Red Zone “ทีวีดิจิทัล” โศกนาฏกรรมจอแก้ว
คงไม่ผิดแผกจากคาดการณ์นัก กับสถานการณ์ “ทีวีดิจิทัล” ที่ 3-5 ปี ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญภาวะ “กลืนเลือด” ต้นทุนที่แบกรับมหาศาล สวนทางรายรับที่ลดฮวบฮาบ เรตติ้งตกต่ำ คนดูน้อย ตอกย้ำธุรกิจเข้าขั้นวิกฤติ Red Alert! ดังถี่ขึ้นทุกขณะ!!
กว่า 3 ขวบปี ของการ “ตั้งหลัก” ของธุรกิจทีวีดิจิทัล และเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า “สถานการณ์” ของธุรกิจนั้นอยู่ในอาการ“วิกฤติ” หลายช่อง
เห็นได้จาก “ผลประกอบการ” ที่ส่วนใหญ่ติดอยู่ใน “โซนแดง” บริษัทที่เคยมีรายได้หลัก “หมื่นล้าน” มีความสามารถในการทำ “กำไร” หลัก “หลายพันล้าน” ก็ลดฮวบเหลือหลักพันล้านต้นๆ บ้างก็ถึงขั้น “ติดลบ” จนนำไปสู่การหาทางออก ประคับประคององค์กร
ด้วยการ “ปรับโครงสร้าง” หาทาง “ลดต้นทุน” เพื่อความอยู่รอดกันยกใหญ่
หลายรายยังกัดฟัน “กลืนเลือด” ทำธุรกิจต่อไป แต่ที่ชิงตัดจบตอน “ละครทีวีดิจิทัล” ก่อนใคร หนีไม่พ้น “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย์” หรือติ๋ม ทีวีพูล แห่งบริษัท ไทยทีวี จำกัด ที่เลิกทำช่องข่าวและสาระ MVTY และช่องเด็ก LOCA ไปเมื่อปี 2558
ย้อนไปปี 2556 ที่ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากการรับชมทีวีอนาล็อก สู่ทีวีดิจิทัล และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กำหนดให้มีการประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง มีผู้ประกอบการธุรกิจทั้ง “หน้าเก่า” และ “หน้าใหม่” ตบเท้าเข้ามาหวังแบ่ง “ขุมทรัพย์โฆษณา” ที่อยู่ในวิมานฉิมพลี เพราะขณะนั้นทั้งหน่วยงานรัฐ และแวดวงเอเยนซีประมาณการว่าตัวเลขจะสูงเกือบ 1.5 แสนล้านบาท เพราะทีวีดิจิทัลจะมาแรง!
นั่นคืออัตราค่าโฆษณาเต็ม ยังไม่คิดส่วนลด! จึงเป็นการก่อหวอดฟองสบู่เล็กๆ
ปลายเดือนธันวาคม 2556 การประมูลทีวีดิจิทัล เกิดขึ้นอย่างดุเดือด! และปิดเกมแบบทั้งแฮปปี้ เอ็นดิ้ง สำหรับผู้ชนะการประมูล และมีผู้ผิดหวังพลาดไม่มีช่องเป็นของตัวเอง
ฉากจบการประมูล กลายเป็น“จุดเริ่มเกม”ธุรกิจที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์!
