หนุนภาคธุรกิจไทย‘ผู้นำ’สร้าง‘เมืองสีเขียว’เทียบมหานครโลก

หนุนภาคธุรกิจไทย‘ผู้นำ’สร้าง‘เมืองสีเขียว’เทียบมหานครโลก

ขณะที่มหานครทั่วโลกพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตชุมชนแต่ในประเทศไทย แม้เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวแต่ยังมีความท้าทายอีกหลายด้าน และอีกหลายรูปแบบความร่วมมือที่ต้องผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม

ในการเสวนา “Blue, Green, and Culture: Building the future together” ภายในงาน IFLA ASIA-PACIFIC REGIONAL CONGRESS  จัดโดยสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจตระหนักรู้ในความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และสังคม อันจะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน

อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในรอบ 12 ปี กรุงเทพฯ พัฒนาเปลี่ยนโฉมโดยมีตัวแปรคือ “การขนส่งมวลชนระบบราง”  ทำให้คนที่อยู่อาศัยรอบนอกเข้ามาทำงานในตัวเมืองมากขึ้น แต่เมื่อมีความหนาแน่น ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ "ความสมดุลที่ดีระหว่างพื้นที่สีเขียวที่เป็นคุณภาพชีวิตแต่ยังพัฒนาในบริบทความทันสมัยคู่กันได้

การพัฒนาทั้งระบบไม่สามารถรอการพึ่งพาจาก กทม. ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบได้โดยตรง เนื่องจากมีข้อจำกัดในเชิงขอบเขตอำนาจการบริหาร ดังนั้นภาคธุรกิจเอกชนและชุมชนจึงต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกัน สร้างภาวะสมดุลสู่การเป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นเมืองสีเขียวเช่นเดียวกับมหานครใหญ่ๆ ของโลก

การพัฒนาเมืองที่ล่าช้านั้น แม้ไม่อาจใช้เรื่องข้อจำกัดทางอำนาจการบริหารมาเป็นข้อแก้ตัวได้ แต่หากระดมความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องวางทิศทางและเป้าหมายร่วมกันที่ชัดขึ้นเชื่อว่ายังมีความหวังโดยเฉพาะภาคธุรกิจที่น่าจะมีบทบาทตัวนำหลักและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาคมได้”

นอกจากนั้น ควรปรับการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับพื้นที่ได้รับผลกระทบต่อการปรับภูมิทัศน์ให้ยอมรับต่อการพัฒนาที่มีขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมาอุปสรรคในการพัฒนาของไทยขาดการสื่อสารให้เห็นประโยชน์

ไทยยังมีพื้นที่ว่างเหมาะกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอีกมากเช่นพื้นที่การรถไฟบริเวณมักกะสันที่ประชาชนลงชื่อกันเพื่อขอพัฒนาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ตัวอย่างเหล่านี้สามารถผลักดันให้เป็นโครงการริเริ่มให้เห็นการพัฒนาที่สัมพันธ์สอดคล้องระหว่างสิ่งแวดล้อมสังคมและวัฒนธรรมได้”

วิเชียร พงศธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ กล่าวว่า ความร่วมมือรัฐเอกชน ภายใต้โมเดล PPP (Public–Private Partnership) ที่เดิมจะมีเฉพาะโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ควรเริ่มขับเคลื่อนโครงการย่อยด้านวัฒนธรรมชุมชนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงพิจารณาการใช้โมเดล PES (Payment for Ecosystem Service) หรือการจ่ายค่าตอบแทนบริการระบบนิเวศ  ซึ่งผู้พัฒนาหรือได้รับประโยชน์จากโครงการต้องจ่ายชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มได้รับความนิยมในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อการอนุรักษ์ในระยะยาว

กุญแจความสำเร็จในการพัฒนาเมืองคือ Collaboration หรือความร่วมมือ โดยภาคธุรกิจเอกชนสามารถสร้างแพลตฟอร์มกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาคมที่เข้มแข็งได้

ขณะที่ ซู หลิน ซูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการวันแบงค็อก กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีประชากร 10.5 ล้านคน นอกจากผู้อยู่อาศัยแล้วยังมีการเข้าออกของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพราะมีสนามบินนานาชาติหลัก 2 แห่ง อีกทั้งได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ 1 ของโลกจากมาสเตอร์การ์ด 2 ปีซ้อน มีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในฐานะเมืองเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ในภูมิภาค

