ถอด ‘กลลวง’ มาร์เก็ตติ้ง

ถอด "กลลวงมาร์เก็ตติ้ง" บทเรียนนักลงทุนสูญเงินนับล้าน
ทุกวันนี้เล่ห์กลโกงมาได้หลากหลายรูปแบบและมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป จนทำให้มีผู้ที่หลงเชื่อ ซึ่งจะด้วยมาจากความโลภ ความไว้เนื้อเชื่อใจก็ตามที แต่ล้วนทำให้เกิดความเสียหายมากมาย และเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งในธุรกิจการเงินการลงทุนที่นำเหยื่อมาล่อได้ง่าย ด้วยการอวดอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการลงทุน รู้อินไซด์ สามารถการันตีผลตอบแทนให้ได้ ทำให้คนฟังหลงเคลิ้มและสุดท้ายควักเงินให้ไป สุดท้ายกลายเป็นกลโกงที่ทำให้ต้องสูญเงินทั้งหมด
ที่ผ่านมากรณีดังกล่าวมักจะเกิดกับผู้ลงทุนที่หลงเชื่อว่าสามารถไปลงทุนในหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อ้างอิงดัชนี สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทองคำ น้ำมัน และค่าเงินต่างประเทศ และอ้างด้วยว่าให้ผลตอบแทนสูงถึงสองหลักมากกว่าผลตอบแทนจากอัตราเงินฝาก แต่สุดท้ายกลับไม่มีการลงทุนจริงตามที่ระบุไว้ ไม่มีการซื้อขายหุ้นหรือสินทรัพย์
ขณะที่อาชีพที่ใกล้ชิดกับนักลงทุนมากที่สุด อย่างมาร์เก็ตติ้ง มักจะเห็นข่าวคราวออกมาตลอดเวลา นำพอร์ตของลูกค้าไปซื้อขาย ตัดสินใจลงทุนเอง หรือชักชวนไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ทั้งที่โดยหน้าที่มาร์เก็ตติ้งดูแลพอร์ตการลงทุนของลูกค้า ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ สุจริต เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ รักษาผลประโยชน์ของลูกค้า
รวมไปถึงการประเมินการจัดทำเอกสารหลักฐาน การปฏิบัติตามคำสั่งและเกณฑ์บริษัท คือต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า โดยทำรายการเบิก-ถอน-โอน-ย้าย แทน เป็นต้น
หากดูจากสถิติการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ปี พ.ศ. 2535 ในปี 2559 ประเภทความผิดในธุรกิจหลักทรัพย์ โดยมีการกล่าวโทษ 17 ราย เปรียบเทียบปรับ 14 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,666,437.50 ล้านบาท ในจำนวนผู้ถูกกล่าวโทษ เป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาตถึง 17 ราย
บทเรียนของนักลงทุนกรณีล่าสุดมี 5 ราย ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลกับสื่อมวลชน ว่า ถูกหลอกลงทุนโดยมาร์เก็ตติ้ง บล.เคเคเทรด ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น บล.หยวนต้า สูญเงินไปถึง 300 ล้านบาท จากการที่มาร์เก็ตติ้งรายนี้ชักชวนให้ไปลงทุนในกองทุนอ้างว่าบริษัทเป็นผู้ดูแลและตนเองเป็นผู้บริหารอยู่ ตั้งแต่ปี 2555
โดยให้มีการโอนเงินเข้าบัญชีบริษัท สลับกับบัญชีส่วนตัวของมาร์เก็ตติ้ง หลายครั้ง โดยมีเอกสารระบุ ชื่อของบล. เคเคเทรด มาแสดงให้เห็นด้วย ก็ทำให้เกิดความเชื่อใจ และยอมลงทุนแบบต่ออายุเรื่อยมา จนได้รับหนังสือจาก บล.หยวนต้าว่า มาร์เก็ตติ้งดังกล่าว ได้พ้นจากการเป็นพนักงานบริษัทแล้วมี.ค.2560 จึงสอบถามถึงเงินลงทุนในกองทุนดังกล่าว กลับปรากฏว่าบริษัทไม่ทราบเรื่อง ไม่สามารถติดต่อกับมาร์เก็ตติ้งรายนี้ได้
ปัจจุบันผู้เสียหายยังไม่ได้รับคำตอบจาก บล.หยวนต้า ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ในฐานะเป็นบริษัทต้นสังกัด หรือแม้แต่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แม้ว่าจะมีการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีฉ้อโกงไปแล้วก็ตาม
ด้านหนึ่งฝ่ายกำกับดูแลเองที่เป็นที่พึ่งให้กับรายย่อย ต้องหามาตรการที่ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อีก เพราะส่วนใหญ่ความผิดเกิดจากมาร์เก็ตติ้งมักมาจากพฤติกรรมตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์แทนลูกค้า ทั้งที่มีระบบตรวจสอบของบริษัทอยู่แล้ว และ ก.ล.ต. มีการออกตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา
ขณะเดียวกันโบรกเกอร์มีส่วนสำคัญ เพราะตามหลักปฏิบัติจะมีกระบวนการตรวจสอบสอบที่กำหนด เช่น การตรวจสอบบัญชีเจ้าของหลักทรัพย์ ตั้งแต่ขั้นตอนที่ลูกค้าเปิดบัญชี บริษัทต้องรู้จักตัวตนและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงเป็นใคร ประเมินว่าเป็นบัญชีนอมินีหรือไม่ ระบบการรักษาทรัพย์สินของลูกค้าที่รัดกุมเพียงพอ และมีระบบป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เพียงพอเพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบลูกค้า
สุดท้ายคงหนีไม่พ้นตัวผู้ลงทุนเองที่ต้องดูแลทรัพย์สินของตัวเองตลอดเวลา หมั่นตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้น ไม่ควรไว้ใจใครให้ทำธุรกรรมแทน หรือไว้ใจตัวบุคคลด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว ที่สำคัญไปกว่านั้น ก่อนการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์อะไร ควรตั้งคำถาม กับสิ่งที่ได้ยินมาโดยไม่คล้อยตาม หรือเกิดความโลภ
ทั้งต้องตั้งคำถามว่าผลตอบแทนจากการลงทุนไม่สามารถมาการันตรีให้กันได้ หรือมาชวนเชื่อว่าให้ผลตอบแทนที่สูงมากๆ ได้ เช่น ผลตอบแทนปีละมากกว่า 20 % แบบไม่สูญเงินต้น การลงทุนทุกสินทรัพย์โดยปกติไม่สามารถจะระบุผลตอบแทนแบบนี้ได้ เพราะมีปัจจัยความเสี่ยง ความผันผวนที่ควบคุมไม่ได้อยู่