ปั้นหลักสูตรโลจิสติกส์ สร้างแรงงานหนุนอีอีซี
การท่าเรือฯ จับมือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ออกแบบหลักสูตรสร้างศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ หวังรองรับการขยายตัวอีอีซี ตั้งเป้าดันโครงการ 5 ปี ผลักดันบุคลากรเข้าอุตสาหกรรม 5 พันคน
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นประธานและสักขีพยานพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาบุคลากรและบุคคลทั่วไป ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน วานนี้ (24 ม.ค.) โดยระบุว่า กทท. และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมมือกันดำเนินการพัฒนาบุคลากรและบุคคลทั่วไป เพื่อมุ่งผลิตและยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานด้านการปฏิบัติงานท่าเรือ โดยร่วมกันออกแบบหลักสูตร การแบ่งปันการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร ผลิตฝีมือแรงงานที่มีมาตรฐานให้เพียงพอรองรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
โดย กทท. ได้จัดทำโครงการให้บริการหลักสูตรพัฒนาทักษะเฉพาะด้านเกี่ยวกับการปฏิบัติงานท่าเรือ อาทิ หลักสูตรการฝึกขับเครื่องมือทุ่นแรง หลักสูตรการดับเพลิงขั้นต้น หลักสูตรการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ หลักสูตรการจัดการสินค้าอันตราย เป็นต้น เพื่อนำความสามารถพิเศษขององค์กรมาใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้ต่อชุมชน โดย กทท.จะจัดฝึกอบรมให้กับชุมชนโดยรอบท่าเรือทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับบุคคลทั่วไป
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์รัฐบาลเรื่องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการพัฒนาคุณภาพกำลังคนโดยเฉพาะบุคลากรในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีกำลังแรงงานมากกว่า 2.85 ล้านคน ทั้งด้านการขนส่ง การผลิตสินค้า และการบริการของประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือและใช้เทคโนโลยีสมัครใหม่ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะร่วมมือกันระยะ 5 ปี ในพื้นที่ท่าเรือ 5 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเชียงของ ท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือระนอง โดยมีเป้าหมายพัฒนาปีละ 1 พันคน