ICN ขอเวลา3ปี ขึ้นแท่น 'ผู้เล่นรายใหญ่'
เร่งเครื่องธุรกิจ...! 'มนชัย มณีไพโรจน์' หุ้นใหญ่ บมจ.อินฟอร์เมชั่น แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวิร์คส ไม่รอช้าเกาะติดนโยบายรัฐ ผลักดันความสามารถรับงานมูลค่าระดับ 100 ล้านบาทขึ้นไป ขยับฐานะการเงินเติบโตก้าวกระโดด
นโยบายขับเคลื่อน 'เศรษฐกิจยุคดิจิตอล' (Digital Economy) ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กำลังส่งผลดีต่อหุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 120 ล้านหุ้น แบ่งจัดสรร 108 ล้านหุ้น เสนอขายต่อประชาชนทั่วไป และอีก 12 ล้านหุ้น จะเสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในวันที่ 15 ก.ย.นี้ ราคาหุ้นละ 1.84 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท
การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้แน่นอนว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง 'มนชัย มณีไพโรจน์' สัดส่วน 19.42% 'กลุ่มเลาหสมบูรณ์' สัดส่วน 12.75% 'กลุ่มรุ่งเรืองผล' สัดส่วน 12.75% รวมถึง 'เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล' นักลงทุนรายใหญ่เจ้าของพอร์ตหลัก “พันล้านบาท” ถือหุ้น ICN สัดส่วน 4.78% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้นไอพีโอ)
โดย 'เสี่ยปู่' ถือหุ้น ICN ตั้งแต่ปี 2557 ผ่านการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจาก 50 ล้านบาท เป็น 115 ล้านบาท ตอนนั้นผู้ถือหุ้นเดิมไม่มีเงินเพิ่มทุนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหากลุ่มนักลงทุนเข้ามาถือหุ้น ซึ่งกลุ่มของเสี่ยปู่ก็เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวในสัดส่วน 33%
ครานั้น 'เสี่ยปู่' เคยพูดว่า 'ผมมองเห็นว่าอนาคตบริษัทมีการเติบโต และไม่ได้หวังซื้อเก็งกำไร แต่ต้องการถือลงทุนไปเรื่อยๆ' ซึ่งตั้งแต่เข้ามาถือหุ้นแกไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงาน และหลังจากหุ้นเข้าซื้อขายในตลาด 'เสี่ยปู่' ติด 'ไซเลนต์พีเรียด' เป็นระยะเวลา 1 ปี
'มนชัย มณีไพโรจน์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินฟอร์เมชั่น แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวิร์คส หรือ ICN เป็นผู้ให้บริการออกแบบและวางระบบ (System Integrator) ครบวงจร บอกสตอรี่ใหม่ผลักดันฐานะกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek'
ตัดสินใจนำบริษัทเข้าตลาด เขายอมรับว่าเพราะต้องการแก้ไขปัญหา 'ข้อจำกัด' การเติบโตธุรกิจ บริษัทจำเป็นต้องมีเงินระดมทุนเพื่อไปขยายธุรกิจ สะท้อนผ่านเงินระดมทุนเสนอขาย IPO จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนการดำเนินธุรกิจเพื่อรับงานประมูลที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น และคาดว่าหลังจากการระดมทุนครั้งนี้จะทำให้ 'หนี้สินต่อทุน' (D/E) ลดลงต่ำกว่า 1 เท่า จากปัจจุบันที่มี 1.2 เท่า
อีกประเด็นที่ได้จากการเข้าระดมทุน คือ 'การยอมรับของแบงก์' เพราะว่าในอดีตบริษัทจะทำธุรกรรมทางการเงินเกี่ยวกับแบงก์ต้องวางเงินเป็นหลักค้ำประกัน ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ธุรกิจไม่เติบโต เพราะว่าถูกจำกัดด้วยเงินลงทุน ถ้าอยากเติบโตก็ต้องเพิ่มทุนไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถาวร
'ธุรกิจสื่อสารจะต้องดูที่กระแสเงินสดของบริษัทเป็นหลัก อดีตเงินทุน ICN มาจากการเพิ่มทุนผู้ถือหุ้น แต่สุดท้ายเชื่อว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาแบบถาวร ซึ่งการแก้ปัญหาแบบถาวรคือ การนำบริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาด'
หากพิจารณาการเติบโตขององค์กรแห่งนี้พบว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2557-2559) มีรายได้รวม 243.49 ,678.63 และ 570.96 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 0.33 , 5.47 และ 27.11 ล้านบาท โดยเฉลี่ยมีการเติบโต 'ก้าวกระโดด' ทุกปี
