เฟเดอร์บรอย ชิงแชร์ ไฮเนเก้น สงครามฟองเบียร์พรี่เมี่ยมปะทุ

ตลาดพรีเมี่ยมเบียร์ ระอุ ไทยเบฟ ปั้น "เฟเดอร์บรอย" คืนสังเวียน หวังชิงแชร์ตลาดเบียร์พรีเมี่ยม ที่มีไฮเนเก้นเป็นเจ้าตลาดในไทย
หลังทำตลาดมาตั้งแต่ปี 2551 สำหรับเบียร์ “เฟเดอร์บรอย” (Federbräu) เบียร์สัญชาติไทยตระกูลไทยเบฟ ที่จงใจชื่อเป็นภาษาเยอรมัน ตอกย้ำความเป็นเบียร์ปรุงสไตล์เยอรมันแท้ เพื่อหวังวางตำแหน่งการตลาด เป็นเบียร์พรีเมี่ยม “ท้าชน” เจ้าตลาดเบียร์พรีเมี่ยมในไทยอย่าง “ไฮเนเก้น” เบียร์อันดับ 3 ของโลก
ทว่า ทำตลาดอยู่ได้ไม่กี่ปี เบียร์ขนนกสีแดง ชื่อสะท้อนรสชาติบางเบา แอลกอฮอล์ต่ำรายนี้ ก็ไต่ไม่ถึงดวงดาว(แดง) อาจเป็นเพราะสถานการณ์ตลาดในขณะนั้นไม่เป็นใจ อีกทั้งยังไม่อาจจัดจำหน่ายช่องทางเดียวกับเบียร์อีโคโนมี อย่าง “เบียร์ช้าง” แม้จะเป็นเบียร์ในพอร์ตของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เช่นกัน
นั่นเพราะอาจเกรงจะเสียภาพลักษณ์แบรนด์ จึงทำได้เพียงการจัดกิจกรรมการตลาดผ่านผับ บาร์ สถานบันเทิง
แต่การกลับมาของเฟเดอร์บรอยรอบนี้ กับบรรจุภัณฑ์โฉมใหม่ ทั้งขวดใหญ่ ขวดเล็ก กระป๋อง Sleek can และกล่องบรรจุภัณฑ์ ขณะรสชาติที่เน้นความเป็นซิงเกอร์มอลต์ มอลต์จากแหล่งผลิตเพียงแหล่งเดียวจากเยอรมนี แอลกอฮอล์ 5% เริ่มวางจำหน่ายในไทยและอาเซียน ตั้งแต่กลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
สะท้อนถึง“ความมั่นใจ”ที่จะช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดเบียร์จากไฮเนเก้น อีกครั้ง ในภาวะที่ผู้บริโภคตลาดนี้ยังมี“กำลังซื้อ”เมื่อเทียบกับยอดขายเบียร์อีโคโนมี ที่ปรับตัวลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ประเมินจากผลประกอบการไตรมาสแรก (ปีบัญชี ต.ค.-ธ.ค.2559) ของไทยเบฟ ที่แจ้งต่อตลาดสิงคโปร์ พบว่า มีรายได้จากการขายสินค้า 46,829 ล้านบาท ลดลง 8%เนื่องจากกลุ่มธุรกิจสุราและเบียร์ ได้รับผลกระทบจากการบริโภคในประเทศลดลง โดยเฉพาะรายได้จากธุรกิจเบียร์ (ช้าง อาชา) ลดลง 4.6%
ขณะที่ตลาดเบียร์พรีเมี่ยม มีมูลค่าการตลาดราว 4% ราว 7,200 ล้านบาท (ไฮเนเก้น ครองส่วนแบ่งการตลาด 96%) ของมูลค่าตลาดเบียร์ทุกเซ็กเมนต์ที่ 1.8 แสนล้านบาท
ทำไมจึงไม่ควรประมาท เฟเดอร์บรอย?
ก็เพราะเมื่อปี2557 ไทยเบฟ ประสบความสำเร็จอย่างสูง กับการปรับโฉมและรสชาติ“ช้างคลาสสิค” ดันส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นถึง“10%”จาก 30% เป็น 40% ภายใน 1 ปีมาแล้ว
สงครามฟองเบียร์พรีเมี่ยม“ก่อตัว”ขึ้นแล้ว !