กสทช.เคาะแนวทางกำกับดูแล“โอทีที”ก.ย.นี้
กสทช.แจงกำกับ“โอทีที”มุ่งประโยชน์สาธารณะ-สร้างการแข่งขันเท่าเทียม คาดใช้เวลา 4 เดือน ก่อน ก.ย.นี้เคาะแนวทางดูแล ชี้ตลาดขยายตัวสูงมูลค่าโฆษณากว่า 5 พันล้าน
หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) มีมติให้การประกอบกิจการแพร่ภาพและเสียง Over The Top (OTT) เป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ หรือ “โอทีที ทีวี” เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา
พร้อมมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โอทีที เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการกำกับดูแลให้เกิดประโยชน์สาธารณะและสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกับในกิจการกระจายเสียงและแพร่ภาพอื่นๆ
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมาได้แต่งตั้งอนุกรรมการโอทีที ที่ประกอบด้วย นายต่อพงษ์ เสลานนท์, พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์, นายกิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์, นายกฤษดา โรจนสุวรรณ, นายทวีวัฒน์ เส้งแก้ว ,นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ, นายสมบัติ ลีลาพตะ, นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ, นายพสุ ศรีหิรัญ และนายทนงศักดิ์ สุขะนินทร์ พร้อมประชุมครั้งแรก
ทั้งนี้ กรอบการทำงานจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่มที่อยู่ในธุรกิจโอทีที รวมทั้งนักวิชาการ เพื่อสรุปแนวทางกำกับดูแล“โอทีที” ซึ่งเป็นกิจการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์
“วันนี้เพิ่งเริ่มนับหนึ่งการเข้ามาดูแลกิจการโอทีที จึงต้องเริ่มทำงานตั้งแต่การกำหนดนิยาม รูปแบบผู้ประกอบการที่เข้าข่าย วิธีการและแนวทางการกำกับที่ต้องหารือร่วมกันหลายกลุ่ม คาดว่าจะใช้เวลาราว 4 เดือน หรือไม่เกินเดือน ก.ย.นี้ สรุปกรอบทุกด้านในการกำกับดูแล”
มุ่งสร้างการแข่งขันเท่าเทียม
พ.อ.นที กล่าวว่าปัจจุบันการให้บริการโอทีที ได้รับความนิยมในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นบริการที่เข้าถึงผู้ใช้จำนวนมาก หรือเป็นการสื่อสารที่ส่งผลต่อสาธารณะวงกว้าง ดังนั้นจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเข้ามากำกับดูแล
ทั้งนี้ จากการกำหนดให้โอทีที เป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ดังนั้นภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงาน กสทช. โอทีทีจึงอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องในขณะนี้ คือ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2553 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และพ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 เช่นเดียวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ นอกจากนี้จะอยู่ภายใต้แนวทางการกำกับดูแลอื่นๆ ตามประเภทกิจการ ที่คณะอนุกรรมการฯ โอทีที กำลังจัดทำแผน
“หลักการกำกับดูแลโอทีที จะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคและสาธารณะได้ประโยชน์ตามสิทธิ พร้อมทั้งสร้างสนามการแข่งขันที่เท่าเทียมเช่นเดียวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์อื่นๆ”
โฆษณาโอทีทีพุ่ง5พันล้าน
ปัจจุบันตลาดโอทีที ในประเทศไทย มีผู้ให้ 4 กลุ่ม คือ 1.ผู้ให้บริการอิสระ ได้แก่ ผู้ให้บริการสัญชาติไทย เช่น ฮอลลีวูด เอชดีทีวี, ดูนี่ , ไพร์มไทม์ และผู้ให้บริการต่างชาติ เช่น ยูทูบ ,เฟซบุ๊ค , ไลน์ทีวี และ เน็ตฟลิกซ์ 2.ผู้ให้บริการเพย์ทีวีรูปแบบโอทีที เช่น พีเอสไอ , ทรูวิชั่นส์ anywhere 3.ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ให้บริการโอทีที เช่น เอไอเอส เพลย์ และ 4. ช่องรายการโทรทัศน์ที่ให้บริการโอทีที เช่น bugaboo.tv ของช่อง7
หากพิจารณาส่วนแบ่งตลาดโอทีทีในประเทศ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้ให้บริการโอทีที ที่มีรายได้จากการโฆษณา (AVoD) ข้อมูลมูลค่าการใช้งบโฆษณาสื่อดิจิทัลปี 2559 ของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT พบว่าผู้ให้บริการโอทีที ที่มีรายได้โฆษณาสูงสุด คือ เฟซบุ๊ค มูลค่า 2,842 ล้านบาท ตามมาด้วยยูทูบ 1,663 ล้านบาท และอื่นๆ เช่น ไลน์ทีวี ผู้ประกอบการช่องทีวี มีรายได้ 502 ล้านบาท โดยตลาดมีมูลค่ารวม 5,007 ล้านบาท ซึ่งผู้ให้บริการโอทีทีต่างประเทศครองส่วนแบ่งตลาด 90% และผู้ประกอบการไทย 10%
ส่วนกลุ่มผู้ให้บริการโอทีที ที่มีการเรียกเก็บค่าสมาชิก (SVoD) ข้อมูลจาก Time Consulting พบว่าฮอลลีวูด เอชดีทีวี เป็นผู้ให้บริการอิสระรายแรกของไทยมีรายได้มากที่สุด มูลค่า 299 ล้านบาท
นอกจากนี้ Time Consulting ได้สำรวจและประเมินมูลค่าโฆษณา“ดิจิทัล วีดิโอ”ในประเทศไทย ปี2558 มูลค่า 1,599 ล้านบาท ปี 2559 มูลค่า 2,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% คาดการณ์ปี 2563 มูลค่า 4,502 ล้านบาท โดยยูทูบ ครองส่วนแบ่งมูลค่าโฆษณาดิจิทัล วีดิโอมากที่สุด
พ.อ.นที กล่าวว่าปัจจุบันผู้ประกอบการโอทีทีหลายรายให้บริการตรงจากต่างประเทศ มายังผู้บริโภคคนไทยโดยมิได้ผ่านขั้นตอนตามกฎหมายทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษี ดังนั้นแนวทางการกำกับดูแลโอทีทีที่เริ่มจาก กสทช. ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่หน่วยงานอื่นๆ วางกรอบการทำงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมต่อไป
แนะ“ทีวี”ปรับตัวชิงเม็ดเงิน
จากการสำรวจผู้บริโภคทั่วโลกของ อิริคสัน คอนซูเมอร์ แล็ป ปี 2554-2558 ด้านพฤติกรรมการรับชมคอนเทนท์แบบออนดีมานด์ พบว่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
โดยปี2554 อยู่ที่ 2.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปี2558 เพิ่มเป็น 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยจำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นการรับชมรูปแบบ สตรีมมิ่งทีวี โปรแกรม และสตรีมมิ่ง ออนดีมานด์ ทีวี ซีรีส์
พ.อ.นที กล่าวเพิ่มเติมว่าพฤติกรรมผู้บริโภคไทยมีรูปแบบการเสพสื่อและคอนเทนท์ จากจออื่นๆ นอกจากจอทีวีมากขึ้น ซึ่งเนื้อหารายการที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมในช่องทางออนไลน์ คือคอนเทนท์จากทีวี ดังนั้นจึงเห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการทีวีในยุคนี้ ทั้งฟรีทีวีและเพย์ทีวี ที่นำคอนเทนท์ไปเสนอในทุกแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมเสพสื่อของผู้บริโภค เช่น ทรูวิชั่นส์ เพย์ทีวี ให้บริการ ทรูวิชั่นส์ anywhere ช่องเวิร์คพอยท์ นำคอนเทนท์เผยแพร่ผ่านทุกช่องทางออนไลน์
ดังนั้นจากทิศทางการขยายตัวของตลาดโอทีทีปัจจุบัน หากผู้ประกอบการทีวีมองเป็นโอกาส โดยปรับตัวมุ่งพัฒนาคอนเทนท์นำเสนอให้ทุกช่องทาง จะมีโอกาสเข้าไปช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณาจากตลาดโอทีที และดิจิทัล วีดิโอ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เพื่อเสริมรายได้จากจอทีวีหลักอีกทาง