“หมดสตอรี่”ลงทุน..!! หุ้นพลังงานทดแทนไร้เสน่ห์

“หมดสตอรี่”ลงทุน..!! หุ้นพลังงานทดแทนไร้เสน่ห์

หมดช่วง“เอ็นจอย” ของเหล่าผู้ประกอบการ“พลังงานทดแทน” แล้ว !! เมื่อสารพัดปัจจัยลบถาโถมโดยเฉพาะ“โซลาร์-ลม” ฉุดมาร์เก็ตแคปหด“หมื่นล้าน” “เอกชน”ดิ้นรอด ลงทุนนอก-รุกโรงไฟฟ้าขยะ

พลันที่กระทรวงพลังงานประกาศทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ฉบับใหม่ (ปี 2561-2580) ทั้งแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าหลัก และแผนกำลังการผลิตพลังงานทดแทน

โดยเฉพาะนโยบายกระทรวงพลังงาน “หยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอีก 8 ปี (ปี2562-2569)” ผลสะเทือนจากนโยบายดังกล่าว ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานทดแทน เข้าสู่ ยุคขาลง

โดยแผน PDP ฉบับใหม่ ยังคงอัตราส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้ไม่เกิน 20% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับแผน PDP ฉบับก่อนหน้า (ปี 2558 -2579)

นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังประกาศขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า Ft อีก 0.043 บาทต่อหน่วย มาอยู่ที่ -0.116 บาทต่อหน่วย ในเดือนม.ค.-เม.ย.2562  ส่งผลให้มาร์จินพลังงานทดแทนที่อยู่ในรูปแบบ adder scheme  (ระบบที่รับซื้อไฟฟ้าในอัตราพิเศษ) ลดลง

หากประเมินผลพวงของผลกระทบดังกล่าว พบว่า  ผู้ประกอบการ พลังงานทดแทน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และพลังงานลม ในช่วงตั้งแต่ปี 2560-2561 จะได้รับผลกระทบนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ไม่ว่าจะเป็น บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA , บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น หรือ SUPER , บมจ. โซลาร์ตรอน หรือ SOLAR , บมจ.เอสพีซีจี หรือ SPCG , บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL

เพราะต่างมีตัวเลข มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ Market Cap อยู่ในแนวโน้มขาลง หากเปรียบเทียบตัวเลขมาร์เก็ตแคปหุ้นพลังงานทดแทน 5 ตัว ระหว่างต้นปี 2560-2561 จะพบว่า ตัวเลขปรับตัวลดลงเฉลี่ย 65,982.77 ล้านบาท !!

โดยบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA  มาร์เก็ตแคปลดลงเหลือ 158,525.00 ล้านบาท จาก 195,825.08 ล้านบาท พบว่ามาร์เก็ตแคปหายไปกว่า 37,300.08 ล้านบาท ขณะที่บริษัทพลังงานทดแทนตัวอื่นอย่าง บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL มาร์เก็ตแคปขยับลดลงเหลือ 20,772.14 ล้านบาท จาก 29,377.74 ล้านบาท 

บมจ. โซลาร์ตรอน หรือ SOLAR มาร์เก็ตแคปขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,110.01 ล้านบาท จาก 1,077.37 ล้านบาท ,บมจ.เอสพีซีจี หรือ SPCG มาร์เก็ตแคปขยับลดลงเหลือ 17,629.22 ล้านบาท จาก 20,235.38 ล้านบาท และ บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น หรือ SUPER มาร์เก็ตแคปที่ขยับลดลงเหลือ 14,495.22 ล้านบาท จาก 31,998.87 ล้านบาท ซึ่งมูลค่ามาร์เก็ตแคปหายไปกว่า 17,503.65 ล้านบาท

สอดคล้องกับ จักรพงศ์ เชวงศรี” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองต่อผู้ประกอบการในธุรกิจพลังงานทดแทนเมืองไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าโซลาร์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ว่า จากนี้ผู้ประกอบการกลุ่มพลังงานทดแทน ไม่มีสตอรี่” ดึงดูดความน่าสนใจแล้ว ยกเว้น พลังงานขยะ และพลังงานชีวมวล ที่ยังมองเห็นโอกาสในการลงทุน แต่ก็ต้องแลกด้วยเงินลงทุนที่อยู่ในระดับสูง และที่สำคัญต้องมีบ่อขยะเป็นของตัวเอง

เรามองว่าต่อไปผู้ประกอบการพลังงานทดแทนจะเติบโตค่อนข้างยาก เปรียบเหมือนธุรกิจผ่านช่วงเอ็นจอยกันมาแล้วจากช่วงที่ผ่านมาภาครัฐให้การสนับสนุน adder ในราคา 8 บาท ระยะเวลา 10 ปี หรือแม้แต่การแจกจ่ายใบอนุญาต (ไลเซนส์)

ขณะที่ การออกไปลงทุนพลังงานทดแทนใน ต่างประเทศ พบว่าประเทศที่ยังมีความน่าสนใจคือ เวียดนาม แต่จะเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่อยู่ที่ 200-400 เมกะวัตต์ ทำให้ผู้ประกอบการพลังงานทดแทนรายเล็กๆ จะเข้าไปลงทุนไม่ไหวเพราะว่าต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ดังนั้น หุ้นพลังงานทดแทนนรายเล็กๆ จะค่อนข้างเหนื่อย

ขณะที่ ประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ โดยผู้ประกอบการต้องยื่นขอเอกสารประกอบการเชื่อมต่อสายส่ง (Grid Connection Application) ภายในวันที่ 31 ส.ค. 2562 หากดำเนินการไม่ทันจะถูกลดราคารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed -in-Tariff (FIT) ลงเหลือ 21 เยนต่อหน่วย

ดังนั้น เรามองว่าผู้ประกอบการพลังงานทดแทนรายเล็กก็ต้องกินบุญเก่า แต่บุญเก่าค่า adder กำลังจะหมด ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้ประกอบการพลังงานทดแทนรายเล็กๆ จึงเหนื่อย

ขณะที่ พดด้วง คงคามี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริหาร บมจ.เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ หรือ SAAM บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทนในไทยบริษัทจะชะลดลงทุน เพราะภาครัฐหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทำให้คาดว่าการลงทุนจะหยุดนิ่งไปอีกกว่า 8 ปีข้างหน้า ซึ่งโครงการที่เห็นประกาศออกมาในปัจจุบันนั้น เป็นโครงการค้างท่อตั้งแต่ปี 2553 และนำมาประกาศใหม่ปี 2558

เมืองไทยพลังงานทดแทนจะหยุดชะงักผู้ประกอบการพลังงานทดแทนต้องพัฒนาโครงการเดิมที่มีอยู่ในมือ หรือลงทุนในต่างประเทศทดแทน หากบริษัทต้องการสร้างการเติบโตตามแผน

ดังนั้น SAAM จะยังไม่ลงทุนในประเทศ แต่จะเลือกไปลงทุนในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งทวีปที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดใน 10 ปีที่ผ่านมา คือ เอเชีย โดยเฉพาะ อาเซียน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นเป้าหมายที่บริษัทจะเข้าไปพัฒนา

เขายังประเมินว่า พลังงานโซลาร์ในไทยชะลอ แต่พลังงานชีวมวลกำลังมา ส่วนโครงการโซลาร์ที่ญี่ปุ่นทางรัฐบาลออกมาประกาศมาตรการล้างท่อ คือเอกชนที่มีใบอนุญาตเดิม แต่ยังไม่ดำเนินการก่อสร้างจะไม่ได้รับการอนุญาติอีกต่อไป กลายเป็นผลบวกต่อบริษัทเพราะหากมีการยกเลิกโครงการก็จะมีกำลังการผลิตเพิ่มหลักหมื่นเมกกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีโครงการโซลาร์ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดโครงการใบอนุญาติประมาณ 2 หมื่นเมกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ เพราะเมื่อมีคนเข้ามาในพลังงานชีวมวลจำนวนมาก ตลาดจะเป็นแข่งขันสูง (Red Ocean) ดังนั้นบริษัทจะไม่รอให้ตลาดเป็นเช่นนั้น แต่จะไปหาพลังงานตัวอื่นๆก่อน เช่น พลังงานลม , น้ำ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปีนี้

ส่วนแผนธุรกิจ 3 ปี (2561-2563) มีเป้าหมายพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีอยู่ 40 เมกะวัตต์ เหลืออีก 60 เมกะวัตต์ ถ้าโครงการที่ญี่ปุ่นเข้ามารายได้จะเกิดขึ้นราว 100 ล้านบาทขึ้นไป

สำหรับโอกาสในการพัฒนาโครงการต่างๆ พบว่า ในปี 2560 มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ติดตั้งทั่วโลกอยู่ประมาณ 9.19 แสนเมกะวัตต์ และก็มีนโยบายร่วมกันเพิ่มพลังงานหมุนเวียนในอนาคต ในการใช้พลังงานหมุนเวียนประมาณ 20-25% ของพลังงานทั้งหมด โดยเป้าหมายในปี 2583 จะต้องมีพลังงานหมุนเวียนติดตั้งทั้งหมด 2.6 ล้านเมกะวัตต์ ซึ่งหมายความว่ายังมีโอกาสที่จะพัฒนาไปได้อีก 1.7 แสนเมกะวัตต์

พร้อมกันนี้บริษัทก็ยังมองโอกาสขยายธุรกิจไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น การเป็นผู้รับจ้างผลิตวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้า หรือลงทุนในธุรกิจจัดหาเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า (เทรดดิ้ง) เพื่อให้ครบวงจรมากขึ้น

---------------------------------

PDPใหม่หนุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

อรมงคล ตันติธนาธร นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่มสาธารณูปโภค ด้วยปัจจัยหนุนหลักจากแผน PDP ใหม่ที่สร้างความกังวลเรื่องสถานการณ์อุปทานไฟฟ้าระดับภูมิภาคและข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันที่เพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการขยายกำลังการผลิตหากมีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และรายเล็ก (SPP)

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผน PDP ใหม่ จะช่วยเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า IPP และ SPP ปัจจุบันที่ให้เพิ่มกำลังการผลิตในประเทศขึ้นแทนที่จะมองหาโอกาสขยายธุรกิจในต่างประเทศแทน โดยแผน PDP ฉบับร่างกำหนดให้ต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ขึ้น 700 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 2565-2566 ในภาคตะวันตก รวมทั้งเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทดแทนโรงไฟฟ้าที่เปิดเชิงพาณิชย์มาเป็นเวลานานแล้ว และรองรับอุปสงค์ในประเทศที่มากขึ้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าอุปสงค์ในระยะยาวจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ระหว่างปี 2560-2580 อยู่ที่ 3% ภายใต้ประมาณการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ที่คาดว่าจะเติบโตระดับ 3.8%

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า SPP ยังประสบความท้าทายจากต้นทุนก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1/2562 เนื่องจากโครงสร้างราคาก๊าซของประเทศไทยมีช่วงเหลื่อมกับราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 3-9 เดือน และจากการที่ก๊าซเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลัก โดยคิดเป็นอัตราส่วนที่มากกว่า 60% จึงคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นค่า Ft อีกเนื่องจากคาดว่าราคาก๊าซจะแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 2/2562

-----------------------

โอกาสทองโรงไฟฟ้าขยะ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการ "20 ปี ปัญหาขยะหมดประเทศไทย ด้วยกลไกตลาดทุน" ว่า ปัญหาขยะเมืองไทยกำลังเป็นเรื่องระดับประเทศ ซึ่งมองว่าการแก้ไขและวิธีการจัดการปัญหาขยะในประเทศไทยจะต้องดำเนินการด้วยการใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงป้อนให้กับโรงไฟฟ้า ในรูปแบบของ “โรงไฟฟ้าขยะโดยมองว่าภาคเอกชนจะต้องดำเนินการร่วมลงทุนกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นของรัฐ

โดยโรงไฟฟ้าขยะจะเป็นประเภท ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก” (VSPP)ขนาดกำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ (MW) โดยต้นทุนของการกำจัดขยะด้วยโรงไฟฟ้าจะมีต้นทุนเพียง 500 บาทต่อตัน ซึ่งหากทำในรูปแบบอื่นจะต้องใช้เงินกว่า 1,000 บาทต่อตัน

ในช่วงที่ผ่านมาเมืองไทยมีปริมาณขยะอยู่ที่ 27 ล้านตันต่อปี และวิธีบริหารจัดการที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ซึ่งมีเริ่มมีการบริหารจัดการแล้ว แต่ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม” 

ทวี จงควินิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด บอกว่า สำหรับวิธีการแก้ปัญหาขยะต้องนำไปเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งจะต้องทำการคัดแยกขยะเพื่อให้เหมาะสมเป็นเชื้อเพลิงในการป้อนให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมารมีวิธีแก้ปัญหาแค่เพียงฝังกลบหรือเผาทิ้งเท่านั้น

การฝังกลบขยะถือเป็นการแก้ไขปัญหาขยะไม่มีหมดไป เพราะขยะจะใช้เวลาย่อยสลายเป็นเวลานาน ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ได้

วัฒนพงษ์ คุโรวาท” รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนงาน กระทรวงพลังงาน เล่าว่า กระทรวงพลังงานพร้อมที่จะให้การสนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าถือเป็นนโยบายของรัฐ โดยจะเห็นได้จากมติ กพช.ได้ปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้มากขึ้นอีก 400 เมกะวัตต์ ดังนั้น จึงส่งผลให้มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนรวม 900 เมกะวัตต์ 

อาณัติ ลีมัคเดช ศาสตราจารย์ ระดับ 10 ภาควิชาการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า โครงสร้างการจัดสรรเงินทุนของโรงไฟฟ้าจากขยะ จะต้องแสดงถึงมูลค่าที่แท้จริงของโรงไฟฟ้าจากขยะ โดยหากประชาชนร่วมกันคัดแยกขยะ จะทำให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจากขยะมีต้นทุนต่ำลงและช่วยลดการบิดเบือนกลไกราคาของค่าไฟฟ้า

ดังนั้น ประโยชน์ของตลาดทุนจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการระดมทุนให้กับบริษัทเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการบริหารจัดการ หรือ Governance เพราะทำให้บริษัทสามารถคืนกำไรส่วนเกินกลับไปที่ประชาชนได้ด้วย

โรงไฟฟ้าประเภท VSPP ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ที่ว่าเป็นขนาดโรงไฟฟ้าที่เหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ โดยจะต้องมีปริมาณขยะเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าประมาณ 500 ตันต่อวัน 

ธวัชชัย เกียรติกวานกุล” ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การใช้กลไกตลาดทุนในการจัดการปัญหาขยะ สามารถใช้วิธีการจัดสรรเงินทุนด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond เพื่อที่จะให้สามารถระดมเงินทุนทางการเงินที่ต่ำได้