'หญิงไทย' ติด TOP10 โอกาสก้าวหน้าการทำงาน

'หญิงไทย' ติด TOP10 โอกาสก้าวหน้าการทำงาน

หญิงไทยติด "ท็อปเทน" โอกาสก้าวหน้าการทำงาน

มาสเตอร์การ์ดเผยผลสำรวจจากดัชนีผู้ประกอบการสตรีของมาสเตอร์การ์ด (Mastercard Index of Women Entrepreneurs) โดยผลสำรวจจากดัชนีชี้ให้เห็นว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงมีแนวโน้มที่ดีสำหรับผู้หญิง ทั้งทางด้านโอกาสทางความก้าวหน้า โอกาสทางความรู้และทางการเงิน

ตลอดจนมีสภาพที่เอื้อต่อการประกอบกิจการมากกว่า ดัชนีนี้เป็นการจัดอันดับ 20 ประเทศที่มีคะแนนทางด้านผู้ประกอบการสตรีสูงที่สุด โดยประเทศ “ไทย” ติด “หนึ่งในสิบ” อันดับต้น และถือเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงเพียงประเทศเดียวที่ติดอันดับในครั้งนี้

ดัชนีนี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ผู้หญิงไทยถูกขับเคลื่อนโดยประสิทธิภาพในการทำงาน เช่นเดียวกับผู้หญิงในประเทศจีนและมาเลเซีย ทั้งนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากความจริงที่ว่า ผู้หญิงไทยไม่เพียงแต่จะต้องทำงานเต็มเวลาเท่านั้น แต่ยังต้องทำหน้าที่แม่และ/หรือภรรยาไปพร้อมกันด้วยโดยไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

ในภาพรวม ประเทศที่พัฒนาแล้วถูกจัดให้อยู่ในลำดับต้นๆ ซึ่งนำโดยประเทศนิวซีแลนด์ (ครองอันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 74.4) ประเทศแคนาดา (ครองอันดับสอง ด้วยคะแนน 72.4) และประเทศสหรัฐอเมริกา (อันดับสาม ด้วยคะแนน 69.9)

โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้มีสภาพที่เกื้อหนุนให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจ อาทิ มีชุมชนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีการปกครองและความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ โดยรวมแล้ว กลุ่มประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงจึงมีแนวโน้มที่ดีกว่าสำหรับผู้หญิงทางด้านความก้าวหน้า โอกาสทางความรู้และทางการเงิน

ทุกวันนี้ ผู้หญิงที่มีความคิดและเป้าหมายในชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเรามองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีและเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งทางธุรกิจ แม้ว่าอคติทางวัฒนธรรมจะยังคงมีอยู่ในสังคมก็ตามแต่เราจะทำหน้าที่ในส่วนของเราเพื่อช่วยสร้างปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่จะเสริมความแข็งแกร่งและผลักดันให้เกิดรากฐานเพื่อความเติบโต ทั้งในระดับบุคคล และระดับเศรษฐกิจโดยรวม” มาร์ตินา ฮันด์-เมฌอง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของมาสเตอร์การ์ดระบุ

“การส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงเครือข่ายต่างๆที่จำเป็น จะช่วยให้พวกเธอมีโอกาสที่มากขึ้นในการประสบความสำเร็จได้สูงสุดตามศักยภาพของตน และยังช่วยเร่งให้เกิดการเติบโตที่ครอบคลุมหลากหลายด้านมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านวัฒนธรรมและทางด้านองค์กร รวมถึงการส่งเสริมผู้นำที่เป็นเพศหญิงให้มากขึ้น” แอนน์ คาร์นส์ ประธานส่วนตลาดนานาชาติของมาสเตอร์การ์ด กล่าว

ดัชนีนี้เผยให้เห็นว่าการประกอบธุรกิจของผู้หญิงในแต่ละภูมิภาคนั้นมีอัตราและรูปแบบของพัฒนาการที่แตกต่างกัน

สิงคโปร์ (90.6) นิวซีแลนด์ (89.5) และ แอฟริกาใต้ (86.7) มีคะแนนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสูงที่สุดหากมองในแง่ของโอกาสการเข้าถึงบริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

ประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า อย่าง เวียดนาม (อันดับ 4 ด้วยคะแนน 86.6) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 10 ด้วยคะแนน 82.3) และ อินโดนีเซีย (อันดับ 11 ด้วยคะแนน 82.0) มีคะแนนสูงเกินความคาดหมาย ทั้งนี้ เป็นเพราะตลาดเหล่านี้มีแนวโน้มสูงในเรื่องของการกู้ยืมหรือการออมทรัพย์เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการเข้าถึงบริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

กลุ่มตลาดเศรษฐกิจรายได้สูงมีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบกิจการมากที่สุด ตลาดในกลุ่มนี้รวมถึง สิงคโปร์ (83.3) นิวซีแลนด์ (82.6) และ ฮ่องกง (82.2)

**วิธีการวิจัย

ดัชนีผู้ประกอบการสตรีของมาสเตอร์การ์ดเป็นการสำรวจระดับความสามารถของผู้ประกอบการเพศหญิงในการผันโอกาสจากสภาพเกื้อหนุนต่างๆ ในบริบทท้องถิ่นของตนเองให้เกิดเป็นประโยชน์ได้สูงสุด โดยการชั่งน้ำหนักเพื่อหาผลรวมจากปัจจัยสำคัญสามประการ อันได้แก่

(1) ตัววัดผลความก้าวหน้าของสตรี (ระดับของความโน้มเอียงทางทัศนคติที่มีต่อเพื่อนร่วมงานเพศหญิง ผู้นำทางธุรกิจและการเมือง รวมถึงโอกาสสู่การประกอบการและสภาพทางการเงินที่เข้มแข็งของสตรี) 

(2) ปัจจัยทางความรู้และทางการเงิน (ระดับของโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน ภูมิความรู้ขั้นสูง และความสนับสนุนสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมของสตรี) 

(3) สภาพที่เอื้อต่อการประกอบกิจการ (มุมมองในภาพกว้างเกี่ยวกับความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และระดับธรรมาภิบาลในประเทศ มุมมองของสตรีต่อระดับความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ และมุมมองทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับบทบาทของสตรีที่มีผลต่ออิทธิพลทางการเงินในครอบครัว)