ทว่า หลังจากนี้บริษัทจะสามารถ 'กำจัดข้อจำกัดการเติบโต' และเชื่อว่าบริษัทจะมีการเติบโตอย่าง 'โดดเด่น' ได้ในอนาคต หลังมีเงินลงทุนทำให้ขีดความสามารถในการเข้าประมูลงานโครงการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้าบริษัทขยับตัวขึ้นมาเป็น 'หนึ่งในผู้เล่นรานใหญ่' จากอดีตเคยรับงานขนาดมูลค่าโครงการเฉลี่ยประมาณ 30-40 ล้านบาท แต่ปัจจุบันก็เริ่มมองโครงการที่มีมูลค่าประมาณ 100-500 ล้านบาทขึ้นไป สอดรับกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามนโยบายภาครัฐเรื่องของ Digital Economy
ปัจจุบัน 'ธุรกิจสื่อสาร' คิดเป็นมูลค่าตลาดราว '5แสนล้านบาท' มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7-11% โดยตลาดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 'กลุ่มอุปกรณ์' และ 'กลุ่มบริการ' ซึ่งตลาดที่เติบโตสูงจะเป็นตลาดบริการ ส่วนตลาดอุปกรณ์จะเติบโตต่อเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น การประมูลใบอนุญาต (ไลน์เซนส์) 4G เป็นต้น
บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม คือ 1.ธุรกิจรับเหมาวางระบบ (Turnkey Project) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 42% โดย 'ระบบสื่อสารโทรคมนาคม' (Telecommunication System) บริษัทมีความเชี่ยวชาญในระบบสื่อสารโทรคมนาคม สามารถออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้งระบบโทรคมนาคม ให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมระดับประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน โดยบริษัทสามารถรับเหมาวางระบบต่างๆ
ประกอบด้วย 'ระบบสื่อสารใช้สาย' (Wired Network) ซึ่งประกอบด้วย อุปกรณ์ Transport Network, อุปกรณ์ Access ,Network และสายเคเบิลใยแก้วนำแสง 'ระบบสื่อสารไร้สาย' (Wireless Network) ซึ่งประกอบด้วย อุปกรณ์ Microwave Radio, Broadband , Wireless Access (BWA) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบ 3G/4G Mobile Network และ 'อุปกรณ์อื่นๆ' เช่น Mobile Device Management (MDM) และอุปกรณ์ระบบ Synchronization
'งานก่อสร้างและวางระบบไฟฟ้า' (Construction and Electrical systems) เพื่อให้บริษัทสามารถเป็น System Integrator ได้ในหลากหลายธุรกิจ บริษัทจึงได้เริ่มธุรกิจนี้ขึ้นในปี 2559 โดยสามารถให้บริการต่างๆ คือ 'บริการวางระบบไฟฟ้า' สามารถให้บริการในการวางระบบไฟฟ้า รวมถึงเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งงานระบบที่เกี่ยวข้องภายในศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ด้วยมาตรฐานสากล
'ระบบ SCADA' (Supervisory Control and Data Acquisition) บริษัทมีทีมงานและพันธมิตรทางธุรกิจที่มีประสบการณ์และผลิตภัณฑ์ที่พร้อมติดตั้งและให้บริการระบบ SCADA ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-time ที่ใช้ในการตรวจสอบสถานะตลอดจน ควบคุมการทำงานของระบบควบคุมในอุตสาหกรรมและงานวิศวกรรมต่างๆ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บอกต่อว่า ช่วงไตรมาส 3 ปี 2557 บริษัทเปลี่ยนนโยบายการทำธุรกิจโดยเริ่มทำธุรกิจเป็นผู้รับเหมาหลัก (Main Contractor) ในการวางระบบโทรคมนาคม และได้มีการขยายฐานลูกค้าไปยังรัฐวิสาหกิจรายใหม่และองค์กรเอกชนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รายได้รวมของบริษัทลดลงในปี 2559 เป็นผลมาจากการชะลอการลงทุนขององค์กรรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นลูกค้าหลักของบริษัท
ทว่า ปัจจุบันลูกค้ากลับมาลงทุนมากขึ้นกว่าปีก่อน และบริษัทมีการขยายฐานลูกค้าทั้งหน่วยงานราชการ และองค์กรเอกชนมากขึ้น ประกอบกับได้เข้าประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ เช่น งานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
'เราเคยรับงานมูลค่าไม่สูง แต่หลังมีเงินระดมทุนเราจะรับงานที่มีขนาดโครงการที่ใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งการระดมทุนในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้ารับงานใหม่ๆ ในอนาคตของเรา'