“เรตติ้งคือมายา ผลประกอบการสิ..ของจริง! สถานการณ์ทีวีดิจิทัล เวลานี้ ถามว่าผิดคาดไหม?..ไม่ผิดคาดนะ แต่ตอนนี้ผ่านจุดที่จะมาชี้นิ้วกล่าวโทษกันแล้วว่าใครผิด” ความเห็นของ “ดร.สิขเรศ ศิรากานต์” นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามเรื่องของการเปลี่ยนผ่านยุคทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัลมาอย่างใกล้ชิด ไม่แค่ในประเทศไทย แต่อีกหลายประเทศทั่วโลก
การที่เขาไม่กล่าวโทษ หรือตำหนิหาคนถูก-ผิด เพราะต้องยอมรับว่า กระแสสังคมที่ผ่านมา มีทั้งการก่นว่าหน่วยงานรัฐอย่าง กสทช. ที่มี“มโน”ภาพถึงการเกิดทีวิดิจิทัลค่อนข้างสวยหรู
ส่วนผู้ประกอบการก็ “หลง” แรงดึงดูดของเม็ดเงินโฆษณามหาศาล การประมูลหลายช่องเพราะ “ละโมบ” จะกินรวบเม็ดเงินก้อนโตดังกล่าว เสียงผู้บริโภคที่ต้องการดูทีวีหลายช่องบ้างเพื่อรายการที่ดี มีประโยชน์ หลากหลาย ไม่จำกัดอยู่เจ้าแห่งจอแก้วเดิมๆ 3 5 7 9
“ไม่ชี้นิ้วโทษกันเพราะตอนนั้นก็ประเมินด้านบวกกันไปต่างๆนานา แต่ะตอนนี้สถานการณ์ทีวิดิจิทัลเข้าขั้น Red Alert!” คำเตือนของนักวิชาการ ที่เห็นพ้องกับหลายภาคส่วนว่า ธุรกิจอยู่ไม่ไหว ประมูลทีวีดิจิทัลค่าใบอนุญาติมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท นำเงินส่งเข้ารัฐแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้ของผู้ประกอบการ“แทบกระอักเลือดกันอยู่แล้ว”
3-4 ปัจจัยเตือนภัยวิกฤติทีวิดิจิทัล เช่น “Supply” หรือจำนวนช่องที่ดูจะล้นความต้องการของคนดูหรือ “Demand”
เม็ดเงินโฆษณาที่กลายเป็น “วาทะกรรม” โปรยยาหอมให้ผู้ประกอบการว่าเม็ดเงินจะเติบโต 2-3 เท่า โดยลืมมองหลักความเป็นจริง สมการ หลักวิทยาศาสตร์ การตั้งอัตราค่าโฆษณาเต็ม โดยไม่คำนวณ“ส่วนลด”ของแต่ละบริษัทว่าเป็นอย่างไร เพราะมีการลดอัตราโฆษณากันตั้งแต่ 20% ไล่ไปถึง 50% ประหนึ่งเหล้าพ่วงเบียร์ก็ว่าได้ เป็นการตีราคารายได้หรือ Income ที่ผิดพลาด เป็นเพราะการแข่งขันที่รุนแรง สื่อมีหลายแพลตฟอร์มให้โฆษณา
นอกจากนี้ ยังมีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปัจจัยภายในประเทศที่เป็นตัวแปรต่อการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณา และที่สำคัญการเข้ามาของเทคโนโลยี โลกดิจิทัล ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในการรับชมรายการโทรทัศน์ “เพิ่มทางเลือก”ในการรับชมรายการต่างๆมากขึ้นไม่ติดแค่จอแก้วอีกต่อไป
นี่เป็นตัวกำหนดตลาดทีวีดิจิทัล! นี่เป็นมิติทางเศรษฐศาสตร์ ขณะที่มิติของภาครัฐก็มีกฎเกณฑ์การแบ่งช่อง การแบ่งเฟส อีกมากมาย
แม้หลายค่ายทีวีดิจิทัลจะ “ขาดทุน” แต่ก็มีบางบริษัทที่มีกำไรอยู่ใน “แดนบวก” คำถามคือ ตัวเลขเหล่านั้นเกิดจากคนดูทีวีดิจิทัลที่มาก เรตติ้งเพิ่ม และนำไปสู่รายได้จากการขายโฆษณา หรือเป็นเพราะองค์กรเหล่านั้น “รัดเข็มขัด” กันสุดฤทธิ์ ทั้งลดต้นทุนในการดำเนินงาน นำรายการหรือคอนเทนท์เก่ามาฉายซ้ำ (Re-run) วนไป การปรับโครงสร้างองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการลดพนักงาน เปิดโครงการพิเศษ และเกษียณอายุการทำงานก่อนกำหนด(Early retire) บางบริษัทก็หันไปจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อเพิ่มรายได้ เป็นต้น หรือไม่อย่างไร
“สิ่งที่โกหกกันไม่ได้ คือ ผลประกอบการ หลายบริษัทที่ใหญ่โตเคยมีกำไร 5-6 พันล้านบาท ลดเหลือหลักร้อยล้าน บริษัทเล็กจากที่มีกำไรเล็กน้อยก็กลายเป็นขาดทุน บริษัทส่วนใหญ่ติดลบหมด แต่มี 3-4 บริษัทที่รายได้เป็นบวก” เขาย้ำ
จังหวะนี้ น่าจะดีหากใช้กลไก กสทช. รัฐบาล กรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ทั้ง 5 ห่วงโซ่ มาแก้ปัญหาร่วมกัน ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ และหากมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ ซึ่งเขามองหลากแนวทาง โดยอิงจากสาเหตุ เช่น มาตรการฟื้นฟูทางการเงิน ใช้มาตรา 44 เป็นออกซิเจนต่อลมหายใจผู้ประกอบการ
รวมไปถึงการมีมาตรการอุดหนุนชดเชยให้กับผู้ประกอบการ ในมาตรฐานเช่นกับอุตสาหกรรมอื่นที่รัฐเคยยื่นมือเข้าไปช่วย เช่น ข้าว ยางพารา เมื่อตกต่ำรัฐก็เข้ามาหามาตรการช่วยเหลือ เป็นต้น “เพราะต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ก็มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นำเงินเข้ารัฐเหมือนกัน ฉันใดก็ฉันนั้น ตลอดจนเครื่องมือทางภาษีมาช่วย เป็นต้น
การเปิดทางให้ผู้ประกอบการถอนตัวจากกิจการ และเปลี่ยนเจ้าของ โดยยังคงอยู่ในกรอบการป้องกันการครอบงำตลาดอยู่
นี่จึงเป็น “โอกาส” ให้ผู้ประกอบการที่ไม่ไหวจะเคลียร์ ได้ปรับเปลี่ยน หากไม่อยากหลุดวงโคจรจอแก้วก็ผันตัวไปเป็นผู้ผลิตรายการ (Content Provider) ลักษณะเช่นนี้ในต่างประเทศก็มีให้เห็น เช่น สหรัฐ อังกฤษ มีการเพิ่มทุน มีผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาแทนที่รายเดิมที่ต้องการออกไป เป็นต้น “ดร.สิขเรศ” เสนอแนะ
นี่อาจช่วยปลดล็อคสถานการณ์ได้ไม่มากก็น้อย ที่สำคัญจะพยุงให้ผู้ประกอบการที่ผลการดำเนินงานอยู่ใน “แดนลบ” ต้องติดลบน้อยกว่าเวลานี้ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย ที่มาดึงสายตาผู้ชม (Eyeball) กับคำถามถึงจำนวนช่องที่ล้นเกิน หากต้อง“ปรับลดลงมา” จำนวนที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่
เขาบอกว่า หากมองกลับไปตอนต้นการประมูล ก็ไม่มีใครทราบเหตุผลว่าเหตุใด?จึงดีไซน์ออกมาให้มี “24ช่อง” จะให้หาสมมติฐานความพอดีก็อาจจะยาก แต่ข้อนี้สามารถปล่อยให้ “กลไกตลาด” เป็นตัวตัดสิน
“ถ้ามีรายที่ออกจากวงการไปเพราะไม่ไหว เปลี่ยนมือ ก็อาจจะลดจำนวนช่องลง 30-50% ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด”
ฟากผู้ประกอบการ “นวมินทร์ ประสพเนตร” ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.โมโน เทคโนโลยี หรือ MONO ฉายภาพว่าที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีความพยายามในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวิดิจิทัลที่ “มีปัญหาทางการเงิน” สะท้อนให้เห็นจากการ “ขยายเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตประกอบกิจการ” หรือ ไลเซ่นส์ เป็นเวลา 6 ปี ปลดล็อคเรื่องสภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้มีทิศทางดีขึ้น โดยบริษัทเองก็ได้รับประโยชน์ข้อนี้ เพราะว่ามีกระแสเงินสดหมุนเวียนเพื่อดำเนินงานมากขึ้น
“ผมเชื่อว่า กสทช.พยายามหาทางช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แต่ขอบข่ายมีข้อจำกัด เพราะว่ามีกฎระเบียบต้องปฎิบัติตาม”
ถามว่าสถานการณ์ทีวีดิจิทัลห้วงเวลานี้เป็นอย่างไร ?
คำตอบคือผู้ประกอบการยังเผชิญภาวะการแข่งขันที่ “รุนแรง” เพราะยังคงต้องแย่งเม็ดเงินโฆษณาจาก “เค้กก้อนเดียวกันอยู่” สิ่งที่น่าจับตาจึงเป็นเรื่องของการผลิต “คอนเทนท์” โดยผู้ประกอบการที่มีคอนเทนท์ตอบสนองผู้ชมได้จะไม่ได้รับกระทบในการหารายได้
สำหรับแผนการเคลื่อนธุรกิจทีวีดิจิทัลของโมโน 29(MONO29) ยังคงคอนเซ็ปต์ “ฟรีทีวีที่มีหนังดีซีรีส์ดังมากที่สุด" และกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ช่องครองเรตติ้งเป็นอันดับ 4 ซึ่งเป็นการไต่เพิ่มขึ้นของเรตติ้งที่ระดับ 0.8-0.9
ส่วนแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง โมโนจะเดินหน้าเน้นออกอากาศหนังและซีรีส์จากต่างประเทศดังเดิม โดยไฮไลท์อยู่ที่การนำซีรีส์ฟอร์มยักษ์จากจักรวาล ดีซี คอมมิกส์(DC comics) 6 เรื่อง ภาพยนตตร์ “ทรานฟอร์เมอร์” ทั้ง 4 ภาค มาตรึง Eyeball กระชากเรตติ้งให้ขยับขึ้นไปอีก
ด้านอัตราค่าโฆษณาของช่องโมโนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 27,000 บาทต่อนาที และสิ้นปีมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 28,000-30,000 บาทต่อนาที และหากปีหน้ามีการยกเลิกการส่งสัญญาณระบบแอนาล็อก ก็หวังว่าจะได้รับอานิสงค์ด้านเรตติ้งเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.0 ได้ จากนั้นก็มีแนวโน้มที่ช่องจะปรับอัตราค่าโฆษณาเพอ่มเป็นเฉลี่ย 30,000 บาทต่อนาที
เขามองแนวโน้มการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาในไตรมาส 3 ปีนี้ ถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจทีวี เพราะมีลูกค้าเตรียมใช้งบโฆษณามหาศาล มีลูกค้าบางรายเลื่อนการลงโฆษณามาเร็วขึ้นในไตรมาสนี้ และนั่นทำให้บริษัทได้รับอานิสงส์ในแดนบวกด้านรายได้ธุรกิจทีวีมีความโดดเด่นอย่างมาก โดยคาดการณ์รายได้รวมในไตรมาส 3 ของทั้งบริษัทจะสูงกว่า 700 ล้านบาท ในจำนวนนี้จะเป็นรายได้จากธุรกิจทีวีกว่า 500 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัท มีรายได้หลักจากธุรกิจทีวีในสัดส่วน 65-70% ส่วนที่เหลือ 30-35% มาจาก 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจ Subscription และธุรกิจออนไลน์
อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 บริษัทคาดว่าจะรายได้รวม 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับเป้าหมายลดลงจากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 3,300 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทประเมินผลกระทบจากปัจจัยในประเทศในช่วงต้นไตรมาส 4 ปี 2560 ที่อาจส่งผลต่อรายได้ค่าโฆษณาของช่องโมโน29 ราว 50-60 ล้านบาท จากปกติที่ช่องมีรายได้อยู่ที่ 160-170 ล้านบาทต่อเดือน รวมถึงการเลื่อนฉายภาพยนตร์ไทย 1 เรื่องไปเป็นช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 ทำให้มีผลต่อการประมาณการรายได้ในปีนี้เช่นกัน
ที่น่าสนใจคือ ปีนี้คาดว่าบริษัทจะพลิกทำกำไรหลังจากขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง 2 ปี (2558-2559) และแนวโน้มปีต่อไปจะเห็นการเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่อง จากการมีรายได้ค่าโฆษณาธุรกิจทีวีดิจิทัลเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ รวมถึงการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ บริษัทเอเจนซี่โฆษณาต่างๆ หันมาโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น
“หากมีกำไรในปีนี้และปีต่อไป บริษัทมีแผนนำกำไรมาล้างขาดทุนสะสมจำนวน 600 ล้านบาท และยังเน้นควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้ามีต้นทุนด้านคอนเทนท์ไม่เกิน 800-1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปัจจุบันภาระต้นทุนคอนเทนท์อยู่ที่เกือบ 500 ล้านบาท”
ขณะที่ “เทพชัย หย่อง” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ที่บริษัทในเครือประมูลทีวีดิจิทัลได้มา 2 ช่อง คือช่องข่าว Nation Channel และช่องวาไรตี้เอสดี NOW26 รวมมูลค่า 3,538 ล้านบาท ฉายภาพย้อนกลับไปจุดเกิดทีวีดิจิทัลมาจากการประเมินอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในไทย เกิดล่าช้าถึง 25 ปี เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ที่สำคัญยังเกิดท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคมีสื่อทางเลือกมากมาย พร้อมกับมีจำนวนช่องที่มากเกินไป
หลังการประมูลใบอนุญาติจึงเกิดภาวะ“ช่องล้นตลาดทีวิดิจิทัล”รายได้โฆษณาไม่เพิ่มตามที่ผู้ประกอบการคาดหมาย และยังมีปัจจัยความไม่เข้าเป้าในการติดตั้งเสารับสัญญาณทีวีดิจิทัลล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้คนดูทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปตามแผน บวกกับเศรษฐกิจไม่ดี นี่เป็นปัจจัยกระทบอุตสาหกรรมเต็มๆ
ดังนั้นจึงเป็นจังหวะที่ดี กสทช.ควรหารือกับรัฐบาลเพื่อดำเนินการบางอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น เปิดทางให้คืนใบอนุญาติ
“ยอมรับว่าที่หนักสุดคือค่าใบอนุญาติ แม้กสทช.จะขยายเวลาในการชำระค่าใบอนุญาติ แต่ก็ยังเป็นภาระที่สูงอยู่” จึงเป็นเหตุให้หลายรายไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้
ทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ที่มากเกินไปกับจำนวนประชากร 60 ล้านคน ครั้นจำนวนที่เหมาะสมคือเท่าใด เทพชัย บอกว่า “ยากที่จะตอบได้” แต่หากมีการคืนใบอนุญาติ ก็จะเป็นการปูทางสู่การลดจำนวนช่องให้เป็นไปตามกลไกตลาดได้เช่นกัน พร้อมระบุว่า ปัจจุบันเครือเนชั่น อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างการทำงาน นำทรัพยากรต่างๆไปใช้เสริมจุดแข็ง และให้น้ำหนักในการผลิตคอนเทนท์ข่าวและสาระมากขึ้น เพราะประเทศไทย สังคม การเมือง กำลังอยู่ในช่วง“เปลี่ยนผ่าน”จึงทำให้ผู้บริโภคสนใจรับรู้ข่าวสารอยู่มาก
---------------------
เม็ดเงินโฆษณา“ครึ่งปี”หดตัว 10%
เกิดทีวีดิจิทัล การซื้อลงโฆษณาที่ช่องใด ยังใช้เกณฑ์เหมือนเดิม นั่นคือ “เรตติ้ง” วัดความนิยมของรายการ รวมถึงโปรไฟล์ของรายการนั้นๆ ว่าเหมาะสมกับแบรนด์และผลิตภัณฑ์ของลูกค้าหรือไม่ สามารถตอบโจทย์ตรงกลุ่มเป้าหมาย และแบรนด์สามารถนำแบรนด์เข้าไปทำกิจกรรมการสื่อสารหรือการตลาดอะไรได้มากกว่าแค่การโฆษณาหรือเปล่า เช่น ทีวีดิจิทัลบางช่องมีแพลตฟอร์มอื่นๆทั้ง Facebook Live YouTube Live เป็นต้น
นี่เป็นมุมมองจาก“ธราภุช จารุวัฒนะ”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย
ส่วนการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในช่อง one และ AMARIN TV ก็ยังไม่เห็นการซีนเนอร์ยีด้านการซื้อโฆษณาของ “ทุนใหม่” แต่อย่างใด ขณะที่กลุ่มทรู ซึ่งมีทีวีดิจิทัล 2 ช่อง จะได้เห็นการโฆษณาสินค้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ค่อนข้างมาก
เขาบอกว่า ทีวีดิจิทัลเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าในการเลือกซื้อสื่อมากขึ้น แต่กลับกันยอมรับว่าอุตสาหกรรมเกิดในจังหวะไม่ดี ท่ามกลางผู้บริโภครับชมสื่อหลายจอ(Multi-screens)การที่ไทยมีทีวีดิจิทัล24 ช่อง หากยกผลงานวิจัยของสหรัฐจะพบว่าจำนวนที่เหมาะสมกับคนดูเต็มที่คือ 17 ช่อง เพื่อกดรีโมทสลับไปมา
สำหรับการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาทางโทรทัศน์ครึ่งปีแรกมีมูลค่า 35,188 ล้านบาท หดตัว 14% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อแบ่งย่อยพบว่า ใช้จ่ายผ่านช่องเดิม(Old channels) 22,048 ล้านบาท ลดลง 15% ช่องใหม่(New channels) 11,158 ล้านบาท เติบโต 4% เคเบิ้ลทีวี/ดาวเทียม 1,820 ล้านบาท ลดลง 6% และทรูวิชั่นส์ 163 ล้านบาท ลดลง 92%
ส่วนการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 55,266 ล้านบาท ลดลง 10% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณใช้จ่ายลดลง 26% อุตสาหกรรมสื่อสารลดลง 18% กลุ่มที่น่าสนใจมีที่มีการใชจ่ายเพิ่มขึ้นคือท่องเที่ยวเติบโต 100% และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เติบโต 36% อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาในปี 2559 มีมูลค่า 120,062 ล้านบาท