั้ง มีแผนจะเพิ่มแบรนด์ใหม่ ชื่อว่า Toomato ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งสไตล์ร้านอาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของรายได้ฮอทพอทในปี 2560 นั้น โชติวิทย์ ระบุว่ายังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจอยู่ แต่โดยภาพรวมแล้วมีมุมมองเชิงบวก
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการฮอท พอท งวด 9 เดือนปี 2559 บริษัทขาดทุนสุทธิ 69.81 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 60.74 ล้านบาท บริษัทชี้แจงว่า สาเหตุที่ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น มาจากรายได้รวมที่ลดลง ทั้งรายได้จากการขายและรายได้อื่นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการใช้ส่วนลดราคาที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบและสินค้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2559 บริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางบัญชีเกี่ยวกับการตีราคาที่ดิน โดยใช้เกณฑ์ราคาตลาด ซึ่งเมื่อประเมินราคาโดยผู้ชี่ยวชาญอิสระแล้ว ทำให้มีส่วนเพิ่มของมูลค่าที่ดินจากการตีราคาใหม่ จำนวน 24.04 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี จำนวน 4.81 ล้านบาท บริษทจะมีขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวด ลดลงอีก 19.23 ล้านบาท เหลือ 50.58 ล้านบาท