วัฒนธรรมองค์กร ก็อปปี้ไม่ได้

วัฒนธรรมองค์กร ก็อปปี้ไม่ได้

วัฒนธรรมองค์กรต้องใช้เวลาในการสร้างขึ้นมา หากทำได้จะทำให้ธุรกิจแข่งขันได้และยั่งยืน

eFounders Fellowship กิจกรรมภายใต้ Alibaba Business School , Alibaba Global Initiatives ที่ แจ็ค หม่า ผู้บริหาร Alibaba ใช้ในการค้นหาผู้สร้างแพลตฟอร์มจำนวนพันกว่ารายที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับโอกาสที่อาลีบาบาสร้างขึ้นในจีน

โดยทำการคัดเลือกเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงที่สามารถเป็นผู้ครองแชมป์อุตสาหกรรมและผู้สร้างระบบนิเวศพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่ในประเทศของตนได้

เป็นอีกกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นรับกรอบแนวคิดเศรษฐกิจใหม่

และสร้างชุมชนของผู้ค้าอีคอมเมิร์ซที่สามารถสนับสนุนซึ่งกันและกัน

คลาสแรกเปิดตัวไปแล้วโดยเริ่มด้วยการรวมเอานักพัฒนาและสร้างแพลตฟอร์มาร์เก็ตเพลสจาก Africa จำนวน 23 คน

ในคลาสถัดมา รวมบรรดาคนที่ทำด้านมาร์เก็ตเพลสในเอเชีย จำนวน 37 คนเข้าร่วม ซึ่งมี 6 สตาร์ทอัพไทยรวมอยู่ในนั้น ประกอบด้วย อมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์CEO & Co-Founder,TakeMeTour, จักรพันธ์ ลือธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทัวร์ครับ.คอม, ธนบดี ทองคำ ซีอีโอ1x1 WALLแกลลอรี่ศิลปะออนไลน์, กฤษฎา ชุตินธร Co Founder บริษัท บริษัท โฟลว์แอคเคาท์ จำกัด และ พีรลดา สุขวัฒก์ Founder of Karma X 

5 สตาร์ทอัพกล่าวในงาน Startup Thailand 2018 ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ถึงการที่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้การทำงานอาลีบาบา สำนักงานใหญ่เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน สะท้อนให้เห็นว่า เพราะเหตุใด อาลีบาบา ถึงได้ยิ่งใหญ่เช่นทุกวันนี้

ทั้ง 5 สตาร์ทอัพมองไปในทิศทางเดียวกันว่า “วัฒนธรรมองค์กร” เป็นตัวจักรสำคัญที่ผลักดันให้ อาลีบาบา ยิ่งใหญ่อย่างในทุกวันนี้

อมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ CEO & Co-Founder,TakeMeTour บอกถึงประสบการณ์ 11 วันที่อยู่ หวงโจ ออฟฟิศของอาลีบาบา ว่า สิ่งที่น่าสนใจมากๆ คือวัฒนธรรมองค์กร และบุคลิกผู้นำของแจ็คหม่า

“ตลอดเวลาของการอยู่ที่นั่นทำให้ได้เห็นทำไมอาลีบาบาถึงได้ขยายตัวเร็วมาก ส่วนสำคัญมาจากวัฒนธรรมองค์กร

ยกตัวอย่าง การรับฟังความคิดเห็นของลูกค้า และนำมาพัฒนาให้เร็ว

ในทุกๆวันจะมีการให้เราดูว่า Feedback เป็นอย่างไรแล้วนำมาปรับปรุงเพื่อให้ดีขั้นในทุกๆ วัน

นอกจากนี้ การได้พบกับแจ็ค หม่า แม้จะเป็นเพียง 1-2 ชั่วโมงที่เปิดโอกาสให้ซักถามก็ทำให้ได้เห็นว่าเค้ามี Charisma มาก ตลอดการสนทนามี Eye contact กับทุกคนในห้อง ทำให้รู้ได้ว่า เค้าอินกับสิ่งที่พูดอยู่”

ทางด้าน ธนบดี ทองคำ ซีอีโอ1x1 WALL บอกว่าสิ่งที่เรียนรู้จากโปรแกรมนี้ อาลีบาบา มาได้ถึงวันนี้ก็เพราะวัฒนธรรมองค์กรซึ่งเป็นสิ่งที่ก็อปปี้ และโขมยไม่ได้

“อะไรเป็นสิ่งที่จะเหนี่ยวรั้งคนเก่งไว้ในองค์กร สำหรับผมก็คือ Culture

Culture องค์กรก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถก็อปปี้ได้ ต้องใช้เวลาในการสร้างขึ้นมา หากทำได้จะทำให้ธุรกิจแข่งขันได้และยั่งยืน”

โดยธุรกิจ อาลีบาบา จะเดินไปพร้อมกัน 3 แกนหลักนั่นคือ E commerce, Logistic และ Finance

กฤษฎา ชุตินธร Co Founder บริษัท บริษัท โฟลว์แอคเคาท์ จำกัด มองถึงความสนใจจากธุรกิจที่อาลีบาบา ทำขึ้นนั้นสามารถทำให้คนธรรมดาๆ สามารถทำธุรกิจได้ง่ายๆ บนแพลตฟอร์มนี้

หนึ่งในกิจกรรมที่พาไปเที่ยวชมชาวบ้านที่ปลูกวอลนัท ที่สามารถนำไปขายได้บนแพลตฟอร์ม Taobao สร้างมูลค่าการขายได้มากถึง 60 ล้านหยวน

“นี่แค่ตัวอย่างเพียงหมู่บ้านเดียว แต่เมื่อรวมกันหลายๆ พื้นที่จะสร้างมูลค่าได้มากขนาดไหน”

ขณะที่ พีรลดา สุขวัฒก์ Founder of Karma X บอกว่าสิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนก็คือ บรรยากาศของการแข่งขัน

“การได้เข้าไปในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันสูง มีสตาร์ทอัพจากทั่วโลกเข้ามาอยู่รวมกันและแน่นอนว่าทุกคน fight เพื่อที่จะเอาชนะ”

จักรพันธ์ ลือธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทัวร์ครับ.คอม มองถึงการเข้ามาทำธุรกิจของอาลีบาบาในไทยย่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงและมีคนที่ได้รับผลกระทบ แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดและโตได้ในปัจจุบัน

เมื่อวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงและเต็มไปด้วยพลังก็ส่งผลให้ธุรกิจของอาลีบาบาขยายตัวอย่างเร็วมากในปัจจุบัน

“ต้องกลับมาทบทวนว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นมีมูลค่ามากน้อยแค่ไหนและยังมีจุดแข็งอยู่บ้างหรือไม่ หากเจอให้เร่งขัดเกลาและทำในส่วนนี้ เพราะธุรกิจอาลีบาบาจะมาในแนวกว้างและใหญ่ แต่เราแม้จะเล็กกว่าแต่เป็นเพียงร้านเดียวที่เข้าใจลูกค้าได้ดีกว่าและดีกว่า” ซีอีโอ1x1 WALL กล่าว

เจาะลึกวัฒนธรรมอาลีบาบา

ในมุมมองนักวิชาการที่ได้ไปสัมผัส วัฒนธรรมอาลีบาบา เมื่อปี 2559  ผศ.มานา ปัจฉิมนันท์ รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารการตลาดและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ให้เห็นถึง “ปัจจัย” ที่ผลักดันให้ธุรกิจและองค์กร อาลีบาบา ขยายใหญ่อย่างในวันนี้

ความมุ่งหวังที่จะอยู่ต่อไปให้ถึง 102 ปี เพื่อให้ไปถึงปี 2100 นี่คือสิ่งที่คน Alibaba ตั้งความหวังร่วมกัน

สิ่งแรกที่สร้างความประทับใจก็คือ การให้ความสำคัญกับคน และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบที่น่าสนใจตามแบบฉบับเฉพาะ ที่เรียกว่า Ali Way

อย่างเช่น การมอบเข็มเมื่อทำงานครบ 1 ปี เพื่อแสดงว่าคุณคือชาว Ali มอบสร้อยคอเมื่อทำงานครบ 3 ปี เพื่อแสดงว่าคุณเป็นชาว Ali เต็มตัว และมอบแหวนซึ่ง แจ็ค หม่าจะเป็นผู้สวมให้ เมื่อทำงานครบ 5 ปี เสมือนเป็นคนรักหรือคนครอบครัวเดียวกันตลอดไป

พนักงานทุกคนมีความฝัน แล้วทุกคนจะเขียนความฝันของตนเองใส่ลงในใบไม้จากนั้นนำไปติดบนภาพที่มีกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ต้นเดียวกัน สื่อได้ถึงทุกคนล้วนมีความฝัน และจะร่วมกันสร้างฝันนั้นไปด้วยกัน

อาลีบาบา เปรียบตัวเองเหมือนมหาวิทยาลัย ที่คนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และเมื่อคุณพร้อมก็สามารถออกไปเติบโตเองได้

เคล็ดลับที่ทำให้องค์กรแห่งนี้ประสบความสำเร็จมีดังนี้ แจ็ค หม่า มีความเชื่อแบบตะวันออก เช่น สัญชาตญาณ แต่ก็ยึดกระบวนการทำงานและบริหารจัดการแบบตะวันตกที่มีความเป็นศาสตร์สูง 

ขับเคลื่อนการทำงานด้วยความฝัน แต่ก็อยู่บนความจริงทางธุรกิจ , การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม สร้างแรงบันดาลใจร่วมกัน แต่ก็มีระบบการไล่คนออกแบบเฉียบคม โดยมีระบบการประเมินผลพนักงานที่เข้มข้นทุกๆ 3 เดือน หากไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินก็สามารถถูกเชิญออกจากบริษัทได้

การสร้างระบบแบบองค์กรแต่ก็มีอิสระและความสร้างสรรค์แบบไม่เป็นองค์กร เช่น มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน แต่ก็ให้อิสระกับพนักงาน มีความยืดหยุ่นในการทำงาน สนับสนุนสร้างนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ

สังคมอาลีบาบาเป็นสังคมที่อบอุ่น และเปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน เน้นย้ำเรื่องความซื่อสัตย์ ไม่โกหก ไม่รับสินบน 

หลักการทำงานที่มักถูกกล่าวถึง Work hard, Play hard แต่ที่ Alibaba กลับคิดตรงกันข้าม โดยเชื่อว่า  Happy work, Live seriously ทำงานอย่างมีความสุข แต่ใช้ชีวิตให้จริงจัง