ความท้าทายต่อไปที่ควรตั้งคำถาม คือ จะทำอย่างไรให้เป็นเมืองที่น่าอยู่? ซึ่งในฐานะภาคเอกชนวางแผนแม่บทในการพัฒนาโครงการของตัวเองให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่งสำหรับเชื่อมโยงผู้คนทำให้เดินทางเข้าถึงสะดวกกระตุ้นส่วนร่วมในการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมไว้แล้ว”

ดังนั้น บนพื้นที่กว่า 104 ไร่ จึงกำหนดพื้นที่เปิดโล่งไว้ราว 50% ของผังรวมทั้งหมดและสร้างจัตุรัสและสวนเพิ่มเติมเมื่อเทียบมหานครโลกอย่างลอนดอน มีจัตุรัสในเมืองกระจายกว่า 400 แห่ง ส่วนแมนฮัตตัน มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตและสร้างเอกลักษณ์ให้เมืองในฐานะแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยว

เดเมียน ถัง นายกสมาพันธ์ภูมิสถาปนิกนานาชาติภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค มองว่า การพัฒนาโดยเริ่มจากหน่วยย่อยที่สุด เช่น มหาวิทยาลัย ช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ให้เจ้าของบ้าน, อาคาร, สร้างพื้นที่สีเขียวของตัวเอง โดยใช้นวัตกรรมที่คิดค้นสร้างความเป็นไปได้ในเนื้อที่จำกัด เช่น สวนลอยฟ้าบนระเบียง เมื่อเกิดความตระหนักแล้วจะสร้างแรงกระเพื่อมขยายวงกว้างไปได้ง่ายกว่า

สำหรับกรุงเทพฯ มีข้อเสนอว่าควรปรับภูมิทัศน์ของถนนที่สวยงามและรื่นรมย์สำหรับผู้สัญจร ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ เส้นทางจากสนามบินถึงตัวเมืองมีต้นไม้ใหญ่ตลอดทางสร้างความประทับใจแรกให้ผู้มาเยือน แต่ไทยยังไม่มีการเก็บสายไฟลงใต้ดินครบทุกเส้นทาง จึงพบว่าเกิดการตัดต้นไม้เพื่อเลี่ยงสายไฟฟ้าอีกด้วย ดังนั้นควรวางแผนแม่บทระยะยาวในการปลูกต้นไม้อาจเริ่มจากเส้นทางที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศก่อน

ด้าน ฟรานส์ คลากสส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า การบูรณาการทำงานของภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐเพื่อพัฒนาภูมิทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นเทรนด์ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดในระยะยาวในไทย

ในฐานะภาคธุรกิจที่ต้องการมีส่วนร่วมสร้างสเปซด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนเริ่มพัฒนาโครงการห้างสรรพสินค้าที่มีพื้นที่สีเขียวทั้งภายในอาคารกว่า4,000ตร.ม.เพื่อให้ผู้คนเข้ามาพักผ่อนรวมถึงร่วมกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและกทม.พัฒนาพื้นที่สาธารณะยกระดับนอกอาคารห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียมและเอ็มควอเทียร์เพื่อตอบโจทย์ด้านการเดินทางเข้าถึงที่สะดวกของคนทั่วไป

'ทีซีซี'หนุนโครงการเอื้อสิ่งแวดล้อม

ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด ในเครือทีซีซีกรุ๊ป ในฐานะผู้ลงทุนโครงการเดอะวันแบงค็อก กล่าวว่า โครงการมีกำหนดก่อสร้างต้นปี 2561จะให้ความสำคัญกับ “โอเพ่นสเปซ” สร้างการเข้าถึงที่สะดวกสำหรับผู้มาเยือนและวางเป้าหมายให้ทุกโครงการภายใต้การพัฒนาของทีซีซีจะสร้างในมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ “เกินกว่า” เคพีไอ กทม.กำหนด

การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการหวังผลระยะยาว ซึ่งการร่วมมือระหว่างเอกชนและมีหน่วยงานรัฐสนับสนุน เช่น กำหนดสัดส่วนด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะสร้างศักยภาพของเมืองที่ดีในระยะยาว