“หุ่นยนต์ดินสอ” รบด้วยคุณค่า นวัตกรรมนำโลกยั่งยืน
หุ่นยนต์ “ดินสอ” เป็นสิ่งประดิษฐ์สายพันธุ์ไทย ที่เกิดจากความเชื่อของ “เฉลิมพล ปุณโณทก” ที่กล้าทลายกรอบความคิดเดิม
ดันคนไทยเป็นเจ้าเทคโนโลยี สร้างหุ่นยนต์ไปตีตลาดญี่ปุ่นและยุโรป ด้วยวิธีคิดแบบผู้ชนะตลอดกาลคือ “ต้องสร้างคุณค่าแก่สังคม และคิดนำโลกแทนคิดแค่ทันโลก”
“เอสเอ็มอี ยุค 3.0 มักกังวลกับอนาคต เมื่อเห็นเด็กรุ่นใหม่ (Startup) ประกอบธุรกิจกันคึกคัก เอสเอ็มอีที่อายุเยอะแล้วก็กลัวสู้ไม่ได้ คิดไม่ออกว่าจะสร้างคุณค่าอย่างไรให้กับสินค้าและบริการ” เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด แสดงทัศนะ
นั่นเพราะยุค 3.0 เป็นยุคที่ธุรกิจไทยเติบโตจากการเป็น “ผู้ตาม” (Follower) มากกว่า “ผู้นำ” (Leader) ยุคที่รัฐให้สิทธิประโยชน์ภาษีจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้นำไอเดีย มาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย ด้วยการรับจ้างผลิต (OEM) ประกอบสินค้าเพื่อส่งออก ตามซัพพลายเชน
ไม่ต่างจาก เฉลิมพล ที่ก่อนจะมาเป็นกบฎผู้คิดค้นหุ่นยนต์สัญชาติไทย เขาก็เติบโตในยุค 3.0 เป็นนักการตลาดในบริษัทข้ามชาติที่บริษัทแม่วางกลยุทธ์ไว้แล้ว เขาเพียงเดินตามกลยุทธ์ที่บริษัทแม่ขีดไว้
“ไม่แปลกหากเราจะไม่คุ้นเคยกับยุคดิจิทัลที่กำลังมาพลิกเกมธุรกิจ เพราะกลยุทธ์ประเทศในยุคก่อนเป็นแบบนี้้” เฉลิมพล ย้ำ
ทว่า ในปัจจุบัน ถึงเวลาที่เอสเอ็มอีรุ่นเก่าต้องเปลี่ยนวิธีคิด แบบหักมุม 360 องศา เพราะโจทย์บนเกมรบโลกยุคใหม่ 4.0 ต้องนำ “ปัญญา” มารบกัน ต้องไม่ใช่เป็นผู้นำที่นำเข้าเทคโนโลยีอีกต่อไป แต่จะต้องเป็น “เจ้าของนวัตกรรม” และรู้จัก “สร้างแบรนด์” จึงรอดได้อย่างยั่งยืน
“คนไทยต้องเริ่มจากคำถามที่ว่าชาติเราจะมีความยิ่งใหญ่ มีศักดิ์ศรี ได้ก็ต้องเป็นเจ้าของแบรนด์และนวัตกรรม”
“คิดทันโลก” สำหรับเขาจึงก้าวไม่ทันอีกต่อไป แต่ต้อง “คิดนำโลก” ค้นหาจุดที่ถนัด เช่นที่เขาให้กำเนิดหุ่นยนต์ดินสอ หุ่นยนต์พันธุ์ไทย ออกไปช่วยเหลือผู้สูงอายุในตลาดญี่ปุ่น จนกระทั่งต่อยอดนวัตกรรมหุ่นยนต์เรืองแสง มีเซ็นเซอร์ มองผู้สูงอายุมองเห็นเวลาลุกจากเตียงในเวลากลางคืน และส่งข้อมูลให้ญาติผู้ป่วย รวมถึงหุ่นยนต์ที่คอยช่วยเหลือเวลาเข้าห้องน้ำ
แม้กระทั่งฟีเจอร์ดวงตาเซ็นเตอร์วัดระดับการเต้นของหัวใจ เตือนก่อนที่ผู้สูงวัยจะรู้ตัว ตลอดจนเป็นหุ่นยนต์บันเทิงที่ชวนร้องเพลง เต้นรำแก้เหงา นวัตกรรมบริการที่ผสมผสานระหว่างการบริการอย่างไทยแฝงอยู่ในหุ่นยนต์ที่ไม่มีใครคิดว่า จะเป็นหุ่นยนต์เพื่อผู้สูงอายุแบบเฉพาะทางมากเช่นนี้
จึงเป็นที่มาของการได้รับการยอมรับ จนหุ่นยนต์ดินสอขยายตลาดนอกจากญี่ปุ่น ไปยังสวีเดน และประเทศในแถบยุโรปอีกหลายประเทศ
