ง่าย -ปลอดภัย- สบายใจ UMT ตอบโจทย์คนเมืองเรื่องเดินทาง
อยากช่วยแก้ปัญหา “รถติด” ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ๆทำให้ผู้คนเดินทางได้อย่างสะดวกสบายขึ้น
ก็คือ เป้าหมายของ “เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค” (Urban Mobility Tech:UMT) เจ้าของโปรดักส์ “Tuk Tuk Hop”
บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งจากการรวมตัวของบุคลากรที่มากประสบการณ์ทางด้านยานยนต์ ได้แก่ ดร. กฤษดา กฤตยากีรณ กรรมการผู้จัดการ ,ดร. เมธา เจียรดิฐ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี (CTO),พิพัฒน์ ตั้งสิริไพศาล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม (Chief Engineer) และ ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (Business Development)
ยกตัวอย่างดร.กฤษดา โปรไฟล์ของเขาจบปริญญาตรีวิศวกรรมด้านยานยนต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้รับทุนบริษัทเชลล์ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านเดียวกันที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ (ระหว่างเรียนเขาทำวิจัยเรื่องรถยนต์ไร้คนขับ หรือ Autonomous Vehicle โฟกัสที่รถแข่งไร้คนขับด้วย) พอเรียนจบก็ทำงานในบริษัทรถยนต์ที่อังกฤษเป็นเวลา 2 ปี แต่เพราะทนคิดถึงบ้านไม่ไหวจึงกลับเมืองไทยมาเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาฯ ไม่นานก็ได้รับทุนฟุลไบรท์ไปเรียนต่อปริญญาเอกด้านยานยนต์ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา แล้วกลับเมืองไทยมาทำงานเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่บอสตัน คอนซัลติ้งประมาณ 3 ปีจึงตัดสินใจลาออกมาเป็นผู้ประกอบการ
"ความรู้ด้านบิสิเนสผมก็มีพอสมควรแล้ว มองว่าถึงเวลาออกมาทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ผมมองว่าในเรื่องของอุตสาหกรรมด้านการขนส่ง การเดินทางของประเทศไทยอยู่ในจุดที่กำลังจะเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี Electric Vehicle หรือ Autonomous Vehicle ตลอดจน Ride Sharing ก็ตาม ผมได้ติดตามแนวโน้มมาโดยตลอดและเห็นว่ามีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน"
ภายในระยะเวลาไม่ถึงปี เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค มีการพัฒนาโปรดักส์ได้ทั้งหมด 3 โปรดักส์ ก็คือ หนึ่ง แอพ Tuk Tuk Hop สอง รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (ออกแบบและผลิตเอง) และ สาม โปรดักส์ใหม่ยังไม่เปิดเผย (เปิดตัวกลางปีนี้)
Tuk Tuk Hop จะโฟกัสกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งดร.กฤษดายืนยันว่าเป็นธุรกิจที่ถูกกฏหมายทุกประการ เพราะตัวรถก็เป็นรถยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฏหมาย เวลานี้มีจำนวน 20 คัน คนขับก็มีใบขับขี่รถสาธารณะที่ถูกต้องตามกฏหมาย ทั้งยังมีการซื้อประกันพิเศษเพิ่มเพื่อคุ้มครองลูกค้าอีกด้วย
"เรามีการสกรีนคนขับด้วยตัวเองด้วยการให้เขาลองขับพาไปยังที่ต่าง ๆเพื่อดูว่าเป็นอย่างไร และระหว่างให้บริการลูกค้าก็สามารถให้เรตติ้งได้ตลอดเวลา ถ้าพบว่าใครมีปัญหาเราจะลงไปดูแลทันที ซึ่งคนขับที่เข้ามาวิ่งกับเราจะเป็นลักษณะเหมา คือเราจะรับความเสี่ยงให้ มีลูกค้าหรือไม่มีลูกค้า เราก็มีรายได้ให้เขาและเป็นตัวเลขที่จูงใจอย่างแน่นอน"
การบริการของTuk Tuk Hop แตกต่างจากตุ๊กตุ๊กโดยทั่วไป คือเป็นลักษณะเหมาจ่าย ลูกค้าจ่ายแค่ครั้งเดียวก็ขึ้นเที่ยวภายในเกาะรัตนโกสินทร์ได้ทั้งวัน จ่ายครั้งเดียวจะขึ้นกี่ครั้งก็ได้ ภายในเวลา 8.30-18.00 น. และไม่มีการปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่พาออกนอกเส้นทาง เพราะมีจีพีเอสติดตามอยู่ตลอด (แอพยังมีข้อมูลเพื่อให้นักท่องเที่ยวค้นหาเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว เวลาเปิดปิด และค่าเข้าชม)
“ที่ทำมากว่า 10 เดือน ถือว่ามีการตอบรับที่ดี เรามีลูกค้าที่จ่ายเงินไม่ได้มาใช้บริการฟรีอยู่หลายพันราย ช่วงแรกเราให้ทดลองขึ้นฟรีก่อนแค่ 2 อาทิตย์จากนั้นก็เก็บเงินมาโดยตลอด จำนวนทริปที่เราทำมาก็เกินหมื่นเที่ยวแล้ว”
ถึงจุดคุ้มทุนหรือยัง? เขาบอกว่าธุรกิจทำกำไรได้ในบางวันแต่ไม่ใช่ทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่นี้ที่ไม่เพียงนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นแต่มีกลุ่มลูกค้าคนไทยมาใช้บริการพาไปไหว้พระ 9 วัดด้วย เขาคาดว่าประมาณปลายปีนี้น่าจะถึงจุดคุ้มทุน นั่นหมายถึงต้องมีจำนวนลูกค้าประมาณ 20-30 เที่ยวต่อวัน
อย่างไรก็ดี เมื่อเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวทำให้มีความท้าทายในเรื่องของการ “ใช้ซ้ำ” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของทุกธุรกิจ มีน้อยมากที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยวซ้ำ หรืออาจมีที่กลับมาเที่ยวที่ประเทศเดิมแต่มักจะไม่ไปเที่ยวสถานที่เดิม อีกทั้งการท่องเที่ยวยังมีช่วงไฮซีซั่นโลว์ซีซั่น
"ที่เราหวังคืออยากให้มันเป็น hop on hop off เหมือนเวลาไปเที่ยวอังกฤษ ที่มีรถบัสสีแดงให้เราขึ้นชมทั่วเมือง เวลาที่คนต่างชาติมาเมืองไทยก็มี Tuk Tuk Hop ซึ่งในอนาคตเรามีแผนจะขยายพื้นที่ไปมากกว่าเกาะรัตนโกสินทร์"
ส่วนรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้านั้น ที่ทำก็เพื่อตอบโจทย์ของบรรดาผู้ก่อตั้งบริษัทเป็นหลัก เนื่องจากเห็นว่ารถตุ๊กตุ๊กบนท้องถนนทุกวันนี้มีข้อจำกัด คือมีรูปทรงที่อาจพลิกคว่ำได้ง่าย พวกเขามุ่งไปที่ประเด็นของความปลอดภัย
"เราเริ่มใหม่เลยเพราะจะสามารถวางรูปแบบตัวรถทำให้มันปลอดภัยได้ ซึ่งทางลูกค้าเองก็มักจะบ่นว่าการขึ้นลงลำบาก ต้องปีนขึ้นปีนลง เวลานั่งก็มองไม่เห็นวิวเพราะหลังคาต่ำเลยบังวิว ซึ่งเราจะแก้จุดบอดทั้งหมด ส่วนเรื่องของสิ่งแวดล้อมจะตามมา ซึ่งเราไม่ได้ลีดด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เน้นที่ความปลอดภัยก่อน"
ดร.กฤษดา เล่าว่าที่จริงพวกเขาสนใจเรื่องของตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าและการแชริ่งมากกว่า แต่ที่ต้องเริ่มด้วย Tuk Tuk Hop ก็เพราะติดข้อจำกัดการผลิตรถรวมถึงการจดทะเบียนต้องใช้เวลา แต่ทำไปทำมาก็ได้เห็นว่าตุ๊กตุ๊กแบบดั้งเดิมแม้มีข้อบกพร่องแต่ก็มีเสน่ห์ในตัวเองและควรรักษาเอาไว้
"ทีมของเราก็คุยกันอยู่เรื่อยๆ ว่าตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร ถ้าขายมันก็น่าจะขายได้ในระดับหนึ่ง แต่เราคิดว่าจุดแข็งของเราอยู่ที่ระบบ ตัวรถไฟฟ้าที่ทำขึ้นมาจะมีสมองกลฝังอยู่ สามารถควบคุมการใช้พลังงานของรถได้ จริง ๆเราไม่ได้ยึดติดกับมันมากที่ทำเพราะเราไม่เห็นใครทำได้ถูกใจอย่างที่ต้องการก็เลยทำเองขึ้นมา แต่การผลิตพวกนี้มันเป็นวอลลุ่มเกม วันดีคืนดีเกิดจีนอาจอยากผลิตขึ้นมา ถ้าเราทำวอลุ่มสู้ไม่ได้ก็ยากที่จะแข่ง รายได้น่าจะว่าด้วยเรื่องของระบบมากกว่า"
ในหมายเหตุว่า มีการนำเอารถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่ออกแบบและผลิตไปทดลองวิ่งให้บริการใน Tuk Tuk Hop คละกับตุ๊กตุ๊กธรรมดาด้วย เนื่องจากมันยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ คงยากที่จะสร้างความยอมรับได้ง่าย ๆ ก็เลยต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดก่อนว่ามันเวิร์คจริง ๆ
ดร. กฤษดา มั่นใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นำไปสู่เป้าหมายที่มุ่งจะตอบโจทย์การเดินทางในเมือง ยกตัวอย่างกรณีของ Tuk Tuk Hop ที่เปิดบริการในเกาะรัตนโกสินทร์เพราะเป็นพื้นที่ที่เปรียบเหมือน “หลุมดำ” ไม่มีทั้ง BTS และ MRT เข้าถึง และแม้ว่าจะเดินทางมาถึงแล้วแต่การเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งก็ไม่ง่าย
"เรายังเห็นปัญหา First Mile และ Last Mile จาก BTS และ MRT ถ้าจะไปต่อยังสถานที่ที่ต้องการจะทำอย่างไร วิชั่นที่พวกเรามองไว้ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้คนกรุงเทพหรือคนในเมืองสามารถใช้ Mass Transit ได้อย่างง่ายดาย ปลอดภัย สบายใจ ถ้าทำได้คนขับรถน่าจะมีน้อยลง ช่วยแก้ปัญหารถติดได้ มันเป็นปัญหาที่มีความหมายที่ต้องแก้ไข จริง ๆเราเองก็อยากไปพาร์ทเนอร์กับทาง BTS และ MRT เพราะคิดว่าเกื้อหนุนกัน โดยเขาเป็นเส้นทางหลัก หน้าที่ของเราก็คือ การทำให้ผู้คนไปคอนเน็คกับเขาให้ได้"