รฟท.เปิดทาง 'ซีพี' ขยายเวลายื่นข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติมถึง9ม.ค.นี้
หลัง "ซีพี" เข้าวินเบอร์ 1 รอเจรจาคว้าไฮสปีดเทรนแสนล้าน เชื่อมสามสนามบิน แย้มข้อเสนอเบื้องต้นมีทั้งให้และขอรับจากรัฐ รฟท.เปิดทางขยายเวลายื่นข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติมถึง9ม.ค.นี้
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วันนี้ 3 ม.ค.2562 โดยระบุว่า หลังจากเปิดซอง 4 ข้อเสนอพิเศษไปเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกได้แจ้งต่อผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ กลุ่มซีพี ให้สามารถส่งรายละเอียด และข้อเสนอเพิ่มเติมในซองที่ 4 กลับมาภายในวันที่ 27 ธ.ค.2561 แต่ทางซีพีแจ้งว่าติดหยุดยาว จึงขอเลื่อนส่งข้อมูลดังกล่าวไปวันที่ 9 ธ.ค.นี้
“ตอนนี้คณะกรรมการเปิดซอง 4 หมดแล้ว ก็พบว่ามีข้อเสนอที่ตื่นเต้นบ้าง และข้อเสนอทั้งหมดก็มีทั้งข้อเสนอให้และข้อเสนอรับจากรัฐ ซึ่งไม่สามารถบอกได้ แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกัน ไม่ใช่ข้อเสนอเป็นเรื่องๆ ไป ดังนั้นจึงต้องรอดูข้อมูลเพิ่มเติมจากทางซีพีที่จะส่งมาภายในวันที่ 9 ม.ค.นี้ก่อน เพราะทางซีพีอาจจะมีข้อเสนอเพิ่มเติมเข้ามา หรือไม่มีก็ได้ หลังจากนั้นคณะกรรมการจึงจะประชุมกันอีกทีวันที่ 15 ม.ค. และเข้าสู่ขั้นตอนเจรจา”
ส่วนประเด็นข้อกังวลของข้อเสนอจากทางซีพี ที่อาจจะกระทบต่อผลตอบแทนของภาครัฐหรือไม่นั้น นายวรวุฒิ กล่าวว่า จากการเปิดซอง 4 ข้อเสนอพิเศษเบื้องต้น พบว่าบางข้อเสนอบางอันยังไม่มี และบางอันมี แต่ต้องเรียบเรียงข้อมูลก่อน ดังนั้นจึงยังไม่สามารถตอบได้ว่ามีข้อเสนอใดบ้าง แต่ข้อเสนอทั้งหมดจะต้องไม่กระทบต่อหลักการ และต้องไม่กระทบต่อประเด็นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ ทั้งนี้ ยังพบว่าข้อเสนอของทางซีพีในเบื้องต้นมีประเด็นที่จะทำเพื่อสังคมด้วย
นายวรวุฒิ ยังเผยด้วยว่า ยังคงกำหนดลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลไว้วันที่ 31 ม.ค.2562 แต่หากดำเนินการไม่ทัน ก็สามารถชี้แจงต่อ ครม.ได้ เพราะโครงการดังกล่าว ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นโครงการร่วมทุนกับเอกชน ดังนั้นการพิจารณาเอกสารซอง 4 ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ต้องฟังทางเอกชนด้วย
ขณะที่ความพร้อมส่งมอบพื้นที่ ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างวัดพื้นที้สถานีมักกะสัน ซึ่งประเมินไว้ว่าจะมีพื้นที่ 150 ไร่ เพื่อส่งมอบให้เอกชนนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยภายหลังลงนามสัญญา รฟท.จะส่งมอบพื้นที่มักกะสันจำนวน 100 ไร่ พร้อมกับพื้นที่สถานีศรีราชาอีก 25 ไร่ ให้เอกชนพัฒนาทันที และพื้นที่มักกะสันอีก 50 ไร่ จะทยอยส่งมอบให้เพิ่มเติมภายใน 5 ปี