ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์โต15.5% มูลค่า1.9หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์โต15.5% มูลค่า1.9หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

“สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย” เผยตัวเลขส่งออก ปี 2560 เติบโตกว่า 15.5% พร้อมเผยยุทธศาสตร์ผลักดันความร่วมมือ ปี 2561 – 2563



สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (Thai Auto – Parts Manufacturers Association) หรือ TAPMA (แท็ปม่า) เผยตัวเลขตลาดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ปี 2560 มูลค่าสูงถึง 19,844.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 15.50 เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปมากที่สุด พร้อมเผยยุทธศาสตร์สมาคมฯ ปี 2561 – 2563 เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง และกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลก

ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์โต15.5% มูลค่า1.9หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า “ในปี 2560 ที่ผ่านมานั้น นับว่าเป็นอีกปีที่ตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ไทยแสดงศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยการส่งออกมีมูลค่าสูงถึง 19,844.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 15.50 เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปมากที่สุด ด้านการนำเข้า มีมูลค่า 16,623.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.15% เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยการนำเข้า-ส่งออกทั้งปี 2560 นั้นมีมูลค่า เกินดุลถึง3,221.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศคู่ค้าที่มีการส่งออกไปมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 2,779.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ คิดเป็น 14% ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้น 20.62% จากปี 2559 รองลงมาเป็น ญี่ปุ่น 1,799.64 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ คิดเป็น 9.07% ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้น 9.79% จากปี 2559 อันดับ 3 คือ อินโดนีเซีย 1,695.07 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ คิดเป็น 8.54% ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้น 22.80% จากปี 2559 มาเลเซีย 1,349.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ คิดเป็น 6.80% ของการส่งออกทั้งหมด ลดลง2.81% จากปี 2559 และ จีน 1,173.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ คิดเป็น 5.91% ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้น37.92% จากปี 2559”


ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์โต15.5% มูลค่า1.9หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
นางอัชณา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีที่ผ่านมาสมาคมฯ มีการดำเนินงานอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการทำงานที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนแปลงตามระบบเศรษฐกิจโลก โดยเรายังคงมุ่งมั่นในการช่วยผลักดันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ให้เจริญเติบโต แข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากลอย่างยั่งยืน

โดยจัดทำยุทธศาสตร์สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สำหรับปี 2561 - 2563 แบ่งออกเป็น 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1) สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร (Strengthen the organization) สร้างคน เน้นจริยธรรม พัฒนาระบบงาน มุ่งเน้นการบริหาร งานที่เข็มแข็ง ประสานความร่วมมือ ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ดูแลเรื่องการเงินของสมาคมฯ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ 2) ให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยี,นวัตกรรม และมาตรฐาน (Focus on the technology,Innovation and Standardization) การสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ให้เกิดขึ้นด้วยการเชื่อมโยงหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้มาสนับสนุน 3) เพิ่มขีดความสามารถมนุษย์ (Human Empowerment) พัฒนาศักยภาพความสามารถของแรงงานในอุตสาหกรรม ให้มีทักษะฝีมือ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีระเบียบวินัย ตอบแทนสังคมและองค์กร 4) สร้างความเข้มแข็งในการทำธุรกิจในระดับสากล (Strengthen the business internationally) เน้นและพัฒนาการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างประเทศ 5) การบริหารจัดการให้ SMEs ก้าวสู่ความเข้มแข็งทางธุรกิจ (Management of SMEs) ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs แข็งแกร่งด้วยการบริหารจัดการ และ 6) สนับสนุนและส่งเสริมการส่งออก (Support and promote export) เพิ่มโอกาส ช่องทาง และประสานความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ที่สนใจเรื่องการส่งออกให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน”

ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์โต15.5% มูลค่า1.9หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
“ปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อการส่งออกที่แข็งแกร่ง ดังจะเห็นได้จากตัวเลขตลาดรวมที่สูง โดยไทยถือเป็นอันดับ 1 ในการผลิตเพื่อการส่งออก รองลงมาเป็น อินโดนีเซีย, มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ตามยุทธศาสตร์ที่เราวางไว้ เราตั้งเป้าการฝึกฝนบุคลากรในสายอาชีพเพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่เราพัฒนาบุคลากรร่วมกับทาง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในปี 2559 – 2560 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้บุคลากรในสายอาชีพ จำนวน 5,949 คน โดยในปี 2561 เป็นต้นไป เราตั้งเป้าหมายไว้ที่ปีละ 4,000 คน อีกด้วย”