กระทรวงดิจิทัลฯ ผลักดันอาเซียน ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เดินหน้า 5 มาตรการหลัก ยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อม “อีอีซี” ด้านเอกชน หนุน นโยบายรัฐตั้ง “บิ๊กดาต้าอาเซียน” เปิดทางชาติสมาชิกใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ขยายการค้า การลงทุนระหว่างกัน
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “Digital Infrastructure” จัดโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย (ASEAN BAC) ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่า พันธกิจของรัฐบาลที่จะดำเนินการมุ่งสู่ดิจิทัลในอนาคต โดยจะดำเนินการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ยุคดิจิทัล และการเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งหวังจะให้องคาพยพสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายใน 5 ปี โดยการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลจะครอบคลุมการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและการปรับปรุง การให้บริการของภาครัฐ
นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ จะร่วมกันผลักดันแนวคิดตามที่รัฐมนตรีอาเซียนได้เห็นชอบใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.เชื่อมโยงอาเซียนด้วยดิจิทัล 2.การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ 3.การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ 4.เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนโดยการผลักดันอีคอมเมิร์ซ และ 5.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม ในด้านดิจิทัล
โครงข่ายใต้น้ำเชื่อมอาเซียน
ในส่วนของประเทศไทยโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นพื้นที่พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเตรียมพื้นที่ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จำนวน 800 ไร่ รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างอาคารแรกมีเนื้อที่ 8 หมื่นตารางเมตร เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี IoTและ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ โดยเชิญชวนให้ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนสร้างสมาร์ทซิตี้ สร้างแพลตฟอร์มด้านการค้าดิจิทัล ส่งเสริมการลงทุนด้านแอนนิเมชั่น และการออกแบบที่ทันสมัย
นอกจากนี้ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ซึ่งห่างจากดิจิทัลปาร์คไทยแลนด์ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ได้เตรียมพื้นที่ 199 ไร่ เพื่อสร้างอาคารเรียนเพื่อสอนใน 5 คณะวิชาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี พื้นที่บางส่วนเตรียมไว้รองรับการทดสอบเทคโนโลยี 5G ในช่วงปลายเดือนนี้ ขณะนี้มีการทยอยนำอุปกรณ์เข้ามาติดตั้งแล้ว รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากรรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย
ดิจิทัลพาร์คเสริมนวัตกรรมอีอีซี
“ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ จะช่วยเสริมศักยภาพของอีอีซี ที่เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือลึกมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 รวมถึงการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเกิดการเชื่อมโยงผ่านระบบดิจิทัลที่ทันสมัยและเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่อีอีซี และยังเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะมีโครงการเคเบิ้ลใต้น้ำที่เชื่อมโยงอีอีซีกับอาเซียน และทุกภูมิภาคทั่วโลก”
รายงานข่าวจากกระทรวงดิจิทัลฯ ระบุว่า ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ว่า โครงการดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ รองรับการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยจะจะเป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) โดยเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ จะถูกนำมาใช้ในพื้นที่นี้ ทำให้การบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างสะดวก มีความปลอดภัยสูง และมีโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีรวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเต็มที่ ซึ่งการขอใบอนุญาตธุรกิจจะสะดวกรวดเร็วกว่าพื้นที่อื่น ทำให้ผู้พัฒนาพื้นที่และผู้มาลงทุนตั้งธุรกิจได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดและความสะดวกเช่นการขอวีซ่าให้นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ สิทธิลดหย่อนเงินได้ภาษีให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในอีอีซี
ดันบิ๊กดาต้าหนุนธุรกิจ10ชาติ
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร.กล่าวว่า ภาคเอกชนจะต้องหาแนวทางในการใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างแน่นแฟ้น ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้รัฐบาลลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศเพื่อเชื่อมภาคธุรกิจไทยสู่ตลาดโลก
นอกจากนี้ จะต้องทำให้อาเซียนเกิดการติดต่อเชื่อมโยงข้อมูลการค้าระหว่างกัน โดยสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการผลักดันการลงทุนสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) ของอาเซียน โดยประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนจะผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของชาติสมาชิกอาเซียนมาก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งด้านการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจ โดยหลังจากนี้จะหารือในรายละเอียดในการตั้งบิ๊กดาต้าอาเซียนกับประเทศสมาชิกต่อไป
“โครงการจัดตั้ง บิ๊กดาต้าอาเซียน ขณะนี้เป็นแนวคิดที่ชาติสมาชิกทุกประเทศจะต้องช่วยกันผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อแต่ละประเทศจะได้นำข้อมูล บิ๊กดาต้า ไปวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อไป”
ทั้งนี้ ภายหลังการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ควรสานต่อโครงการของรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะในเรื่องอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน 7.5 หมื่นหมู่บ้าน ได้เริ่มต้นเอาไว้แล้วต่อไป โดยต่อยอดให้ชุมชนต่างๆ ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างเต็มที่
เร่งเอสเอ็มอีปรับตัวดิจิทัล
นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน กล่าวว่า ภาคเอกชนจะเร่งดำเนินการที่สอดรับกับนโยบายของภาครัฐเพื่อยกระดับอาเซียนไปสู่ยุค 4.0 ภายใต้เสาหลัก 4 เสา ได้แก่ 1.โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 2. การเชื่อมโยงชาติสมาชิกผ่านเครือข่ายดิจิทัล 3. การพัฒนายกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลและยังเป็นการช่วยลดการตกงานในอนาคตอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งผลิตแรงงานเพื่อรองรับงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี และ5. สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้พัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัล
“การพัฒนาเอสเอ็มอีเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทุกประเทศในอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยจะต้องเร่งยกระดับความสามารถเอสเอ็มอีในด้านดิจิทัล เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นกระดูกสันหลังของทุกประเทศ หากยกระดับสู่ยุค 4.0 ได้ก็จะทำให้ประเทศชาติพัฒนาอย่างก้าวกระโดด”