บอร์ดปตท.ถก21ก.ค. ทบทวนกลยุทธ์5ปี
"บอร์ด ปตท." หารือ 21 ก.ค. ทบทวนกลยุทธ์ 5 ปี ด้าน "ปิยสวัสดิ์" ชี้ต้นทุนโซลาร์รูฟท็อปคุ้มค่าต่อการลงทุน เล็งส่ง "จีพีเอสซี" ลุยติดตั้งบนหลังคาปั๊มทั่วประเทศ
แหล่งข่าวบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. วันที่ 21 ก.ค. นี้ ทางผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม ปตท.จะนำเสนอกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในอนาคต เพื่อขอความเห็นชอบจากบอร์ด หลังจากที่ได้ประชุมผู้บริหารระดับสูงกลุ่ม ปตท.เพื่อกำหนดยุทธ์ศาสตร์และทิศทางในอนาคตกลุ่ม ปตท.(Strategic Thinking Session) หรือ STS ในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยบรรจุไว้ในแผนงานอยู่แล้ว โดยกลุ่ม ปตท.จะมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ (disruptive technology) เช่น พัฒนาการของเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้า,ยานยนต์สมัยใหม่ ,และการธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เป็นต้น
ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. กล่าวว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ต้นทุนการติดตั้งถูกลงมากอยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นบาทต่อกิโลวัตต์ คุ้มค่าต่อการลงทุน กลุ่ม ปตท.จึงสนใจที่จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองทดแทนการซื้อใช้ไฟฟ้าจากระบบ โดยผ่านการลงทุนของบริษัทลูก คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี ที่ประกอบธุรกิจไฟฟ้า
ส่วนกรณีที่ภาครัฐมีแนวคิดจะจัดเก็บอัตราระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) มองว่า เป็นเรื่องที่ต้องดูว่ามีเหตุผลหรือไม่ หรือ Backup Rate อยู่ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าอยู่แล้ว รวมถึงอาจจะต้องพิจารณาปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพราะหากการไฟฟ้ากังวลว่า การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจำนวนมากอาจส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีก)ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงกลางวัน เปลี่ยนไปเกิดในช่วงกลางคืนแทน และการไฟฟ้าอ้างว่า เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าลากยาว เพื่อสำรองไฟฟ้าไว้รับมือความต้องการใช้ในช่วงกลางคืนนั้น หากรู้ว่า พีกคลาดเคลื่อนไปจากเดิมก็สามารถปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ปรับมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว รวมถึงปรับอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้(TOU)ใหม่ได้
ทั้งนี้ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ได้รับความนิยมมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าจะต้องเร่งปรับตัว แต่กรณีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หันไปเป็นผู้ใช้บริการและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนั้น อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจดำเนินธุรกิจเพื่อแข่งขันกับเอกชน เช่น เดียวกับ ปตท. ที่ต้องแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ไปอยู่ภายใต้การจัดตั้งบริษัทใหม่ คือ พีทีทีโออาร์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส