ชงโครงการท้องถิ่นอีอีซี กบอ.เคาะ3โปรเจคท้องถิ่น
กบอ.อนุมัติ 3 โครงการท้องถิ่นกลุ่มแรก 300 ล้านบาท แก้ปัญหาการจราจรระยอง-ชลบุรี ดันถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ถนนเลี่ยงเมืองระยอง พร้อมสร้างทางแยกจุดตัดถนนนิคมแหลมฉบัง รองรับการขยายตัวของตัวเมืองและภาคอุตสาหกรรม เตรียมชงนายกฯ เห็นชอบ 23 ม.ค. 2562
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เสนอโครงการสำคัญเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการพัฒนาอีอีซี
ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดได้เสนอแผนมา 5 โครงการ โดยผ่านการพิจารณาของ กบอ. 3 โครงการ รวมวงเงิน 300 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและสำรวจออกแบบรายละเอียดและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (อีไอเอ) ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต (ระยะที่2) ใช้งบประมาณ 77 ล้านบาท โดยโครงการนี้เกิดขึ้นเพราะถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกจาก จ.ระยองมีการแบ่งความรับผิดชอบเป็นช่วงหลายหน่วยงาน ทำไห้ขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาให้ได้มาตรฐานเดียวกันในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม
รวมทั้ง ทำให้พื้นที่เลียบชายฝังทะเลตะวันออกที่มีความสวยงานและมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาโครงข่ายถนนสายรองเลียบชายฝั่งทะเลให้ได้มาตรฐานสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย เชื่อมต่อสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และป้องกันการบุกรุกพื้นที่สาธารณะชายฝั่งทะเล รวมทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปที่เดินทางจากสนามบินอู่ตะเภามายังแหล่งท่องเที่ยว
ถนนบูรพาเฉลิมทิศเชื่อมอีอีซี
“การพัฒนาถนนเส้นนี้ จะช่วยพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเกิดการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในท้องถิ่น จึงควรศึกษาและจัดทำแผนแม่บทเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจากชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกช่วงจากอ.แกลง จ.ระยอง เชื่อมโยงต่อเนื่องจากถนนเฉลิมบูรพาชลทิตกับอ.นาจอมเทียน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี”
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน ได้จ้างที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บทและสำรวจออกแบบรายละเอียด รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (อีไอเอ) ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ประมาณ 100 กิโลเมตร มีพื้นที่ดำเนินการตั้งแต่ถนนเลียบชายฝั่งทะเลจากอนุสาวรีย์สุนทรภู่ อ.แกลง-แหลมแม่พิมพ์-สวนสน-บ้านเพ-ก้นอ่าว-หาดแม่ลำพึง-แหลมรุ่งเรือง-หาดแหลมเจริญ-หาดสุชาดา-หาดทรายทอง-หาดพยูน-หาดพลา มีระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน
2.โครงการสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการถนนเลี่ยงเมืองสาย ง. อำเภอเมือง จ.ระยอง ใช้งบประมาณ 23 ล้านบาท โดยจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมืองระยองที่วิกฤติ จึงจำเป็นต้องเตรียมการสำรวจออกแบบเพื่อสร้างถนนเลี่ยงเมือง สาย ง. จังหวัดระยอง ระยะทาง 14 กิโลเมตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางเลี่ยงเมืองไปยังจ.ชลบุรี จันทบุรี ตราด และจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งรองรับการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงระหว่างแหล่งอุตสาหกรรมในจ.ระยองและชลบุรี ที่จะขยายตัวมากขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี และโครงการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ
“โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเมือง จ.ระยอง ตามแผนแม่บทการพัฒนา อีอีซี ด้านคมนาคมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แก้ปัญหาระบบจราจร รองรับการขนส่งและการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว แหล่งอุตสาหกรรม และแหล่งเกษตรกรรม ในพื้นที่ จ.ระยอง และจังหวัดใกล้เคียง”
สำหรับแนวทางการดำเนินงานจะจ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียด ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และประมาณการราคา เพื่อก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองสาย ง. ระยะทาง 14 กิโลเมตร โดยเริ่มจากบริเวณสามแยกโกลบอลเฮ้าส์ ผ่านหลังสำนักงานเทศบาลตำบลทับมา ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 3138 ผ่านถนนเชิงเนิน ตัดผ่าน ทล. 3139 เพื่อเชื่อมต่อไปยังถนนสุขุมวิท บริเวณสี่แยกตะพงของกรมทางหลวง มีระยะเวลาดำเนินการ 300 วัน
สร้างทางแยกจุดตัดนิคมแหลมฉบัง
3.โครงการก่อสร้างทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3 กับถนนเมืองใหม่เหนือและถนนนิคมแหลมฉบัง งบประมาณ 200 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่แหลมฉบังมีโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยจำนวนมาก เนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี รวมทั้งมีโครงการสำคัญระดับประเทศในพื้นที่ ได้แก่ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี)
ทั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้การจราจรในบริเวณดังกล่าวคับคั่ง เนื่องจากปัจจุบันมีทางเข้าออกพื้นที่แหลมฉบังเพียงทางเดียว คือ แยกท่าเรือแหลมฉบัง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการก่อสร้างทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3 กับถนนเมืองใหม่เหนือ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่คับคั่งบริเวณนิคมแหลมฉบัง ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้จัดทำรูปแบบรายการ ราคากลาง การสำรวจและออกแบบ และผลการศึกษาเรื่องความเหมาะสมในการดำเนินงานแล้ว ทำให้พร้อมก่อสร้างได้ทันที ซึ่งโครงการนี้มีระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี
“การก่อสร้างทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3 กับถนนเมืองใหม่เหนือและถนนนิคมแหลมฉบัง จะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัด รองรับการขยายของตัวเมืองให้มีความสมดุล พร้อมทั้งเชื่อมต่อพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือแหลมฉบัง และ อีอีซีดี ช่วยย่นระยะเวลาในการเข้าถึงที่เกิดเหตุ และนำผู้ป่วย ผู้ได้รับบาดเจ็บถึงโรงพยาบาลได้ถึง 80% เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการลดความสูญเสียเวลาในการขนส่งและเดินทาง และลดการใช้พลังงานที่ต้องเสียไปจากปัญหาจราจรลงได้ 10%”
ตีกลับฉะเชิงเทรา 2 โครงการ
โดยหลังจากนี้จะนำทั้ง 3 โครงการเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่จะประชุมในวันที่ 23 ม.ค. 2562 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 300 ล้านบาท โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการและขอสนับสนุนงบประมาณต่อไป
รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า โครงการของ จ.ฉะเชิงเทรา 2 โครงการ คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพฝายท่าลาด 2.โครงการสร้างศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจรและติดตั้ง CCTV กำหนดให้เสนอของบประมาณจากแผนพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราเพราะไม่เป็นโครงการเร่งด่วนตามแผนพัฒนาอีอีซี