นักการตลาดที่ไม่มีความรู้ด้านหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์เช่นเขา แต่สามารถพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ล้ำๆ จนเกิดผลในเชิงพาณิชย์ เจ้าตัวเล่าว่า เกิดจากที่มาของความคิดต้องการ “สร้างสรรค์คุณค่า” แก้ไขปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนบนโลก
เมื่อกล้าสร้างคุณค่า จึงกล้าออกจากคอมฟอร์ทโซน กล้าคิดนอกกรอบ ไม่กลัวผี เดินสอดสายสิญจน์ ออกไปลุยตลาดญี่ปุ่น เพราะไม่เคยเห็นผี สายสิญจน์คืออุปสรรคที่ทำให้เรากลัว ความกลับทำให้ไม่สำเร็จ อุปสรรคแรก ที่คนมักวาดภาพไว้ในหัว
“ถ้าผมปอดแหกไม่กล้าออกไป เพราะกลัวตลาดญี่ปุ่น ป่านนี้คงไม่ได้นำหุ่นยนต์ดินสอเปิดตลาดญี่ปุ่น เมื่อกวาดญี่ปุ่นได้ก็เป็นบันไดไปสู่ประเทศอื่นๆ ยอมรับหุ่นยนต์เมดอินไทยแลนด์” เฉลิมพล เล่าถึงความกล้าก้าวข้ามความกลัวและอุปสรรคนำมาสู่โอกาสใหม่ๆ
เขายังบอกถึงวิธีคิดของการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทั้งที่ไม่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมหุ่นยนต์ ไม่เคยเป็นแชมป์หุ่นยนต์มาก่อนว่า เพราะวางตัวเองเป็น “นักประกอบร่าง” สร้างทีม วิศวกร และนักคอมพิวเตอร์
นำแชมป์หุ่นยนต์มาร่วมมือกันสร้างหุ่นยนต์ !
หรือ เล่นบท โจโฉ หรือ เล่าปี่ ในมหากาพย์สามก๊ก ที่เป็นผู้รวบรวมไพร่พลกองทัพคนเก่งอย่างขงเบ้งให้เข้ามาทำงานให้
“เมืองไทยเรามีคนเก่งๆอย่างขงเบ้งจำนวนมาก จึงมีหมอ วิศวกร ฯลฯ คนเก่งมักมีอัตตาไม่ค่อยคุยกัน แต่เมืองไทยขาดคนอย่างเล่าปี่ และโจโฉ คือ คนอ่านคนเป็น แล้วมารวมทีม ผลักดันให้คนเก่งมาทำงานที่ต้องใช้หลากหลายทักษะมาบูรณาการ”
ขอเพียง มี 2 สิ่งคือ อ่านคนเป็น และอ่านอนาคตออก
“ยังไม่มีในหลักสูตร ยังไม่มีสถาบันไหนสอนกันจริงจัง ในเรื่องการหลอมรวมหลายศาสตร์บูรณาการเพื่อเป็นผู้นำ ต้องเข้าใจคน มีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)”
นั่นเป็นที่มา ของการทำแผนธุรกิจ (Business Plan) 3 ขั้นตอน พัฒนาหุ่นยนต์ดินสอ คือ แผน A พัฒนาเป็นพรีเซนต์เตอร์แทนดารา ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการออกสื่อโฆษณาโดยไม่ต้องเสียงบการตลาดนับสิบล้านทำให้คนรู้จักหุ่นยนต์ดินสอ มีรายได้เข้ามา
แผน B พัฒนาเป็นการ์ตูนเรื่องราว และ แผน C ขายหุ่นยนต์ ที่ต้องรอเวลา 3 ปีแรกยังขายหุ่นยนต์ไม่ได้
“เมื่อหุ่นยนต์เริ่มมีชื่อเสียง มีคนรู้จัก ก็มีรายได้เข้ามาโดยที่ยังไม่ทำแผน B ก็นำไปสู่แผน C เลยคือการส่งออกหุ่นยนต์ และขายหุ่นยนต์ไปในเอ็มเคสุกี้ (ธุรกิจบริการ) 10 ตัว รวมถึงบริษัทอื่น ล่าสุด หุ่นยนต์พนักงานขายสินค้าแทนคน ให้สหพัฒน์100ตัว”
เขาให้กำลังใจเอสเอ็มอีว่า ขอให้กล้าข้ามความกลัว ใช้นวัตกรรมกล้าทำสิ่งประดิษฐ์ก่อนคนอื่น จึงเป็นผู้ชนะอย่างยั่งยืน และเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด อย่ากลัวว่าเด็กรุ่นใหม่จะเข้ามาแทนที่ แต่ต้องผสมผสานความรู้ยุคเก่าเข้ากับยุคใหม่ ซึ่งคนยุคเก่ามีจุดแข็งตรงการบริหารจัดการปัญหา รอบคอบ ไม่วู่วามประมาท ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ขาด
“เลือกทำสิ่งที่เราถนัด ออกจากคอมฟอร์ทโซน หาประสบการณ์ใหม่ๆ หยิบนู่นหยิบนี่มาผสม รวมจุดแข็งของคนสองเจนเนอเรชั่น ที่มีกรอบทำงานต่างกันแต่ร่วมกันได้” เขาย้ำ และว่า
สำหรับเขายังต้องก้าวต่อไปไม่หยุดแสวงหานวัตกรรม วิจัยและพัฒนาใหม่ๆตลอดเวลา เพราะในยุคนี้สินค้าออกมาใหม่ไม่นานก็ก็อปปี้กันอย่างรวดเร็ว
โดยเฉลิมพล เล่าว่า เขาข้ามช็อท วางเป้าหมายสร้างประดิษฐ์สิ่งใหม่ ยังไม่มีใครทำคิดทำ หากสำเร็จไทยจะเป็นเจ้าแรกที่จะเป็นเจ้าเทคโนโลยี 3 สิ่ง คือ นวัตกรรมจอประสาทตาเทียม ที่เชื่อมต่อกับสมองมนุษย์ทำให้คนตาบอดสามารถมองเห็นอีกครั้ง สิ่งนี้มาจากแรงบันดาลใจเมื่อครั้งไปเยี่ยมทหาร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตาบอด
และการคิดสร้างโรงพยาบาลในดวงจันทร์ เป็นบริการควบคู่กับบริษัทที่คิดพัฒนาขนส่งคนไปเที่ยวในดวงจันทร์ ในอีก10-15 ปีข้างหน้า แต่กลับขาดการบริการด้านรักษาพยาบาล ไทยน่าจะใช้จุดแข็งเรื่องการรักษาพยาบาลไปให้บริการบนนั้น และสิ่งสุดท้าย พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อผู้สูงอายุ โดยมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงวัย ขยายตลาดไปในหลายประเทศที่เริ่มมีประชากรผู้สูงวัยมากขึ้น (Aging Society)
“3ด้านนี้่ทำให้ไทยเป็นเจ้าเทคโลยีได้ คือ การหลอมรวมศาสตร์ด้านการรักษาพยาบาลที่สอดคล้องกันกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเอสเคิรฟ์ (S-Curve)กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ คือ หุ่นยนต์ การแพทย์และการรักษาพยาบาลครวงจร รวมถึง ด้านดิจิทัล” เขาเล่าถึงกลุ่มธุรกิจอนาคตที่ไทยจะครองโลกได้
เฉลิมพล ทิ้งท้ายถึงที่มาของธุรกิจที่มาจากการตกผนึกความคิดของการเข้าใจหน้าที่ตัวเองที่มีต่อสังคม ต่อสถาบันการศึกษา ต่อประเทศ และต่อประชากรโลก ทำให้คิดพัฒนาสิ่งที่มีคุณค่าต่อส่วนรวมในระยะยาว
“พอเราเข้าใจว่าตัวเรามีหน้าที่อะไรแล้ว เราก็สร้างคุณค่าออกมาอย่างยั่งยืนได้ หากไม่คิดอย่างนี้ ถ้าคิดถึงแต่ตัวเองก็ไปเล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้น มุ่งหาเงินรวยทางลัด ไม่มั่นคงยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม หากไม่ใช้ “คุณค่า” นำ แม้สิ่งประดิษฐ์จะล้ำหน้าแค่ไหน ก็ทำลายล้างโลกได้ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) หากใช้ผิดที่ผิดทางโดยไร้คุณธรรมเป็นตัวกำกับ หุ่นยนต์นักรบก็อาจกลายเป็นหุ่นยนต์ก่อการร้าย เป็นต้น