“ดอยคำ”ความท้าทายใหม่ บนปรัชญาเดิม
40 ปีพระราชดำริ พลิกฟื้นป่าแก้ปัญหาชาวเขา จนสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่ผลิตอาหารแปรรูปแบรนด์ที่คนศรัทธา“ดอยคำ”บนความท้าทายใหม่ สังคมเกษตรกรสู่วัยชรา และเทรนด์เกษตรอินทรีย์ ทว่าปรัชญาความเพียรอย่างพระมหาชนก ยังเป็นความจริงเหนือกาลเวลา นำพาธุรกิจยั่งยืน
“ดอยคำ” เกิดขึ้นมาจากพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(ในหลวงรัชกาลที่9) ที่กว้างไกลและลึกซึ้ง ทรงแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและทุกข์ยากของชาวเขา ที่ปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอยทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืชเมืองหนาว และรวมกกลุ่มตั้งสหกรณ์ชาวเขา จนพัฒนาต่อมาเป็นโรงงานหลวงผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อให้เกิดการพัฒนาครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้างประโยชน์จะตกอยู่กับชุมชนและสังคมไทย
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เล่าถึงวิถีความยั่งยืนของดอยคำว่า โครงการในพระราชดำริที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงคิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาชนบท เกษตรกรไทย รวมถึงสังคมไทย พร้อมกับพระราชทานให้ทำการวิจัยและพัฒนา(R&D) ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ 40 ปี (ตั้งแต่ปี2512) เพื่อให้คนไทยและเกษตรกรไทยได้บริโภคอาหารปลอดภัย มีคุณภาพ
ปัจจุบันดอยคำยังคงไม่หยุดที่จะ “แสวงหาองค์ความรู้” ผ่านการร่วมมือจากองค์กรภายนอก ทั้งภาครัฐ และเอกชน เช่น สถาบันอาหาร รวมถึงสถาบันต่างๆทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาอาหารปลอดภัย ปราศจากสิ่งเจือปนทางเคมี ช่วยลดต้นทุน พืชแข็งแรงทนทานต่อโรค หรือภาษาทางชาวบ้านเรียกว่า“พืชมีความสุข ก็ต้านทานโรค”ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้โดยไม่ต้องพึ่งยาฆ่าแมลง
ในอนาคตดอยคำยังวางเป้าหมายของที่จะทำ “สินค้าปราศจากสิ่งเจือปนทางเคมี” ยึดมั่นในแนวทางพระราชดำริต่อไป
“การพัฒนาคุณภาพอาหารได้วิจัยและพัฒนาคุณภาพสินค้าที่ดี เป็นทางเดินที่ยาวไกล เหมือนการว่ายน้ำ โดยที่ยังไม่เห็นฝั่ง ดังเช่นพระมหาชนกที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แต่ทำไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยความอดทน เพียรพยายาม”
ทางเดินของการทำงานร่วมกันกับเกษตรกรที่ปัจจุบันดอยคำมีเครือข่ายเกษตรกรกว่า 5,000 ราย ที่เข้าไปส่งเสริมภายใต้โครงการพระราชดำริ เขายอมรับว่า เป็นเรื่องที่ยากกับการเข้าไปสื่อสารให้ความรู้กับเกษตรกรถึงวิถีการพัฒนาเกษตรที่ถูกต้อง จากในยุครัชกาลที่ 5 ที่ไม่เคยมีสารเคมี เปลี่ยนมาเป็นการเร่งพัฒนาผลผลิตโดยใช้สารเคมีเต็มที่
แล้ววันนี้ต้องการเปลี่ยนกลับไปสู่การ “ไม่ใช้สารเคมี” หรือ “เกษตรอินทรีย์” อีกครั้ง ถือว่ายากกว่าเดิมเป็นร้อยเท่า
“แนวทางพระเจ้าอยู่หัว ร.9 คือให้ความรู้กับเกษตรกรให้มาก มีหน่วยงานที่เข้าไปส่งเสริมให้ความรู้ด้านการเพาะปลูก วิธีการทำเกษตรประณีต เกษตรสมัยใหม่ เป็นแนวทางที่ยากแต่ต้องทำ ดังคำที่ว่า นักการเมืองให้ปลา พระราชาให้เบ็ด เมื่อเกษตรกรหิวทุกมื้อเอาเบ็ดไปตกปลาได้แต่หากเราเอาปลาไปให้ เมื่อปลาหมดแล้วจะทำอย่างไร”
พิพัฒพงศ์ เผยว่า พื้นฐานการศึกษาและองค์ความรู้ของเกษตรกรแตกต่างกัน ความเข้าใจในเกษตรอินทรีย์จึงแตกต่างกัน แม้จะเป็นสิ่งที่ดีกับผู้บริโภค กับตลาด แต่หากให้เปลี่ยนในทันทีไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องใช้ระยะเวลา อดทนทำความเข้าใจอธิบายซ้ำไปซ้ำมา จึงจะเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลง เขาย้ำและว่า
กรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ คือการเปลี่ยนแปลงการปลูกสตรอเบอร์รี่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ราคาขยับขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 400 บาท จากปกติกิโลกรัมละ 80 บาท เกรดเทียบได้กับผลิตผลจากญี่ปุ่น โดยที่มีคนต่อคิวรอซื้อแบบไม่ห่วงว่าราคาแพง นั่นคือรางวัลของการทำดีที่ต้องชูให้เกษตรกรได้เห็น
“ต้องพัฒนาการศึกษา ให้เกษตรกรยอมเปิดใจ เรียนรู้ ไม่มีใครไม่อยากทำของไม่ดีให้คนกิน เพียงแต่พวกเขาไม่รู้ว่าทำได้เกิดผลดีอย่างไร”
ความท้าท้ายของการเปลี่ยนแปลงการเกษตรอีกด้านคือ สังคมเกษตรของไทยมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 50ปี หากไม่มีคนรุ่นหนุ่มสาว หรือคนรุ่นใหม่เข้ามาทำอาชีพเกษตร ไทยจะยกระดับเป็นประเทศเป็น “ครัวของโลก” ได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านใน CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม)
นี่คือคำถามให้คิดต่อถึงอนาคตอุตสาหกรรมเกษตรไทยจะก้าวไปอยู่จุดไหน?
ดอยคำจึงส่งเสริมโมเดลการพัฒนา “เกษตรแปลงใหญ่” โครงการที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรร่วมกันผลิต ช่วยกันลดต้นทุนโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาแล้วแบ่งปันผลผลิต และมูลค่ารายได้กันอย่างเท่าเทียม
พิพัฒนพงศ์ มองยุทธศาสตร์เกษตรแปลงใหญ่ว่า เป็นวิธีการที่ตอบโจทย์การพัฒนาเกษตรกรไทยในระยะยาว ที่ทำสำเร็จแล้วในสวีเดน เดนมาร์ค แต่สำหรับเมืองไทย และวัฒนธรรมอย่างไทย เป็นความยากกว่าล้านเท่าในการเข้าไปเปลี่ยนเปลงวิถีของเกษตรกรไทย ที่มีวัฒนธรรมเฉพาะไทย ที่ต้องส่งเสริมให้เกิดการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
อย่างไรก็ตาม ทางดอยคำได้พัฒนาโครงการนำร่อง โดยการให้ความรู้ในกลุ่มเกษตรกรเล็กๆถึงวิธีการรวมกลุ่มกันผลิตเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีมาผลิต โดยมีพันธมิตรอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.)ที่เป็นผู้ส่งเสริมด้านการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ ผ่านการสนับสนุนทางการเงิน ก็ร่วมมือกันคู่ขนานเพื่อให้เกิดผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ
ตลอดระยะเวลา 40 ปีของการสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาล 9 ทำให้เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ และผู้บริโภคเห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยตลอดซัพพลายเชนให้มีคุณภาพให้สังคมดี ส่งต่อสิ่งดีๆให้ผู้บริโภคตระหนักถึงคุณค่าที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์ของดอยคำ
“มูลค่าแบรนด์ของดอยคำเกิดจากความศรัทธาของคนที่เห็นการทำงาน ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงทำมา 70 ปี ในการพัฒนาวัตถุดิบให้เกษตรกร ผู้บริโภค ได้รับประโยชน์ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเดินหน้าต่อไป และแบรนด์ก็ยิ่งมีมูลค่ามากขึ้นจากเรื่องราวความจริงที่เกิดขึ้นนี้”
ส่วนอนาคตการเติบโตยั่งยืนในพลวัฒน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดอยคำจะยังคงยึดหลักปรัชญาของรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นคำสอนที่เป็นความจริงเหนือกาลเวลา เมื่อทำปัจจุบันให้ดี ดอยคำก็มีความยั่งยืนทางธุรกิจ คือ ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เกษตรกร รับซื้อในราคาเป็นธรรม ให้องค์ความรู้ นำมาแปรรูปผลิตสินค้าที่ดีที่สุด ในราคาที่ระบุชัดเจนถึงส่วนของต้นทุนวัตถุดิบ การบริหารจัดการ และส่วนของกำไร รวมไปถึงการปรับตัวให้เร็วขึ้น
การเติบโตในอนาคตหนีไม่พ้นที่จะต้องขยายตลาดไปต่างประเทศ แต่นั่นเป็นความคิดขั้นต่อไปหลังจากตลาดในประเทศอิ่มตัว เพราะหลักการที่ดอยคำยึดถือ คือ ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ ผลิตสินค้าเลี้ยงคนในประเทศให้เพียงพอ ก่อนส่งออกไปให้คนนอกประเทศ