“สเตเดียมวัน”ชูสปอร์ตเดสทิเนชั่นอาเซียน

“สเตเดียมวัน”ชูสปอร์ตเดสทิเนชั่นอาเซียน

ธุรกิจสุขภาพมาแรง “เดอะ สปอร์ต โซไซตี้” ทุ่ม 300 ล้าน ผุดแลนด์มาร์คแห่งใหม่ “Stadium One” เชื่อมต่อสนามศุภฯ-อุทยานจุฬาฯ 100 ปี ขึ้นแท่น “สปอร์ต เดสทิเนชั่น” ศูนย์รวมคนรักกีฬาระดับอาเซียน

นายพงศ์วรรธน์ ติยะพรไชย ผู้บริหารโครงการสเตเดียมวัน(Stadium One)เปิดเผยว่า บริษัทได้รับสัมปทานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการก่อสร้างและบริหารโครงการ Stadium One บนที่ดิน 10 ไร่ บริเวณหลังสนามกีฬาแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย) โดยจะใช้งบประมาณการลงทุนราว 300 ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารคอมมูนิตี้มอลล์แนวใหม่ ภายใต้แนวความคิด “Stadium of Life” ศูนย์รวมค้าปลีกกีฬาและไลฟ์สไตล์ของคนรักการออกกำลังกายที่ครบวงจร ครั้งแรกของเมืองไทยและในอาเซียน

โครงการ Stadium One ตั้งอยู่บนถนนพระราม 1 ตัดกับถนนบรรทัดทอง ใกล้กับสนามกีฬาแห่งชาติ และสนามฟุตบอลเทพหัสดิน เชื่อมต่อกับพื้นที่อุทยานจุฬาฯ 100 ปี สวนสาธารณะขนาดใหญ่กว่า 30 ไร่ ปอดแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ ภายในโครงการประกอบด้วยร้านค้าปลีก 129 ร้าน พื้นที่ค้าปลีก 5,000 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนของร้านค้าปลีก และส่วนของศูนย์บริการการออกกำลังกายและการจัดกิจกรรม

นายพงศ์วรรธน์ กล่าวว่า Stadium One จะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร และสามารถดึงกลุ่มเป้าหมายผู้รักการออกกำลังกาย รวมทั้งกลุ่มลูกค้าที่มองหาสินค้า อุปกรณ์กีฬาที่ครบวงจร และจะเป็นศูนย์กลางของการจัดกิจกรรมด้านกีฬาของประเทศไทย ซึ่งโครงการได้เตรียมความพร้อมและความสะดวกไว้รองรับ ทั้งด้านพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับสนามกีฬาและสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ใกล้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับย่านชอปปิงใจกลางเมืองอันเป็นที่นิยมของคนไทยและชาวต่างชาติ

ในโครงการยังมีความสะดวกต่างๆให้บริการ อาทิ ล็อกเกอร์ ห้องอาบน้ำ รวมทั้งลานจอดรถที่รองรับได้ประมาณ 150 คันในบริเวณโครงการ และสามารถจอดรถในระยะ 200 เมตรรอบโครงการ ประมาณ 1,000 คัน นอกจากนั้นยังสะดวกด้วยการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ลงสถานีสนามกีฬา ใช้เวลาเดินเพียง 3 นาที ในระยะไม่เกิน 300 เมตรจากสถานี

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาจองพื้นที่ในโครงการ Stadium One แล้ว 40% หลังจากนี้จะทำการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น คาดว่าจะส่งผลถึงอัตราการจองที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ในส่วนของอัตราค่าเช่าเริ่มต้นที่ 350 บาทต่อตารางเมตร โดยรายได้หลักของ Stadium One จะมาจากค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีก 90% อีก 10% มาจาก สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ โดยจะมีบริษัทที่เข้ามารับสัมปทานดูแลในส่วนนี้ รวมทั้งรายได้จากการจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี

บริษัทฯ ได้เจรจากับพันธมิตรรายใหญ่ในการเข้ามาใช้พื้นที่อาทิ วอริกซ์ สปอร์ต , ช้างศึกเมกะสโตร์ , แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาไทยต่างๆ สำนักงานสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , แบรนด์รองเท้ากีฬา แบรนด์จักรยาน รวมถึงอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการขนส่งพัสดุในอนาคต นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรที่ต้องการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมขอจองพื้นที่ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว

ภาพรวมตลาดสินค้าและบริการด้านสุขภาพของคนไทยมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง เห็นได้จากตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกายมีมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ในปี 2555 เพิ่มเป็น 1.6 แสนล้านในปี 2558 ตัวเลขผู้เข้าร่วมกิจกรรมกรุงเทพมาราธอนเพิ่มจาก 3,000-4,000 คนในอดีต เป็น 30,000-40,000 คนในปัจจุบัน จำนวนนักปั่นที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และยังคงมีผู้ที่รักสุขภาพและมองหาสถานที่ออกกำลังกายมากขึ้น

โครงการ Stadium One จึงเป็นทางโครงการที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ และไลฟ์สไตล์ได้เป็นอย่างดี นับเป็น Sport Destination เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย