บุก 'อีอีซี' ลุยตลาดหุ่นยนต์
เอกชนบุกจัดงานแสดงสินค้าในอีอีซี "ออโตเมชั่นเอ็กซ์โป 2019" กระตุ้นตลาดหุ่นยนต์ หวังเจาะตลาดเอสเอ็มอี อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รองรับเทคโนโลยีชั้นสูง คาดเกิดยอดขายกว่า 1 พันล้านบาท
ด้าน ส.อ.ท. คาด ปี 2562 อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในไทยโตเฉียด 20% รับสังคมสูงอายุ ฉุดแรงงานขาดแคลน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ปาฐกถาในหัวข้อ “Age of Automation อุตสาหกรรมไทยในยุคอัตโนมัติ” ว่า ประเทศไทยจำเป็นที่ต้องเร่งปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เนื่องจากค่าแรงงานที่สูงขึ้น และมีอัตราการขาดแคลนแรงงานสูงขึ้นเรื่อยๆจากการก้าวเข้ามาของสังคมผู้สูงอายุ ที่ในขณะนี้มีผู้สูงอายุ 11% หรือประมาณ 7.8 ล้านคน และคาดว่าในอีก 6-7 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 20% หรือมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว จะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง
โดยในปัจจุบัน ภาวการณ์ลงทุนในโลกเปลี่ยนไป หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่แรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปใช้แรงงานราคาถูกในประเทศอื่น เช่น อาดิดาส ผู้ผลิตรองเท้ากีฬาชั้นนำ ที่ได้เข้าไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ เพื่อลดต้นทุนแรงงาน แต่ในขณะนี้โรงงานในประเทศเยอรมนีได้ผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติผลิตรองเท้าได้แล้ว และสามารถผลิตได้ตามคำสั่งลูกค้ารายบุคคล มีกำลังผลิตกว่า 5 แสนคู่ต่อปี และจะซื้อเครื่องจักรนี้อีก 1 เครื่อง เพื่อใช้ในโรงงานที่สหรัฐ เห็นได้ชัดว่าโรงงานต่างๆ ลดการพึ่งพาแรงงานไปใช้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อยๆ
ส.อ.ท.หนุนไทยฐานผลิตหุ่นยนต์
ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเร่งปรับตัว ลดการพึ่งพาแรงงาน ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพิ่ม จึงจะสามารถยกระดับคุณภาพสินค้า และต้นทุนสู้กับคู่แข่งในตลาดโลกได้ ซึ่งหากไทยมีฐานอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติทีเข้มแข็ง ก็จะช่วยดึงดูดบริษัทที่มีเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนในไทยได้
“ที่ผ่านมาประเทศสิงคโปร์ ได้นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการผลิตสูงมาก ทำให้มีต้นทุนการผลิตลดต่ำลงและถึงจุดคุ้มทุนได้เร็ว ทำให้เป็นคู่แข่งที่สำคัญในอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาเงินลงทุนที่เข้ามาในอาเซียนจะเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์สูงถึง 52% ที่เหลือกระจายสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เข้ามาในไทยเพียง 10%”
นายเกรียงไกร กล่าวว่า อัตราการใช้หุ่นยนต์ในโลก เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14% ต่อปี อันดับ 1 เป็นประเทศจีน รองลงมาเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ โดนในปี 2561 การใช้หุ่นยนต์ของไทยโตประมาณ 10-20% คาดว่าในปี 2562 จะโตเกือบ 20% และค่อยๆ สูงขึ้นโดยหลังจาก อีอีซี เติบโตเต็มที่อัตราการใช้หุ่นยนต์จะเพิ่มขึ้นสูงสุด ซึ่งไทยไม่เพียงแต่จะตั้งเป้าใช้หุ่นยนต์เพิ่ม แต่จะยกระดับไปสู่การเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ด้วย
บุกอีอีซีกระตุ้นตลาดหุ่นยนต์
