ก.ล.ต.จ่อลงดาบผู้บริหาร 'เอิร์ธ'
ก.ล.ต.ลั่นไม่ขยายเวลา “เอิร์ธ” ส่งรายงานผลการทบทวนมูลค่ายุติธรรมของสิทธิในเหมืองถ่านหินทั้ง 2 แห่ง ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งครบกำหนดส่งไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2561 ชี้มีความผิดพร้อมส่งดำเนินคดี
สืบเนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ขยายระยะเวลาการนำส่งคำชี้แจงและข้อมูล ให้บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) (EARTH) ใน 2 กรณี ประกอบด้วย
1. ความมีอยู่จริงและสิทธิตามกฎหมายในเหมืองถ่านหิน เป็นภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 จากกรณีที่ช่วงเดือนกรกฎาคม - เดือนกันยายน 2560 EARTH ได้นำเงินจ่ายล่วงหน้า เงินจองสิทธิ รวมทั้งสินทรัพย์อื่นของบริษัทรวมมูลค่า 731 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 24,000 ล้านบาท ไปแลกเปลี่ยนกับสิทธิในเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เหมือง EHM และเหมือง JAB ซึ่ง EARTH ได้นำส่งข้อมูลต่อ ก.ล.ต. และได้เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561
2.รายงานผลการทบทวนมูลค่ายุติธรรมของสิทธิในเหมืองถ่านหิน เป็นภายในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่ง ก.ล.ต. ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเหมาะสมของข้อมูลและสมมติฐานที่ใช้อ้างอิงในการคำนวณมูลค่ายุติธรรมของสิทธิในเหมืองถ่านหิน
ต่อมา EARTH ขอขยายระยะเวลาในการนำส่งรายงานผลการทบทวนมูลค่ายุติธรรมของสิทธิในเหมืองถ่านฃหิน แต่เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินของ EARTH รวมทั้งเป็นกรณีที่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นของ EARTH ในวงกว้าง
ประกอบกับ ก.ล.ต. ทราบว่า EARTH ได้รับข้อมูลรายงานผลการทบทวนมูลค่ายุติธรรมของสิทธิในเหมืองถ่านหินจากผู้ประเมินแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2561 จึงอยู่ในวิสัยที่ EARTH สามารถดำเนินการได้
ก.ล.ต. จึงไม่ขยายระยะเวลาในการนำส่งรายงาน และกำชับ EARTH และกรรมการทุกคนให้เร่งนำส่งรายงาน พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยเร็ว
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ทราบว่า ในการเปิดเผยข้อมูลกรณีความมีอยู่จริงและสิทธิตามกฎหมายในเหมืองถ่านหินของ EARTH ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 นั้น EARTH ยังเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากที่ปรึกษากฎหมายไม่ครบถ้วน ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่มีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญต่อสิทธิในเหมืองถ่านหินของ EARTH ก.ล.ต. จึงขอให้ EARTH เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนเข้าใจและรับทราบอย่างครบถ้วนด้วย
อย่างไรก็ดี การไม่ดำเนินการตามคำสั่งของ ก.ล.ต. ข้างต้น เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 58 (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 274 และเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/10 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ซึ่งกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท จะต้องรับโทษในกรณีดังกล่าว ตามที่กำหนดในมาตรา 300 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ซึ่ง ก.ล.ต.จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป