'คณิศ' สร้างเชื่อมั่นญี่ปุ่น ลุยต่อ 'อีอีซี' หลังเลือกตั้ง
การโรดโชว์ครั้งแรกของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ถึง 2 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ระหว่างการเดินทางเยือนนครโอซากา และเขตคันไซ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และบีโอไอ ได้มีโอกาสชี้แจงบนเวทีสัมมนาหัวข้อ Advancing ASEAN*Japan ที่นครโอซากา ซึ่งบีโอไอได้เชิญนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนมากมาเข้าร่วม โดยนักลงทุนชาวญี่ปุ่นได้สอบถามถึงความต่อเนื่องของนโยบายอีอีซี รวมทั้งสอบถามว่าหลังการเลือกตั้งจะมีความต่อเนื่องหรือไม่
ทั้งนี้ ได้ชี้แจงว่าโครงการอีอีซีจะมีความต่อเนื่องไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ด้วยเหตุผล 3 ข้อคือ 1.การขับเคลื่อนอีอีซีดำเนินการผ่าน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายและนโยบาย แนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนทำให้โครงการนี้ และ สกพอ.จะยังคงทำงานได้ในระยะยาวเหมือนกับสำนักงานบีโอไอที่มีภารกิจต่อเนื่อง
2.นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยตำแหน่ง ซึ่งทำให้โครงการนี้ได้รับการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารสูงสุดของรัฐบาล และ 3.รัฐบาลต่อไปสามารถนำรูปแบบความสำเร็จของนโยบายอีอีซีไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ เช่น ระเบียงพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) ระเบียงพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ รวมทั้งการนำแนวคิดไปพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยภาครัฐจัดผังเมืองรวมในพื้นที่และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใช้การลงทุนของภาคเอกชน
สำหรับสถานะทางเศรษฐกิจของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ คือมีการขยายตัวในระดับที่น่าพอใจจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเห็นได้ว่าในปี 2561 ที่ผ่านมา การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนขยายตัวสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ขยายตัวได้ประมาณ 4% แต่การลงทุนเอกชนขยายตัว 4.4% ส่วนภาครัฐขยายตัว 6.6% ขณะที่การส่งออกในปี 2562 คาดการณ์ว่าจะเติบโตใกล้เคียงกับจีดีพีที่ 4.1% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของจีดีพีมาจากปัจจัยภายใน โดยเฉพาะการลงทุนมีมากขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีตที่ 10 ปีก่อน การลงทุนเอกชนไม่เกิน 2%
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงการอีอีซีทำให้การลงทุนในภาพรวมของประเทศขยายตัวได้ถึง 10% ในปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบไปด้วยโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการหลัก ซึ่งได้รับการผลักดันตามแผนระยะที่ 2 ของการพัฒนาอีอีซี มูลค่าลงทุนรวม 6.5 แสนล้านบาท และจะได้ตัวเอกชนผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการทั้งหมดภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งจะเริ่มทยอยลงทุนได้ในครึ่งหลังของปี 2562 เป็นต้นไป
ส่วนแผนพัฒนาอีอีซีระยะที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนของการเริ่มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม และเพิ่มเติม 2 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและกิจการด้านการศึกษา จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามายังอีอีซีต่อเนื่อง เพื่อให้อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายให้เกิดการลงทุนเพิ่มจากการลงทุนในปีปกติประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยจะเป็นแผนที่ทำให้เกิดการลงทุนในอีอีซีระยะที่ 3
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาอีอีซีระยะที่ 3 จะให้ความสำคัญในการไปเชิญชวนนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงทุน โดยจะมุ่งไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S Curve) เช่น หุ่นยนต์ เครื่องมือแพทย์ ดิจิทัล เพราะในกลุ่มเป้าหมายซึ่งมีพื้นฐานจากอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพอยู่เดิม
ขณะที่การเดินทางมาญี่ปุ่นร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการโรดโชว์ในพื้นที่เป้าหมายของญี่ปุ่นครบ 3 พื้นที่แล้วคือ กรุงโตเกียว จ.ไอจิ และนครโอซากา ซึ่งเชื่อว่าจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการตามมา เพราะในพื้นที่เหล่านี้ถือว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมไฮเทคชั้นนำของญี่ปุ่น
ส่วนนักลงทุนจากภูมิภาคอื่น เช่น ฝรั่งเศส ที่สนใจลงทุนในไทย โดยกรณีแอร์บัสที่ร่วมมือกับการบินไทย พัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
นอกจากนั้นแอร์บัสยังมีแผนจะลงทุนในธุรกิจส่งตัวผู้ป่วยโดยเฮลิคอปเตอร์ในไทย และกำลังมองหาพื้นที่ในอาเซียนในการตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ด้วย ซึ่งความชัดเจนของแอร์บัสจะทำให้บริษัทที่เป็นซัพพลายเชนของแอร์บัสตามเข้ามาลงทุนราว 40 บริษัท
สำหรับความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาสัญญากับกลุ่มซีพีและพันธมิตร
“ในขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาซึ่งไม่ทำให้โครงการนี้ในภาพรวมล่าช้า ก็จะเจรจาภายในเดือน ก.พ.นี้ ส่วนเงื่อนไขที่อาจยอมรับไม่ได้ก็ต้องมาดูว่าคืออะไร หากเจรจาไม่ได้ก็ค่อยว่ากัน”
ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่เปิดขายซองประมูลและเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอใหม่ ก็เชื่อมั่นว่าทุกโครงการจะได้ผู้ร่วมลงทุนภายในเดือน เม.ย.นี้ และที่ล่าช้าเพราะต้องยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกที่ไทยจะให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการที่เป็นการประมูลแบบนานาชาติ (International Biding) ซึ่งต่างจากอดีตที่รัฐจะเป็นผู้พัฒนาเอง ดังนั้นในสิ่งที่เป็นครั้งแรกนี้จะต้องใช้เวลา โดยกรณีของท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 หลังจากปรับช่วงเวลาที่เอกชนสามารถยื่นข้อเสนอได้ ทำให้ขณะนี้มีผู้พัฒนาท่าเรือระดับโลกสนใจ เช่น ไชน่าฮาเบอร์จากจีน ฮิโตชูจากญี่ปุ่น รวมถึงสิงคโปร์พอร์ต
“สถานการณ์ในโลกที่ประเทศขนาดใหญ่มีสงครามการค้า ยุโรปก็ยังไม่มีความชัดเจน จะเป็นกลไกที่บีบให้ประเทศในเอเชียมีความเชื่อมโยงและพึ่งพากันมากขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายถึงประเทศไทยจะต้องมีความพร้อม มีพื้นที่ที่จะรองรับการลงทุนระหว่างเอเชียด้วยกัน ซึ่งแนวโน้มการเคลื่อนย้ายการลงทุนซึ่งไทยต้องเตรียมความพร้อมรับการลงทุน หากเราพัฒนาอีอีซีได้สมบูรณ์ เราก็ไม่ต้องกังวลกับความไม่แน่นอนของสงครามการค้า”