ดันลงนาม '5โปรเจค' เม.ย.62
สกพอ.เร่งผลักดัน 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐาน ยอดเงินลงทุนรวม 6.5 แสนล้านบ. มั่นใจทุกโครงการได้ผู้ร่วมลงทุนภายในเดือนเม.ย. 2562 เผยปี2561 ยอดขอลงทุนใน จ.ชลบุรี สูงสุด 5.76 แสนล้านบาท จ.ระยอง 5.8 หมื่นล้านบาท จ.ฉะเชิงเทรา 4.8 หมื่นล้านบาท
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยแผนการพัฒนาแบ่งเป็น 4 ระยะ และปัจจุบันได้ดำเนินการมาถึงระยะที่ 3 แล้ว โดยในระยะที่ 1 ได้ทำการวางแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี และออกพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 เสร็จเรียนร้อยแล้ว
ส่วนในระยะที่ 2 การพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ 5 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 6.5 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้จะเป็นเงินลงทุนภาครัฐ 30% มีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยรัฐจะได้ผลตอบแทนทางการเงิน 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งประเทศชาติได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 8.2 แสนล้านบาท และคาดว่าโครงการทั้งหมดจะได้เอกชนผู้ร่วมลงทุนภายในเดือน เม.ย.2562
สำหรับ 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีมูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาท ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุน 6% เอกชนลงทุน 94% มีเอกชนซื้อเอกสารคัดเลือก 42 ราย กำหนดให้ภาคเอกชนยื่นข้อเสนอ 28 ก.พ.2562 และจะเปิดดำเนินการในปี 2566
2.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าโครงการ 1.8 แสนล้านบาท โดยภาครัฐจะร่วมลงทุน 65% เอกชนลงทุน 35% มีผู้ซื้อเอกสารคัดเลือก 31 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินหาผู้ลงทุน และจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566
มั่นใจแหลมฉบังเดินหน้าต่อ
3.ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการ 1.1 แสนล้านบาท ภาครัฐเป็นผู้ลงทุน 47% เอกชนลงทุน 53% มีผู้ซื้อเอกสารคัดเลือก 32 ราย กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือน ก.พ.2562 และจะเปิดดำเนินการได้ในปลายปี 2566
สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เปิดรับซองประมูลเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ยกเลิกการประมูลเพราะมีปัญหาเอกชนมีเวลาเตรียมตัวน้อยเพียง 2 เดือน ซึ่งปกติการประมูลโครงการใหญ่จะมีเวลา 3-4 เดือน และที่ผ่านมามีผู้ซื้อซอง 13 ราย ส่งหนังสือมาที่ สกพอ.ขอขยายเวลาการยื่นซองประมูล
4.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา มูลค่าโครงการ 1 หมื่นล้านบาท โดยภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุน 60% เอกชนลงทุน 40% กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ 18 ก.พ.2562 และ 5.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการ 6 หมื่นล้านบาท ภาครัฐลงทุน 23% ภาคเอกชนลงทุน 77% มีเอกชนซื้อเอกสารคัดเลือก 18 ราย กำหนดยื่นข้อเสนอ 6 ก.พ.2562 และจะเปิดดำเนินการต้นปี 2568
ทำแผนดึงลงทุนการศึกษา
นายคณิศ กล่าวว่า การดำเนินการตามแผนพัฒนาในระยะที่ 3 จะเป็นการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีการวางแผนเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันการดำเนินงานอยู่ในระยะนี้ โดยจะเร่งออกไปชัดจูงการลงทุนใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งเป็น กลุ่มต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่มี 7 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาบุคคลากรและการศึกษา
มั่นใจลงทุนจริง3จังหวัดพุ่ง
“ผลจากโครงการอีอีซี ทำให้มียอดการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2560 มียอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 3.1 แสนล้านบาท ปี 2561 มียอดเพิ่มเป็น 6.83 แสนล้านบาท ส่วนการลงทุนจริงในปี 2560 มีมูลค่า 1.19 แสนล้านบาท ปี 2561 เพิ่มเป็น 2.65 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 2562 จะมียอดการลงทุนจริง 5.34 แสนล้านบาท”
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่า ปี 2561 จังหวัดที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากสุด คือ ชลบุรี มี 193 โครงการ มูลค่าการลงทุน 5.76 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นระยอง มี 156 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน 5.8 หมื่นล้านบาท และฉะเชิงเทรา มี 73 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาท
ส่วน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายพบว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1.3 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2.3 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 3.1 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 2.2 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 1.1 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 150 ล้านบาท อุตสาหกรรมอากาศยาน 6.5 พันล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 5.1 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิทัล 1.3 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ 9.2 พันล้านบาท
เร่งแผนระยะ 4 เกษตรสมัยใหม่
นายคณิศ กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะที่ 4 จะเร่งดำเนินการใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การศึกษา โดยจะพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาสู่ไทยแลนด์4.0 2. สาธารณสุข ผลักดันโครงการ Medical Hub 3.ยกระดับเกษตร แบ่งเป็นการพัฒนาเกษตรแบบเดิม ด้วยการยกระดับภาคการเกษตรไปสู่การผลิตในอุตสาหกรรมและพัฒนาในด้านพาณิชย์ และแกษตรแบบใหม่ จะพัฒนาผลผลิตของเกษตรไปสู่อุตสาหกรรม โดยนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่า 4.ทำผังเมืองอีอีซี และ5. การจัดทำแผนด้านสิ่งแวดล้อม
“จากแผนพัฒนาอีอีซีทั้งหมด จะทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรใน 3 จังหวัด พื้นที่ อีอีซี สูงขึ้นเป็น 2.1 หมื่นดอลลาร์ต่อคนต่อปี ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศเพิ่มขึ้นจนบรรลุเป้าหมายการหลุดพ้นจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางที่ 1 หมื่นดอลลาร์ต่อคนต่อปี เร็วกว่าการเติบโตปกติที่ไม่มีการดำเนินการนโยบาย อีอีซี ถึง 5 ปี และมีสขนาดเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 15 ล้านล้านบาท ในปี 2560 เพิ่มเป็น 30 ล้านล้านบาท ในปี 2570 และเพิ่มเป็น 60 ล้านล้านบาท ในปี 2580”