ปตท.กำไรพุ่ง 42.9% แตะ 1.35 แสนลบ.
"ปตท." เผยกำไรสุทธิปี 60 อยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.9% จากระดับ 9.46 หมื่นล้านบาทในปี 59 หลังราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
บมจ.ปตท. (PTT) เผยกำไรสุทธิปี 60 เติบโต 42.9% จากปี 59 มาที่ระดับ 1.35 แสนล้านบาท ขานรับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นหนุนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับเพิ่มขึ้นด้วย พร้อมคาดปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยที่ 60-65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ค่าการกลั่นเฉลี่ยที่ 6-7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนราคาปิโตรเคมีทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ประเมินความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติช่วง 5 ปี (ปี 60-64) ลดลงเฉลี่ยปีละ 1.4% ตามแนวโน้มการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าลดลงหลังจากภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าเองมากขึ้น
สำหรับปี 60 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 1.99 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1% จากปี 59 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ,กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นเมื่อเทียบกับปีก่อน ตามราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ที่เพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งราคาเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจาก 41.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 53.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือ 28.8% อย่างไรก็ตามธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มีรายได้ขายลดลงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากและปริมาณขายที่ปรับลดลง แม้ว่าราคาขายจะเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ
โดยในปีนี้ปตท.และบริษัทย่อยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 3.45 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากธุรกิจการกลั่นตามค่าการกลั่นทางบัญชี (Accounting GRM) ที่สูงขึ้น โดยหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกับวัตถุดิบ (Crack Spread) ของน้ำมันเตาและดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่ากำไรจากสต็อกน้ำมันจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 59
นอกจากนี้ธุรกิจก๊าซธรรมชาติในส่วนของโรงแยกก๊าซฯ มีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่อิงกับราคาปิโตรเคมีปรับสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนก๊าซฯลดลง และปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่โรงแยกก๊าซฯอีเทน (Ethane Separation Plant: ESP) และโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 มีซ่อมบำรุงใหญ่ นอกจากนี้ยังมีกำไรเพิ่มขึ้นจากธุรกิจการจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ
ปตท.และบริษัทย่อย มีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลง 1.24 หมื่นล้านบาท หรือ 9.7% ในปี 60 โดยหลักมาจากบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่มีการปรับปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วมจำนวน 7.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.4% จากปี 59 โดยหลักเพิ่มขึ้นจากบริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC) ที่มีราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ในปี 60 มีกำไรจากตราสารอนุพันธ์ 693 ล้านบาท จากปี 59 ที่มีขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ จำนวน 8.98 พันล้านบาท โดยหลักเพิ่มขึ้นจากสัญญาประกันความเสี่ยงทางการเงินและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของ PTTEP ,บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ ปตท. นอกจากนี้ยังมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เพิ่มขึ้น 9.18 พันล้านบาท เป็น 1.37 หมื่นล้านบาท โดยหลักมาจาก ปตท.ที่มีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการรับและจ่ายชำระเงินจากลูกหนี้ เจ้าหนี้การค้าและเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้น และจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ปตท. และบริษัทในเครือโดยส่วนใหญ่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง (Unrealized FX Gain) เพิ่มขึ้นจากเงินกู้ยืมสกุลเงินต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในปี 60 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ (Non-recurring Items) โดยมีรายการที่สำคัญได้แก่ การขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ 2.48 หมื่นล้านบาท โดยหลักจากขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์จากแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในต่างประเทศของ PTTEP จำนวน 1.85 หมื่นล้านบาท ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ถ่านหินของบริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเม้นท์ จำกัด (PTTGM) จำนวน 4.23 พันล้านบาท และขาดทุนด้อยค่าสินทรัพย์ของบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) จำนวน 2.29 พันล้านบาท นอกจากนี้มีกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุน 2.67 พันล้านบาท โดยหลักจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) และปตท. มีรายได้เงินปันผลจากกองทุนรวม 4.31 พันล้านบาท
ในปี 60 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.9% จากระดับ 9.46 หมื่นล้านบาท ในปี 59
ปตท. ยังประเมินแนวโน้มสถานการณ์ในปี 61 ด้วยว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 6-7 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามภาพรวมตลาดที่คาดว่าจะทรงตัว
ส่วนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยรวม คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง โดยราคา HDPE มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 1,255 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามราคาเอทิลีนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และจากภาวะตลาดในจีนที่ยังตึงตัว ขณะที่ราคา PP คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,221 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน สำหรับราคา PX คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 862 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน จากความต้องการโพลีเอสเตอร์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และการห้ามนำเข้า PET ที่ผ่านการรีไซเคิลของจีน แม้ว่าผลผลิตจากโรงงานตั้งใหม่จะเป็นปัจจัยกดดันไม่ให้ราคาขึ้นสูงมากนัก ในขณะที่ราคา BZ คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 922 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน
ด้านแผนงานของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ ปี 60-64 ลดลงเฉลี่ย 1.4% ต่อปี ตามสถานการณ์ปัจจุบันที่การผลิตไฟฟ้าของประเทศจาก 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง เนื่องจากเอกชนมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง นอกจากนี้ในระยะยาว ความต้องการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าก็ปรับลดลงกว่าที่คาดการณ์เดิม โดยคาดว่าจะเข้าไปทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เพียงบางโรง และทดแทน แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ที่ 30% โดยคาดว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) อาจเกิดได้ตามที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้เดิม
ส่วนโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปตท.จะจัดหา LNG ด้วยสัญญาระยะยาวเพิ่มเติมจากสัญญา Qatargas / Shell / BP และ Petronas ที่มีอยู่ ภายในปี 60 และปตท.มีแผนที่จะมี LNG contract ในสัญญาระยะยาวเป็นส่วนใหญ่ ของแผนการนาเข้า LNG ทั้งหมด ส่วนแผนงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) มีนโยบายเน้นการขายก๊าซฯแบบ Wholesale และส่งเสริมภาคเอกชนในการลงทุนสถานีบริการ
ด้านแผนซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซฯประจำปี 61 ได้แก่ โรงแยกก๊าซหน่วยที่ 2 จะลดกำลังการผลิตเพื่อซ่อมบำรุง ช่วงเดือน มี.ค.61 (Shutdown 16 วัน) และโรงแยกก๊าซอีเทน ลดกำลังการผลิตลง 40% (16 วัน เนื่องจาก GSP2 shutdown) ,โรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 3 จะลดกำลังการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 61 (Shutdown 18 วัน) และโรงแยกก๊าซอีเทน ลดกำลังการผลิตลง 60% (18 วัน เนื่องจาก GSP3 shutdown) ,โรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 ลดกำลังการผลิตลง 40% ช่วง ก.ย. 61 (Turndown 10 วัน)