“ยูนิเวนเจอร์” รับมือขาลงอสังหาฯ ผนึกทีซีซี-ผงาดทุกตลาด
แม้ไม่ฟันธงว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2562 จะโตมากกว่าหรือน้อยกว่าปี 2561 แต่เมื่อจับจังหวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อในประเทศ และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก
ทำให้พอวางแผนธุรกิจ “บู๊” หรือ “บุ๋น”ได้สำหรับ “ยูนิเวนเจอร์” (ยูวี) อีกหนึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าสัวน้อย “ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี” ทายาทอาณาจักร์ไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น (ทีซีซี กรุ๊ป) ที่ประกาศเกม“รุก”เต็มขั้น
ประเดิมรุกแรกคือ “เร่งระบายสต็อก” โครงการอสังหาฯ ประเภทคอนโดมิเนียมจาก “โครงการยูดีไลท์” อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหลือยูนิตขายเป็น“ศูนย์” นั่นถือเป็นภารกิจที่แม่ทัพ วรวรรต ศรีสอ้าน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ยูนิเวนเจอร์ ต้องลุย!
สำหรับโครงการยูดีไลท์ พัฒนาโดยบริษัท แกรนด์ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของยูนิเวนเจอร์ เคยแบกสต็อกคอนโดมิเนียมร่วม 8,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีก่อน ปัจจุบันทยอยลดเหลือ 13% คิดเป็นมูลค่า 1,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนห้องชุดหลัก 10 ยูนิต หากปล่อยสินค้าดังกล่าวได้หมด ถือว่าช่วยเพิ่มกระแสเงินสด และยังพอทำ “กำไร” ตุนกระสุนทุนลุยโปรเจคใหม่
โดยปี 2562 วรวรรต กางแผนลงทุนของบริษัทลูกทั้งแกรนด์ยูนิตี้ และแผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (โกลเด้นแลนด์) พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงรวมกัน 31 โครงการ รวมมูลค่า 38,200 ล้านบาท แม้จำนวนโครงการน้อยกว่าปีก่อน แต่มูลค่าโครงการทุ่มทุนมากขึ้นกว่า 22,000 ล้านบาท ส่วนงบซื้อที่ดินปีนี้อยู่ที่ 15,000 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีนี้ บริษัทมุ่งสร้างความหลากหลาย(Diversify)ของพอร์ตโฟลิโอที่อยู่อาศัยบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด คอนโดมิเนียม และธุรกิจโรงแรม เพื่อทำรายได้จากการขายและรายได้ประจำเข้ามาต่อเนื่อง เช่น ปลายปี 2561 ได้พัฒนาโรงแรมโมเดน่า บาย เฟรเซอร์ บุรีรัมย์ ระดับ 4 ดาว เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและกีฬา ที่บูมมากในจังหวัดบุรีรัมย์ เพราะมีทั้งฟุตบอล การแข่งขันจักรยายนต์ทางเรียบหรือโมโตจีพี 3 ปีซ้อน การวิ่งมาราธอนที่คนเข้าร่วมเติบโตเท่าตัวทุกปี จาก 6,000 คน เป็น 12,000 คน และ 24,000 คนตามลำดับ
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา บุรีรัมย์เป็นจุดหมายปลายทางมีนักท่องเที่ยวไปเยือนจากไม่ถึง 1 ล้านคน จนแตะ 1.54 ล้านคน และยังเป็นเมืองรองจังหวัดเดียวของไทยที่ทำรายได้จากการท่องเที่ยวเติบโต 15% ขณะที่ธุรกิจโรงแรมผุดขึ้นเป็นเงาตามตัวปี 2559 มีจำนวนห้องพัก 3,850 ห้อง อัตราการเข้าพักเฉลี่ย 58.54% จากปี 2556 มี 2,784 ห้อง อัตราการเข้าพักเฉลี่ย 40.29%
บริษัทยังขยายธุรกิจสู่การบริหารจัดการสินทรัพย์ หรือจัดการอสังหาริมทรัพย์ มีโบรกเกอร์ในการดูแลการปล่อยเช่าหรือการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการบริการที่ครอบคลุมทั้งในช่วงการเตรียมการ และระหว่างการก่อสร้าง เป็นต้น
“ปัจจุบันเรามีรายได้ประจำราว 7% แต่ในปี 2563 จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 10%”
นอกจากนี้ ยังขยายตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น มีโปรดักท์ครบจับกลุ่มเป้าหมายระดับล่าง(Low end market) ระดับกลาง(Mid end market) และตลาดบน(Hi-end market) ตั้งแต่ราคา 60,000-80,000 บาทต่อยูนิต ไปจนถึงหลัก 1.8-1.9 แสนบาทต่อยูนิต และนั่นทำให้บริษัทมีแบรนด์ที่อยู่อาศัยหลากหลายมากขึ้น เช่น เซียล่า เดนิม ANIL สารสิน ไพรเวท เรสซิเดนท์ เป็นต้น
“เราต้องไดเวอร์ซิไฟโปรดักท์ให้หลากหลาย เพราะหากรายได้จากการซื้อขายอสังหาฯชะลอ ยังมีอาคารสำนักงานหรือออฟฟิศ โรงแรมเข้ามาช่วย หากทำโปรดักท์ทิศทางเดียวกันหมด เมื่อตลาดเกิดปัญหา ธุรกิจอาจเผชิญปัญหาตลอด ซึ่งการกระจายพอร์ตโฟลิโอดังกล่าว ทำให้เราได้เห็นผลตอบแทนของธุรกิจที่มีความสมดุล”
บริษัทยังเดินกลยุทธ์การผนึกกำลัง(ซีนเนอร์ยี)กับธุรกิจในเครือ เพื่อเสริมแกร่งรอบด้าน เช่นจับมือ ฟอร์เวิร์ด ซิสเต็ม และอะเฮดออล ขายงานระบบเข้าโครงการ การเข้าลงทุนในสโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ทำให้กลายเป็นผู้ร่วมก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจค “วันแบงค็อก” มูลค่าแสนล้านบาทของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นต้น
“การซีนเนอร์ยีเรามองการทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน เพิ่มผลตอบแทน ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น”
จากแผนดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะผลักดันรายได้ปีนี้อยู่ที่ 25,800 ล้านบาท เติบโต 15-25% จากปีก่อนอยู่ที่ 20,994 ล้านบาท เติบโต 16% ส่วนยอดรับรู้รายได้คาดอยู่ที่ 21,400 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขายรอรับรู้รายได้(แบ็คล็อก) 10,200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการทำธุรกิจอสังหาฯในปีนี้ หนีไม่พ้นมาตรการลดสัดส่วนสินเชื่อสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV) สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 และ 3 รวมถึงการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิเสธสินเชื่อให้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ส่วนปัจจัยบวกต่อตลาดคือการเลือกตั้ง