ผ่าขุมพลัง“เบสท์ โลจิสติกส์” อาลีบาบาส่งบุกไทย..!!
“เบสท์ โลจิสติกส์” ยักษ์ขนส่ง อาลีบาบาถือหุ้นใหญ่รุกไทย หลังธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตวันโตคืน มูลค่าแตะ 3 ล้านล้านบาท เดินแผน“โกลบอล”เชื่อม“โลคอล” ชิงเค้ก 2 ผู้เล่นหลัก “ไปรษณีย์ไทย - เคอร์รี่”
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของธุรกิจค้าขายออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ในไทยเติบโตขึ้นแบบไม่ธรรมดา ตัวเลขจากสำนักงานพัฒนาธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า)เผยถึงมูลค่าตลาดจาก 2.2 ล้านล้านในปี 2558 ก้าวขึ้นเป็น 3.05 ล้านล้านบาทในปี 2561 โดยมาจากการค้าระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) 1.8 ล้านล้านบาท และการค้าขายของธุรกิจต่อลูกค้ารายย่อย หรือผู้บริโภคทั่วไป (B2C) มูลค่า 9.4 แสนล้านบาท
มูลค่าค้าขายที่เพิ่มขึ้นจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ทว่ากลับมีกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายใหญ่ทั่วทั้งประเทศ เพียง 2 ราย คือ ไปรษณีย์ไทย อายุกว่า 135 ปี รัฐวิสาหกิจไทย ที่พลิกตัวเองจากขนส่งจดหมายมาเป็นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ และ เคอรี่ (Kerry) ผู้เล่นจากต่างประเทศ สัญชาติฮ่องกงที่เข้ามาปักธงสร้างเครือข่ายในประเทศไทยมากกว่า 10 ปี ลงทุนเพื่อสร้างเครือข่าย จนกระทั่งมีกำไรในปีนี้ หลังจากรับอานิสงส์ ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตรวดเร็ว
ยังไม่นับรวมผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายเล็กๆ หรือรายที่เพิ่งเริ่มทำตลาดในไทยได้ไม่นาน อย่าง นิ่มซี่เส็ง ผู้ให้บริการขนส่งเฉพาะด้านและบริการพื้นที่ในภูมิภาค ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามเทรนด์อีคอมเมิร์ซ และ เอสซีจี เอ็กซ์เพรส (SCG Express) ภายใต้บริษัทยามาโตะ เอ็กซ์เพรส (SCG Yamato Express) เป็นการร่วมมือกันระหว่าง เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และ Yamato Asia Pte. Ltd. ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทอันดับหนึ่ง ในการให้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน ในญี่ปุ่น เป็นต้น
ปรากฎการณ์อีคอมเมิร์ซเฟื่องฟูในไทย จึงเกิด “เค้กหอมหวาน” ในธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์แตะจมูก “เบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี” ท็อป 3 บริการด้านโลจิสติกส์ในจีน ที่ขนส่งตั้งแต่ไม้จิ้มฟันเรือรบ ที่สำคัญยักษ์โลจิสติกส์รายนี้ยังถือหุ้นใหญ่โดยอาลีบาบา ยักษ์อีคอมเมิร์ซอันดับต้นๆของโลก ของ “แจ็ค หม่า” มหาเศรษฐีจีน ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป ที่มีหรือจะย่อมไม่ปล่อยให้โอกาสการต่อหางธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยหลุดลอยไป
หลังจากก่อนหน้านี้ (เม.ย.2561) แจ็ค หม่า เพิ่งลงนามความร่วมมือ(MOU) กับรัฐบาลไทย 4 ฉบับ คือ 1.ความร่วมมือด้านร่วมทุนกว่า11,000 ล้านบาทในระยะแรก ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) 2. ความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ อีอีซี ระหว่างสำนักงานอีอีซี กรมศุลกากร และบริษัท Cainiao Smart Logistics Network 3.ความร่วมมือพัฒนาบุคลากรด้านอีคอมเมิร์ซ และส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ให้พัฒนาธุรกิจยุคดิจิทัล และ 4.ผลักดันการท่องเที่ยวและส่งเสริมเมืองรอง
นั่นยังเป็นโอกาสที่แจ็ค หม่า ได้เห็นก้าวขยับของไทยไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โอกาสการเติบโตมหาศาลที่ควรเข้ามาเชื่อมต่อไทยและขยายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
เจสัน เคียน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกลุ่มบริษัท เบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และผู้จัดการทั่วไป เบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านโลจิสติกส์มากว่า 18 ปี โดยเริ่มต้นจากเฟดเอกซ์ (Fedex) กว่า 10ปี ก่อนจะเข้ามาร่วมงานกับเบสท์ ใน8 ปีที่ผ่านมา เผยถึงการเข้ามาปักธงการบริการโลจิสติสก์ของเบสท์ เมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา และได้เปิดตัวจุดกระจายสินค้าอย่างเป็นทางการ (ฮับโลจิสติกส์) ไปแล้วกว่า 4 แห่ง กรุงเทพฯ พิษณุโลก ขอนแก่นและสุราษฎร์ธานี เริ่มเปิดคิกออฟ บริการขนส่ง ในวันที่ 28 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา
เจสัน ย้ำชัดว่า สิ่งที่เบสท์ โลจิสติกส์ เห็นโอกาสในไทย คือการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์อย่างรวดเร็วไปพร้อมกับกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีความต้องการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross Border) ระหว่างจีนมาไทยเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 40-50% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญเขามองว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังอยู่ในช่วงเทคออฟ หรือขาขึ้นอีกครา
นอกจากนี้ ลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไทย ยังเป็น“ศูนย์กลาง”ภูมิภาคอาเซียน กลายเป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้เบสท์ โลจิสติกส์ เลือกที่จะปักธงในไทยก่อนเป็นที่แรกในอาเซียน หลังจากที่เล็งจะเข้ามายึดหัวหาดการบริการในภูมิภาคอาเซียน ในยุคที่การค้าขายออนไลน์รุกเข้ามาแทนที่การค้าในช่องทางเดิม (Off Line)
**เปิด 3 จุดแข็งรุกตลาดไทย
เจสัน เล่าถึงแผนการลงทุนในไทยสเต็ปแรกภายใน 5 ปี (2561-2565) จะมีมูลค่า 5,000 ล้านบาท ในการสร้างจุดกระจายสินค้า ฮับโลจิสติกส์ และลงทุนเทคโนโลยี ระบบที่ใช้เครื่องมือ คอมพิวเตอร์ เชื่อมต่อการวิเคราะห์ข้อมูลการบริการ (Machine) ในการทำงานเป็นหลัก เป้าหมายปีแรก (2562) จะเปิด 500 ฮับโลจิสติกส์ และ 1,500 หน้าร้านรับส่งสินค้า (express shop) และจุดรับส่งสินค้า
“เป้าหมายของเราคือการเข้ามาเชื่อมต่อการบริการในตลาดอาเซียน จึงเริ่มต้นรุกปักธงในไทยเป็นประเทศแรก เป็นจุดเริ่มในการสร้างขุมพลังรุกต่อในอาเซียน” เขาเล่า
เขายังบอกว่า แม้จะเป็น "น้องใหม่" แห่งวงการโลจิสติกส์ไทย แต่เป้าหมายที่ท้าทายคือความต้องการที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ในไทยในเร็ววัน จากสิ่งที่ “เบสท์” เข้ามาทำธุรกิจแตกต่างจากผู้เล่นที่มีในตลาด 3 สิ่ง ที่ก้าวไปประสบความสำเร็จ (Key to Success) ได้ไม่ยาก ได้แก่
เทคโนโลยี ตลอด 10 ปีที่ เบสท์ลงทุนต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำงานแทนคน (Machine) รวมไปถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์การขนส่ง จนถึงการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data) บริหารซัพพลายเชน ในการบริการโลจิสติกส์ครบวงจร จึงเห็นการบริการที่รวดเร็ว และถูกกว่าในตลาด เริ่มต้นการบริการที่ 20 บาท ซึ่งถูกกว่าในตลาด
“เทคโนโลยี” คือ นักรบสำคัญที่เบสท์ชูให้เป็นพระเอกของกลุ่มธุรกิจ
“เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาการบริการที่แตกต่างและมีประสิทธิภาพ ในราคาที่ถูกและเร็ว” เขาเชื่อมั่น
ประการต่อมาคือ แพลตฟอร์มโมเดลธุรกิจ ที่เชื่อม "โกลบอล สู่เครือข่ายโลคอล" (Global to Local) กลุ่มธุรกิจมีฮับโลจิสติกส์ในการบริการกระจายกว่า 15 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐ ออสเตรเลีย อังกฤษ จีน อินเดีย และภูมิภาคอาเซียน คือไทย ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลก โดยจะเข้ามาเชื่อมระบบกับระบบธุรกิจแฟรนไชส์ในระดับท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีให้ท้องถิ่นดูแลธุรกิจในพื้นที่ การวางเครือข่ายจุดรับบริการหน้าร้าน และการขนส่ง เพื่อไปเชื่อมต่อกับฮับโลจิสติกส์ที่กระจายไปทั่วประเทศ
และสุดท้ายคือ โมเดล“แฟรนไชส์” เป็นโมเดลใหม่ที่ไม่มีผู้เล่นในตลาดทำมาก่อน ในการมอบสิทธิในการบริหารเครือข่ายขนส่งในแต่ละพื้นที่ ไม่ต่างจากการเป็นตัวแทนในระดับภาค ที่จะคอยดูแลธุรกิจเฟรนส์ไชส์ต่างๆในท้องถิ่นในระดับที่ย่อยลงไป
โดยกลุ่มธุรกิจเบสท์ จะเป็นผู้วางระบบ แต่การบริการขนส่งและกระจายสินค้าเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น ที่มีผู้ชำนาญพื้นที่มากกว่า ซึ่งในจีนมีกว่า 5,000 แฟรนไชส์กระจายอยู่ใน 31 มณฑล สำหรับไทยเริ่มต้นที่ 42 แฟรนไชส์ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 80 แฟรนไชส์ทั่วประเทศ
“เบสท์เติบโตอย่างรวดเร็วในจีน เริ่มต้นก่อตั้ง 11 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากการขนส่งเพียง 1 แสนชิ้นต่อวัน แต่ปัจจุบันมีการขนส่งและกระจายสินค้า 20 ล้านชิ้นต่อวัน” เขาเล่าถึงพัฒนาการธุรกิจ ที่ปัจจุบันขนส่งทุกอย่างตั้งแต่ระดับเล็กจนถึงชิ้นใหญ่ให้กับธุรกิจSMEs ไม่ว่าจะเป็นผัก ของสด ชิ้นส่วนอุปกรณ์ เพราะระบบของเบสท์มีความยืดหยุ่นในการรับบริการ"
เจสัน ยังระบุว่า เบสท์เติบโตในด้านการบริการขนส่งและโลจิสติกส์ในจีนอย่างรวดเร็ว ไปพร้อมกันกับอีคอมเมิร์ซในจีน พร้อมกันกับลงทุนด้านเทคโนโลยีต่อเนื่อง
-----------------------------------
ถอดโมเดลแฟรนไชส์“โลจิสติกส์”
เจสัน เคียน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกลุ่มบริษัท เบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย)จำกัดและผู้จัดการทั่วไป เบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ระบุว่า โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ ที่ประสบความสำเร็จในจีน เมื่อถูกถอดมาใช้ให้กับกับตลาดไทย สิ่งที่ต้องปรับคือ สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่เติบโตในจีน การขนส่งส่วนใหญ่จึงจ่ายผ่านอาลีเพย์ หรือ วีแชทเพย์ ขณะที่เมืองไทยอาจจะต้องมีการเก็บเงินปลายทาง ทางกลุ่มธุรกิจต้องปรับให้เหมาะสม ก่อนตลาดเติบโตและเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริงในวันข้างหน้า
หลักการเข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์ คือลงทุนมูลค่า 5 ล้านบาท พร้อมรถขนส่ง 5-10 คัน ซึ่งพันธมิตรจะต้องเป็นเจ้าของพื้นที่ 100-1,000 ตารางเมตร มีหน้าร้าน 1 แห่ง บริการรับส่งพัสดุอย่างน้อย 10 จุด โดยเบสท์เป็นผู้เข้าวางระบบซอฟต์แวร์
สิ่งที่จูงใจให้พันธมิตรท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์ เพราะยักษ์อีคอมเมิร์ซ อย่าง “อาลีบาบา” เป็นเจ้าของเบสท์ ซึ่งมีการขนส่งเอ็กซ์เพรสในจีนมากกว่า 25,000 แห่งทั่วทั้ง 31 มณฑล มีคลังสินค้าแบบคลาวน์มากกว่า 330 แห่ง ครอบคลุม 170 เมือง มีพนักงานที่ปฏิบัติการเต็มเวลา 2 ชั่วโมงกว่า 10,000 คน
“กลุ่มธุรกิจที่เป็นพันธมิตรแฟรนไชส์เห็นว่าเบสท์ เป็นบริษัทใหญ่มีชื่อเสียง มีเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า และที่สำคัญคาดว่าจะคืนทุนได้ภายใน 6 เดือน - 1 ปี”
วรุต ชคทิศ ผู้จัดการทั่วไป เบสท์ แฟรนไชส์ (Best Franchisee) Area 74 พื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และผู้กระจายสินค้าให้กับไอศกรีม วอลล์ สาขา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา มีจุดกระจายสินค้าและเครือข่ายร้านค้าใน 3 จังหวัดกว่า 3,000 แห่ง มองถึงการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์ กับ เบสท์ ว่าแม้จะเป็นผู้เข้ามาในตลาดโลจิสติกส์ทีหลัง แต่ก็มั่นใจว่าจะพลิกเป็นผู้นำได้ เพราะเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ และให้อำนาจในการบริการจัดการขนส่งพื้นที่ที่แฟรนไชส์รับผิดชอบ ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาล
“ผมเป็นผู้อยู่ในธุรกิจโลจิสติกส์อยู่แล้ว ในยุคที่โลกเปลี่ยนสู่ตลาดออนไลน์ เชื่อว่าโลจิสติกส์ เป็นธุรกิจดาวรุ่ง เอสเคิร์ฟ จึงหาโอกาสเข้าสู่ตลาด ซึ่งได้พยายามเป็นตัวแทนเคอรี่ และนิ่มซี่เส็ง แต่ไม่มีระบบแฟรนไชส์ เมื่อเบสท์นำระบบแฟรนไชส์จึงตัดสินใจไม่ยากในการเข้าร่วมทุน”เขาเล่า
เขาเชื่อว่าเทคโนโลยี ที่เชื่อมการบริการทุกอย่างไปสู่โลกอินเตอร์เน็ท (Internet of Things) คือกุญแจสำคัญที่ทำให้การบริการและโมเดลของเบสท์แตกต่างจากผู้เล่นเดิมในตลาด
และที่สำคัญ เบสท์ คือบริษัท โกลบอล ที่คิดอย่าง โลคอล (Global Think Local) วางระบบการขนส่ง และให้สิทธิ์แฟรนไชส์ท้องถิ่นจัดการ ให้โอกาสธุรกิจรายย่อยเติบโตไปพร้อมกัน
“การลงทุนแฟรนไชส์ 5 ล้านบาท แค่เปิดร้านกาแฟ ปัจจุบันก็ 3 ล้านแล้ว ดังนั้น 5 ล้านบาทเพื่อแลกกับโอกาสการเข้าตลาดออนไลน์ทั่วโลก เติบโตไปพร้อมกับอาลีบาบา ถือว่ามหาศาลและคุ้มค่า” เขาเชื่อในโมเดลธุรกิจ
ขณะที่อีกขุมพลังที่เบสท์มีคือ ซอฟต์แวร์การบริหารจัดการความซับซ้อนของระบบขนส่งสินค้าในทุกรูปแบบ ทั้งธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) , ธุรกิจต่อผู้บริโภค (B2C) รวมไปถึงระบบซัพพลายเชนของผู้ผลิต คลังสินค้า ซึ่งบางรายเก่งในแต่ละด้าน ทว่า เบสท์ เข้าไปจัดการทุกเรื่องให้กลายเป็น การบริการจบในจุดเดียว (One Stop Service) หากเทียบกับ 2 ธุรกิจโลจิสติกส์ ที่อยู่ในไทย ทั้งไปรษณีย์ไทย และเคอรี่ ที่ยังเก่งและถนัดในแต่ละด้าน ไปรษณีย์ไทย ยังมีความเป็นระบบราชการ มีการผ่านหลากหลายขั้นตอน ขณะที่เคอรี่บริหารจัดการเครือข่ายเพียงคนเดียว และเลือกพันธมิตรธุรกิจเฉพาะร้านสะดวกซื้อทั่วไปเป็นหลัก เขาระบุเช่นนั้น
การร่วมมือกันระหว่างแฟรนไชส์โลคอล "เบสท์"จึงนำมาเพียง"สมอง"ระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ พัฒนาซอฟต์แวร์ มาเชื่อมต่อกับ เครือข่ายโลคอล ที่ทำหน้าที่เป็น"แขนขา”ให้กับเบสท์ ในการกระจายสินค้า โดยใช้จุดแข็ง “ความสัมพันธ์และชำนาญ” ในพื้นที่ รวมไปถึงเครือข่ายการบริการที่แข็งแกร่ง
“เป็นการจับคู่กับอย่างลงตัวของกลุ่มธุรกิจระดับโลกที่เข้ามาเชื่อมต่อให้กับผู้ประกอบการในไทย ซึ่งโลกออนไลน์ทำให้ตัดพ่อค้าคนกลาง ช่วยให้ผู้ผลิตเจอกับผู้ซื้อ และผู้บริการขนส่งมาช่วยอีกด้าน ทำให้มีต้นทุนสูญเสียให้น้อยที่สุด หรือ Lean มากที่สุด”
วรุต ยังวางเป้าหมายว่าในปีแรกจะมีหน้าร้าน ซึ่งเป็นจุดรับส่งสินค้า 30 ร้านใน 3 จังหวัด โดยมีจุดรับย่อย(Drop Point) กว่า 100 แห่ง