ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคน้ำมัน 24-28 ก.ค.60
ราคาน้ำมันดิบคาดจะได้รับแรงหนุนจากการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 45-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (24 – 28 ก.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคในวันที่ 22 และ 24 ก.ค. 60 ที่คาดว่าอาจได้เห็นความร่วมมือเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบมากขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่คาดว่าจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าตลาดมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะสมดุลในอนาคต อย่างไรก็ตาม ราคน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย และไนจีเรียที่ยังคงผลิตในระดับที่สูงสุดในรอบ 2 และ 4 ปี ตามลำดับ อย่างต่อเนื่อง รวมถึง ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- จับตาการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคในวันที่ 22 และ 24 ก.ค. นี้ หลังได้มีการเชิญลิเบียและไนจีเรีย ซึ่งเป็นสองประเทศที่ได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต ให้เข้าร่วมการประชุมในวันที่ 22 ก.ค. เพื่อรายงานสถานะการผลิตน้ำมันดิบของทั้งสองประเทศนี้ นอกจากนี้ ในวันที่ 24 ก.ค. จะมีการหารือกันระหว่างตัวแทนของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคทั้ง 6 ประเทศได้แก่ คูเวต เวเนซูเอลา แอลจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย และโอมาน เกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดน้ำมันดิบ ณ ปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังต้องติดตามว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมันดิบหรือไม่
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังคาดการณ์ว่าโรงกลั่นสหรัฐ จะคงอัตราการกลั่นในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ก.ค. 60 ปรับลดลงราว 4.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 490.6 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐ ก็ปรับลดเช่นกันราว 4.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงเพียง 1 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐ ปรับลดลงราว 2.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียคาดว่าปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศคลี่คลายลง ซึ่งได้มีการตั้งเป้าหมายว่าลิเบียจะผลิตน้ำมันดิบแตะระดับ 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปีนี้ และแตะระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 61 โดยปัจจุบันลิเบียผลิตน้ำมันดิบอยู่เหนือระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าระดับการผลิตที่ต่ำที่สุดเมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งผลิตอยู่เพียง 250,000 บาร์เรลต่อวัน
- กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ของสหรัฐ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น หลัง EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นดินดานของสหรัฐ ในเดือนส.ค. ปรับเพิ่มขึ้นราว 112,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 5.585 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐ รายงานโดย Baker Hughes มีการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง ในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันดิบลดลง ซึ่งส่งสัญญาณว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ อาจไม่ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วเหมือนในขณะนี้ รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ค. 60 ปรับลดลง 1 แท่น มาอยู่ที่ 764 แท่น เป็นสัปดาห์ที่ 2 นับตั้งแต่เดือนมค. 60 ที่แท่นขุดเจาะในสหรัฐ ถูกปรับลดลง
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและการบริการยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิตและการบริการสหรัฐ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐ และจีดีพีไตรมาส 2 สหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 – 21 ก.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.77 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 45.77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.85 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 48.06 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาดที่เกิดจากการเพิ่มกำลังการผลิตของ ลิเบีย ไนจีเรีย และสหรัฐ อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับลดลงสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันดิบของจีนที่แข็งแกร่ง หลังโรงกลั่นในจีนปรับเพิ่มอัตราการกลั่นในเดือนมิ.ย. ไปอยู่ที่ระดับ 11.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงขึ้นจากเดือนพ.ค. ที่ระดับ 10.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน