ครม.เคาะเวนคืนไฮสปีด850ไร่

ครม.เคาะเวนคืนไฮสปีด850ไร่

ครม.อนุมัติ รฟท. เดินหน้าวางเขตเวนคืนที่ดินก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ครอบคลุม 850 ไร่ ในพื้นที่ กทม. สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สศช.แนะเวนคืนเท่าที่จำเป็นป้องกันผลกระทบประชาชนและงบเวนคืนบานปลาย

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พ.ศ... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สำหรับ สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการกำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นพื้นที่เขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืนตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาในการศึกษาโครงการพบว่ามีที่ดินที่จะต้องเวนคืน 850 ไร่ และสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเวนคืน 245 หลังคาเรือน 

ทั้งนี้ พื้นที่ที่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่ 1 เขต ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 20 ตำบลใน 3 จังหวัด โดยมีรายละเอียดได้แก่ พื้นที่กรุงเทพฯ คือ แขวงลาดกระบัง แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง ส่วน จ.สมุทรปราการ ได้แก่พื้นที่ ต.หนองปรือ อ.บางพลี

จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย ต.บางไผ่ ต.บ้านใหม่ ต.บางขวัญ ต.ท่าไข่ ต.วังตะเคียน ต.บางเตย อ.เมืองฉะเชิงเทรา

จ.ชลบุรี ประกอบด้วย ต.พลูตาหลวง ต.บางแสน ต.นาจอมเทียน อ.บางละมุง ต.ห้วยใหญ่ ต.หนองปรือ ต.นาเกลือ อ.สัตหีบ และครอบคลุม ต.สุรศักดิ์ ต.บางพระ อ.เมืองชลบุรี ต.ห้วยกะปิ ต.หนองข้างคอก ต.บ้านสวน อ.ศรีราชา

จ.ระยอง ได้แก่พื้นที่ ต.พลา ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง

สศช.ห่วงงบเวนคืนบานปลาย

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ ครม.อนุมัติแล้วกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสำรวจเส้นทางและเสนอ ครม.ออกพรฎ.เวนคืนที่ดินในพื้นที่ต่างๆ ตามที่มีการกำหนดต่อไป เพื่อให้สามารถดำเนินงานการก่อสร้างย่านสถานี ทางเข้าออกสถานี ทางรถไฟ และดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ ตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรืออยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง รฟท.ต่อไป

ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่า ควรให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ในการเวนคืนที่ดินเพื่อดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และให้ รฟท.พิจารณาการกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนตามความจำเป็นเท่านั้น เพื่อลดผลกระทบของประชาชนและช่วยให้ รฟท.สามารถควบคุมวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้อยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.ให้ดำเนินโครงการในวงเงินประมาณ 3,570 ล้านบาท 

“เกษตร”ห่วงพื้นที่ระบายน้ำ

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมประกอบการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ควรให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกี่ยวกับการระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในอนาคตเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับโครงการและการเดินรถในระยะต่อไป

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีความเห็นว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กพอ.) มีมติแล้วว่าจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมกับบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลในช่วงต้นปี 2562 

ดังนั้น รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในโครงการฯ เพื่อให้นำไปสู่การดำเนินการส่งมอบที่ดินให้กับบริษัทเอกชนที่จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดในร่างสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งจะกำหนดการก่อสร้าง 5 ปี

รฟท.พิจารณาซอง 4 วันนี้

รายงานข่าวจาก รฟท.ระบุว่า วันที่ 24 ธ.ค.2561 คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้เปิดซอง 4 ข้อเสนอพิเศษของผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์ และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) โดยจะมีการจัดหมวดหมู่ข้อเสนอของกลุ่มซีพี เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกในวันนี้ (3 ม.ค.) 

สำหรับ ข้อเสนอในซอง 4 มีหลายส่วนที่ทีโออาร์ไม่ได้กำหนด และเปิดกว้างให้ผู้ประมูลยื่นข้อเสนอเข้ามาเพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจากนั้นจะนัดซีพีมาเจรจาโดยขั้นตอนนี้จะเสร็จช้าหรือเร็วขึ้นกับคู่เจรจา แต่การพิจารณารับข้อเสนอหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับประโยชน์ของรัฐที่จะได้รับ โดยถ้าเจรจาร่วมกับกลุ่มซีพีไม่เป็นผลก็จะเชิญผู้ประมูลอีกรายมาเจรจา คือ กลุ่มบีเอสอาร์ ซึ่งเป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำรองลงมาเจรจา

ทั้งนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวในวันยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า กลุ่มซีพีได้ยื่นซองข้อเสนอพิเศษ โดยถ้าชนะการประมูลจะให้สิทธิผู้พิการได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงฟรีตลอดชีพ

ส่วนข้อเสนอทางการเงินของกลุ่มซีพี พบว่ามีราคา Net Present Value (มูลค่าปัจจุบันสุทธิ) อยู่ที่ 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่าข้อเสนอของทางกลุ่มบีเอสอาร์ ที่เสนอมาในมูลค่า 169,934 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราว 52,707 ล้านบาท อีกทั้งยังต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.มีมติอนุมัติให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ในวงเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425 ล้านบาท ในขณะที่ข้อเสนออื่นของทางกลุ่มซีพี ยังพบว่ามีการประมาณการณ์ผู้โดยสารอยู่ในระดับใกล้เคียงกับทีโออาร์กำหนด

ส่งสัญญาให้อัยการตรวจ

นอกจากนี้ ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างส่งร่างสัญญาไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา เพื่อทำงานคู่ขนานกันไป เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ และสามารถลงนามสัญญาได้ภายในเดือน ม.ค.2562

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา 

รวมทั้งเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของ รฟท.เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กิโลเมตรประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา