สรรพสามิตผนึก '18ยักษ์' ค้าปลีกแจ้งราคาแนะนำ
กรมสรรพสามิต จับมือ 18 ผู้ประกอบการยักษ์ค้าปลีกร่วมสำรวจราคาขายปลีกแนะนำขั้นสุดท้าย เพื่อใช้เป็นฐานในการจัดเก็บภาษี คาดใช้เวลา 1 เดือนในการสำรวจ ขีดเส้นราคาที่แจ้งเพื่อคำนวณภาษีห้ามต่ำกว่า 95% ของราคาขายในท้องตลาด
กรมสรรพสามิต ลงนามความร่วมมือในการแจ้งข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าสรรพสามิตระหว่างกรมสรรพสามิตกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และผู้ประกอบการค้าปลีกรวม 18 ราย เพื่อขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการแจ้งข้อมูลราคาขายปลีกของสินค้าสรรพสามิตแก่กรมสรรพสามิตอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง
ผู้ประกอบการ 18 ราย ที่เข้าร่วมลงนามครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.สมาคมผู้ค้าปลีกไทย 2.บริษัท ซันร้อยแปด จำกัด 3.บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด 4.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด 6.บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด 7.บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด 8.บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด 9.บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) 10.บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด 11.บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด 12.บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) 13.บริษัท วิลล่า มาร์เก็ต เจพี จำกัด 14.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด 15.บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด 16.บริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จำกัด 17.บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด และ 18.บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การลงนามดังกล่าว เพื่อให้เป็นตามกฎหมายฉบับใหม่ที่กำหนดให้ใช้ฐานราคาขายปลีกเป็นฐานในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ซึ่งกฎหมายใหม่เริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนก.ย.2560
“ข้อมูลราคาขายปลีกที่ได้นั้น เพื่อกรมสรรพสามิตจะได้รวบรวมข้อมูลราคาขายปลีกเพื่อหาราคาฐานนิยมที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีและการตรวจสอบภาษีต่อไป ดังนั้น ข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าสรรพสามิตจำเป็นต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเชื่อถือได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น”
กรมสรรพสามิตจะใช้ฐานราคาขายปลีกจากร้านค้า 5 ประเภท เป็นฐานในการกำหนดราคาขายปลีก คือ 1.ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ 2.ซูเปอร์มาเก็ต 3.ไฮเปอร์มาร์เก็ต 4.ร้านสะดวกซื้อ และ 5.ร้านโชห่วย โดยหากราคาขายปลีกของสินค้าที่มีภาระภาษี ตรงกันตั้งแต่ 2 ประเภทร้านค้าขึ้นไป ก็จะใช้ราคาดังกล่าวเป็นราคาขายปลีกที่เป็นฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิต ซึ่งราคาขายปลีกที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี จะต้องไม่ต่ำกว่า 95% ของราคาขายปลีกที่กรมสำรวจในท้องตลาดปกติ
“กรมสรรพสามิตจะใช้เวลาในการสำรวจราคาขายปลีกประมาณ 1 เดือน โดยจะต้องส่งข้อมูลในครั้งแรกเดือนพฤษภาคมนี้ จากนั้น กรมสรรพสามิตจะนำมาพิจารณาตรวจสอบราคาและใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีกับผู้ประกอบการต่อไป โดยราคาขายปลีกนั้น จะต้องเป็นราคาปกติ ไม่ใช่ราคาในช่วงที่มีการจัดทำโปรโมรชั่น หรือ ราคาขายในช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ เป็นต้น”
ย้ำใช้ CO2 เก็บภาษี 2 ล้อ
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า สำหรับการใช้มาตรฐาน CO2 มาเป็นเกณฑ์กำหนดภาระภาษีสรรพสามิตน้ำมันและมอเตอร์ไซค์ ไม่ได้มุ่งหวังรายได้ แต่เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้แนวคิดในการจัดเก็บภาษีน้ำมันและมอเตอร์ไซค์ ที่มี CO2 เกินค่ากว่าที่กำหนด ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรมสรรพาสามิตแต่ย้ำว่าแนวคิดดังกล่าวจะพยายามไม่ให้สร้างภาระแก่ประชาชน ที่เป็นผู้บริโภคน้ำมันและซื้อมอเตอร์ไซค์
ในกรณีน้ำมัน ที่ใช้เกณฑ์ CO2 ในการกำหนดภาระภาษีนั้น กรมสรรพสามิตกำลังหาแนวทางที่เหมาะสม โดยจะต้องหารือกับกระทรวงพลังงาน ในเรื่องการนำกองทุนน้ำมันมาใช้ ในกรณีที่มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมัน ก็อาจนำรายได้นั้นเข้ามาใส่เป็นภาษีสรรพสามิตแทน ซึ่งจะทำให้ภาระภาษีสรรพสามิตจาก CO2 น้ำมัน ไม่ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนกรณีการเก็บ CO2 จากรถมอเตอร์ไซค์นั้น จะเพิ่มภาระให้แก่ผู้ซื้อเพียงเล็กน้อย โดยรถมอเตอร์ไซค์ ที่ราคาประมาณ 5 หมื่นบาท อาจเสียภาษีเพียง