นายธีระ กิตติธีรพรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเวิลด์ พับลิเคชั่น จำกัด เปิดเผยถึงการจัดงาน ออโตเมชั่นเอ็กซ์โป 2019 ว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกตื่นตัวปรับปรุงระบบการผลิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้นบริษัทฯจึงเล็งเห็นโอกาสในการเจาะกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ อีอีซี จึงได้จัดงาน ออโตเมชั่นเอ็กซ์โป 2019 ขึ้นที่ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา จ.ชลบุรี ในวันที่ 14-16 มี.ค. 2562 ต่อเนื่องความสำเร็จในปีที่ผ่านมาที่ได้จัดงาน ออโตเมชั่นเอ็กซ์โป 2018 ที่ศูนย์ประชุมพีช โรงแรมรอยัลคลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป พัทยา
“ที่ผ่านมางานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไม่เคยจัดในต่างจังหวัดเลย แต่บริษัทฯ เห็นความสำคัญของ อีอีซี ที่มีอัตราการเติบโตด้านอุตสาหกรรมสูง โดยเฉพาะในกลุ่ม เอสเอ็มอี ที่ต้องปรับปรุงระบบการผลิตให้สามารถรองรับออเดอร์จากบริษัทขนาดใหญ่ได้ แต่ทั้งนี้ ในภาคตะวันออกศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ยังมีไม่เพียงพอ ทำให้รองรับงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ได้ยาก เชื่อว่าหลังจากอีอีซีเกิดขึ้น จะมีธุรกิจจัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่ตามมาเพิ่มขึ้น”
โดยในปีนี้จะมีบริษัทผู้จำหน่ายเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม คลังสินค้าอัจฉริยะ มาร่วมงาน 80 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 70 ราย ตั้งเป้าผู้ประกอบการจะตัดสินใจซื้อในงานไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และมียอดขายต่อเนื่องทั้งปีไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 6 พันคน ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา ที่มียอดขายภายในงาน 60-70 ล้านบาท และมียอดขายต่อเนื่องทั้งปี 200-300 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 3 พันคน
เจาะตลาดเอสเอ็มอี-แปรรูปเกษตร
สำหรับเป้าหมายของผู้เข้าร่วมงานจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ อีอีซี ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป แปรรูปสินค้าเกษตร ที่เป็นเอสเอ็มอีขนาดใหญ่มีผลผลิตต่อปีสูง ซึ่งการนำระบบอัตโนมัติชั้นสูงเข้ามาปรับปรุงระบบการผลิต ทำให้ช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต และเพิ่มคุณภาพให้กับสินค้า เช่น โรงสีข้าวที่นำเครื่องจักรอัตโนมัติคัดเมล็ดข้าวที่เสีย ทำให้ยกระดับราคาขายข้าวได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงใช้ระบบอัตโนมัติในคลังเก็บสินค้าจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้มาก ตลอดจนการใช้แขนหุ่นยนต์ในส่วนของงานที่มนุษย์มีขีดจำกัด และช่วยลดอุบัติเหตุ เช่น การยกของ การหยิบจับในส่วนที่เป็นอันตราย
“การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ในส่วนของคลังสินค้า จะช่วยลดต้นทุนให้กับเอสเอ็มอีได้มาก และปรับเปลี่ยนได้ง่าย เพราะไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับระบบการผลิต ซึ่งเอสเอ็มอีในทุกอุตสาหกรรมสามารถนำเครื่องจักรอัตโนมัติได้ทันที”
ในส่วนของเทรนการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนไป จากในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะเน้นการซื้อแขนกลหุ่นยนต์ขนาดเล็กเพื่อนำไปทำงานร่มกับมนุษย์ในโรงงาน ส่วนในปีนี้ผู้ประกอบการเริ่มมาเน้นในเรื่องโซลูชั่นในส่วนของการลำเลียงสินค้า การคัดสินค้า ทำให้ช่วยลดความเสียขายของสินค้า
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีข้อจำกัดในเรื่องของการจ้างบุคลากร System Integrator (SI) ด้านหุ่นยนต์ เพราะในขณะนี้ผู้ประกอบการ SI ยังมีน้อยมาก ดังนั้นในแต่ละโรงงานควรจะสร้างบุคลากรด้าน SI ของตัวเอง เพื่อให้ปรับปรุงระบบการผลิตในโรงงานได้รวดเร็ว รวมทั้งผู้ประกอบการจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต