สกพอ.ชูโมเดล 'ทีโอดี' พัฒนาเมืองใหม่ 'อีอีซี'
ชูแนวทางทีโอดี พัฒนาเมืองในอีอีซี ดันสถานีฉะเชิงเทรา พื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภา และพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ระบุใช้ได้ผลดีกว่ากฎหมายเวนคืนที่ดิน ระบุช่วยผลักดันการขยายตัวของเมืองการบินตะวันออก รัศมี 60 กม.รอบสนามบินภายใน 10-15 ปี
ทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมและท่องเที่ยว ช่วยเกิดการพัฒนาอย่างสมดุลได้ประโยชน์ทุกฝ่าย
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การสร้างเมืองใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะนำแนวความคิดเรื่องการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนชนาดใหญ่ ทั้งทางบก ทางรางและทางอากาศ หรือ Transit Oriented Development (TOD) มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนพัฒนาเมืองเชิงพื้นที่
ทั้งนี้ TOD เป็นแนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ภาครัฐมีการลงทุนให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งชุมชน และสังคมสูงสุด ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่การก่อสร้างจะเน้นแค่ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่ได้คิดในเรื่องการนำเอารถขนส่งสาธารณะเข้าไปรับคนในพื้นที่ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ดังนั้น TOD จึงเป็นแนวคิดที่ไม่ได้มองแค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่มองถึงการพัฒนาหลายมิติ ได้แก่ การพัฒนาชุมชนโดยรอบ การใช้สถานีเป็นตัวดึงดูดการท่องเที่ยว และกระจายคนออกไปสู่พื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวโดยรอบ เกิดการกระจายความเจริญจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม แหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องออกแบบไปพร้อมกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
พัฒนารอบสถานีไฮสปีด
นายคณิศ กล่าวว่า อีอีซีที่ต้องใช้ TOD การพัฒนารอบโคงสร้างพื้นฐาน เช่น บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งหากวางแผนการพัฒนาเมืองและพื้นที่โดยรอบให้ดีฉะเชิงเทราจะเป็นชุมทางรถไฟที่สำคัญของอาเซียน เป็นเมืองโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค ส่วนพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟพัทยา ซึ่งปัจจุบันรถสาธารณะแทบไม่สามารถเข้าถึงได้ต้องมีการปรับปรุงและออกแบบพื้นที่โดยรอบใหม่เพื่อช่วยให้การเดินทางของประชาชนเพื่อเข้าถึงตัวสถานีทำได้สะดวกขึ้น
ส่วนโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกที่จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในช่วงกลางเดือน มี.ค.นี้ สกพอ.จะร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)และกรมโยธาธิการและผังเมืองวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในรัศมีโดยรอบโดยใช้แนวคิดของ TOD เข้ามาใช้เพื่อวางแผนการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสม เนื่องจากในบริเวณนี้จะเป็นศูนย์การขนส่งและคมนาคมขนาดใหญ่ของประเทศจะมีการคมนาคมขนส่งหลากหลายรูปแบบทั้งทางอากาศ รถไฟความเร็วสูง และมีท่าเรืออยู่บริเวณใกล้เคียง
หนุนเมืองการบินตะวันออก
ทั้งนี้ TOD ที่จะใช้พัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกจะช่วยพัฒนาโครงการนี้ไปสู่เป้าหมายระยะยาว คือ การเป็นมหานครการบินภาคตะวันออก ซึ่งในระยะเวลา 5 ปีแรก จะมีการขยายตัว 10 กิโลเมตร (1.4 แสนไร่)รอบสนามบินอู่ตะเภา ครอบคลุมพื้นที่ อ.สัตหีบ อ.บ้านฉาง อ.บางสะเหร่ และอ.จอมเทียน ส่วนในระยะเวลา 5-10 ปีต่อไปพื้นที่เมืองจะขยายตัวในรัศมี 30 กิโลเมตรจากสนามบิน ทำให้พัทยาถึงระยองกลายเป็นพื้นที่เดียวกัน ส่วนในระยะ 10-15 ปี พื้นที่เมืองโดยรอบสนามบินอู่ตะเภาจะขยายออกไปไกลถึงรัศมี 60 กิโลเมตรจากสนามบิน
โดยแนวทางการขยายตัวของเมืองการบินภาคตะวันออกในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องได้แก่ 1.กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและเมืองทันสมัยน่าอยู่ โดยมีแนวการขยายตัวของเมืองจากสนามบินอู่ตะเภา สัตหีบ บางสะเหร่ จอมเทียน พัทยา และศรีราชา แนวทางที่สองได้แก่สนามบิน-บ้านฉาง มาบตาพุต ระยอง และเกาะเสม็ด
2.แนวการขยายธุรกิจ อุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการ ได้แก่แนวทางสนามบิน-ตามถนน 331 (60 กิโลเมตร-ศรีราชา บ้านบึง) และแนวทางจากสนามบิน-นิคมฯมาบตาพุด-ถนน 3191 และถนน 36
ส่วนพื้นที่เขตนวัตกรรมดิจิทัลภาคตะวันออก (อีอีซีดี) บริเวณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พื้นที่ 600 ไร่ จะใช้วิธีประมูลทั้งโครงการ เพื่อหาผู้พัฒนาโครงการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ ซึ่งต้องใช้ TOD เข้ามาใช้ด้วย
ชี้กฎหมายเวนคืนมีข้อจำกัด
“การใช้ TOD ทำให้เราออกแบบและจัดรูปที่ดินได้ดีกว่าการใช้กฎหมายเวนคืนที่ดินที่มีข้อจำกัดจำนวนมาก ซึ่งการที่กระทรวงคมนาคมนำแนวคิดนี้มาใช้แล้วพยายามทำเป็นกฎหมายถือว่ามาถูกทางและถ้าหากทำเรื่องนี้ได้ก็อาจไม่ต้องใช้เรื่องการเวนคืนอีกเลย เพราะหลายประเทศใช้แนวคิดนี้จนประสบความสำเร็จ”
นายยงธนิศร์ พิมลเสถียร ผู้จัดการโครงการกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง กล่าวว่า TOD จะช่วยปรับเปลี่ยนการขยายตัวของเมืองแบบกระจัดกระจายในปัจจุบันให้เป็นเมืองแบบกระชับ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพของพื้นที่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อีกมาก โดยเฉพาะพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าหรือสถานีรถไฟความเร็วสูง
ทั้งนี้จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ TOD ทั่วประเทศ มีอยู่ทั้งสิ้น 235 สถานีรถไฟ แบ่งเป็นในกทม. 27 พื้นที่ ทางรถไฟสายเหนือ 67 พื้นที่ ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 60 พื้นที่ สายตะวันออก (รวมอีอีซี) 25 พื้นที่ สายใต้ 41 พื้นที่ รวมถึงสายตะวันตกและสายแม่กลอง 15 พื้นที่