2.ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์และบำรุงรักษา (Supply and Maintenance) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 57% โดยธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์โครงข่ายระบบสื่อสารโทรคมนาคม (Supply) บริษัทจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมทุกประเภท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์ที่ลูกค้าซื้อเก็บสำรองไว้ใช้ทดแทน
ธุรกิจให้บริการบำรุงรักษาโครงข่ายระบบสื่อสารโทรคมนาคม (Maintenance) บริษัทสามารถให้บริการบำรุงรักษาระบบโทรคมนาคมไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายระบบสื่อสารโทรคมนาคมแบบใช้สายหรือไร้สาย ทั้งการบำรุงรักษาในเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) การบำรุงรักษาเมื่อเกิดเหตุเสีย (Corrective Maintenance) และการบำรุงรักษาแบบปรับปรุง ปรับเปลี่ยน หรือโยกย้าย
เขาบอกว่า แผนธุรกิจในอนาคตระยะ 3-5 ปี บริษัทอยากเห็นสัดส่วนรายได้ธุรกิจให้บริการบำรุงรักษาและธุรกิจรับเหมาวางระบบอยู่ที่ 50:50 จากปัจจุบัน 57:42 โดยธุรกิจให้บริการบำรุงรักษาถือว่าเป็นพอร์ต 'รายได้ประจำ' (Recurring Income) เนื่องจากลูกค้ากลุ่มดังกล่าวจะจ่ายเงินสม่ำเสมอตามสัญญา 'เราคงเน้นงานที่เป็นพอร์ตรายได้ประจำ แต่พอร์ตที่เตือนเต้นอย่างงานวางระบบก็ต้องมีไว้บาง'
สำหรับลูกค้าในธุรกิจให้บริการบำรุงรักษาที่บริษัททำให้ อาทิ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE , บริษัท ทีโอที จำกัด (TOT) , บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ,กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเรายังไม่ได้รับงานทั้งหมดทำเพียงพื้นที่เท่านั้น และยังมีพื้นที่อื่นๆ อีกที่บริษัทยังไม่ได้เข้าไปรับงาน เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน ฉะนั้น หากมีเงินทุนมากเพียงพอ บริษัทก็สามารถรับงานได้มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน งานให้บริการบำรุงรักษาช่วงนี้บริษัทรับงานแค่เขตตะวันออก เราอาจจะเข้ามารับงานในพื้นที่ภาคกลาง 'อดีตเราเรียกเราเข้าไปรับงานเพิ่ม แต่บริษัทขอเบรกไว้ก่อน เพราะว่าทุนเรามีจำกัด'
วิเคราะห์ผลประกอบการครึ่งปีหลังจะเติบโตกว่าครึ่งปีแรกที่มีรายได้ 377.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115.02% และกำไรสุทธิ 23.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 318.23% โดยผลประกอบการในครึ่งปีแรกที่ออกมาสามารถทำได้ใกล้เคียงกับทั้งปีก่อนแล้ว
ขณะที่มองรายได้และกำไรสุทธิในปี 2560 คาดว่าจะเติบโตอย่างโดดเด่น เมื่อเทียบกับปี 2559 ตามการรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) ที่ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 431.70 ล้านบาท ซึ่งคาดจะทยอยรับรู้รายได้ราว 90% ในปีนี้ รวมถึงลูกค้ากลับมาลงทุนมากขึ้นกว่าปีก่อน และการขยายฐานลูกค้าทั้งหน่วยงานราชการ และองค์กรเอกชนมากขึ้น
สำหรับ ภาพรวมธุรกิจสื่อสารในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “ตลาดซบเซา” สะท้อนภาพชัดเจนได้จากบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ที่พบว่าผลการดำเนินงานชะลอตัว แต่หลังจากปี 2560 เริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากภาครัฐออกนโยบายการลงทุนแบบจริงๆ จังๆ อย่างเช่นนโยบายไทยแลนด์ 4.0
'ในเมื่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นนโยบายหลักที่ออกมาจากรัฐบาล ฉะนั้น ทุกหน่วยงานราชการก็ต้องสนองตามนโยบายดังกล่าว เป็นเหตุให้ทุกหน่วยงานก็ต้องคิดตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0'
ดังนั้น เมื่อเกิดความคิดลงทุนด่านแรกคงหนี้ไม่พ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่มองว่าอุตสาหกรรมสื่อสารกำลังฟื้นตัวแล้ว โดยในปีนี้จะเห็นโครงการใหญ่ๆ ออกมาเช่น โครงการประชารัฐ มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท รวมทั้งเริ่มเห็นการขยับตัวลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่ในช่วงที่ผ่านมาไม่มีการลงทุน แม้แต่งบโฆษณายังไม่มีออกมา
'มนชัย' ทิ้งท้ายบทสนทนา ว่า ถ้าเรามีเงินทุนเราสามารถเติบโตมากกว่านี้ เพราะว่าตลาดยังไปได้อีกมาก รวมทั้งพาร์ทเนอร์ของบริษัทก็ยังอยู่