ชงผังเมืองหนุนธุรกิจริมน้ำ
ภาคประชาชน แนะพัฒนาบางปะกง เป็นเส้นทางขนส่งหลักรับอีอีซีขยายตัว “เอกชน” เสนอแก้ผังเมืองใช้ที่ดินริมฝั่งตั้งโรงงานแปรรูปเกษตร คลังสินค้า โรงแรม เพิ่มการใช้ประโยชน์แม่น้ำบางปะกง ต่อท่อจากอ่างเก็บน้ำสียัด รับความต้องการใช้น้ำตัวเมืองฉะเชิงเทรา
การร่างผังเมืองรวมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็น โดยมีข้อเสนอจากผู้มีส่วนได้เสีย
นายศักดา ทองประสิทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง และคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าใน จ.ฉะเชิงเทรา จะใช้เส้นทางหลัก 3 สาย ได้แก่ ถนนสุขุมวิท ถนนมอเตอร์เวย์ และถนนสาย 331 ซึ่งทำให้ถนนทั้ง 3 เส้นแออัดและติดขัดมาก ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลควรจะปรับปรุงถนนสาย 3245 ที่เชื่อมกับถนนสาย 4012 และสาย 331 ให้เป็นถนน 4 เลน จะช่วยงดภาระถนน 3 เส้นหลักได้มาก
นายศักดา กล่าวว่า เส้นทาง 3245 มีขนาดเล็ก 2 เลน ใช้สำหรับขนส่งสินค้าเกษตรเป็นหลัก แต่ถ้าขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร รวมทั้งตัดถนนเพิ่มอีก 10 กิโลเมตร จากถนน 4012 ช่วงถนนแปลงยาง-เขาหินซ้อน จะช่วยให้การขนส่งในฉะเชิงเทราและอีอีซีสะดวก ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณสร้างถนนใหม่และยังใช้พื้นที่ 2 ฝั่งถนนขยายอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร และธุรกิจท่องเที่ยวได้ โดยได้เสนอนำเรื่องนี้กับกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้วและเห็นด้วยกันแนวทางนี้
จี้พัฒนาแหล่งน้ำรับเมืองใหม่
นอกจากนี้ แผนพัฒนาอีอีซีกำหนดให้ฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่รองรับการขยายเมืองจากกรุงเทพฯ และการสร้างเมืองใหม่ เพื่อเป็นที่พักรองรับบุคลากรที่ทำงานในอีอีซี ดังนั้นจะต้องมีโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สมบูรณ์ แต่ยังมีปัญหาน้ำประปาไม่มีคุณภาพ เพราะแหล่งน้ำที่ได้จากคลองพระองค์เจ้าไชยญานุชิตมีคุณภาพน้ำไม่ดี
ดังนั้น ภาครัฐควรพัฒนาอ่างเก็บน้ำสียัด ที่อยู่ในต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา มีความจุกว่า 425 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้เป็นแหล่งน้ำดิบในการทำน้ำประปา โดยจะต้องสร้างท่อลำเลียงน้ำประมาณ 70-80 กิโลเมตร เข้าโรงงานผลิตน้ำประปา เพื่อใช้ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งแม้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนพอสมควร แต่ก็คุ้มค่าในการจัดหาน้ำประปาเพื่อรองรับการขยายตัวเมืองฉะเชิงเทรา
“ในอนาคตตัวเมืองจะขยายอีกมาก จะมีโรงแรม โรงพยาบาลเข้ามาตั้ง ทำให้ต้องการน้ำประปาคุณภาพสูง ซึ่งหากน้ำประปายังขาดแคลนและไม่มีคุณภาพพอก็จะดึงคนเข้ามาในฉะเชิงเทราได้ยาก”
หนุนบางปะกงขนส่งทางน้ำ
นายบุญรักษ์ พัฒนยินดี เจ้าของโรงงานเส้นหมี่ตราพระอาทิตย์ กล่าวว่าภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน จ.ฉะเชิงเทรา เรื่องจัดทำผังเมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า แนวทางการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมในอีอีซี ส่วนใหญ่จะเน้นระบบรางและถนน แต่ไม่ให้ความสำคัญการขนส่งทางน้ำ โดยเฉพาะเส้นทางแม่น้ำบางปะกงที่ยังไม่มีแผนการพัฒนา
โดยมองว่าการขนส่งทางน้ำสามารถลดการขนส่งโดยรถบรรทุกทางถนนได้มากที่สุด โดยเรือขนส่ง 1 ลำ รองรับสินค้าได้ 3,000 ตัน หากนำมาพ่วงต่อกัน 7 ลำ จะขนส่งได้ 20,000 ตัน เท่ากับการใช้รถบรรทุก 2,000 เที่ยว ซึ่งขนส่งสินค้าจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ถึงท่าเรือศรีราชาได้สะดวก ซึ่งโครงการอีอีซียังไม่พูดถึงการขนส่งทางแม่น้ำเลย
ทั้งนี้ การขนส่งผ่านแม่น้ำบางปะกงในพื้นที่ อีอีซี ใช้เงินลงทุนไม่มาก ปัจจุบันยังติดปัญหาที่เขื่อนทดน้ำแม่น้ำบางปะกง ที่เรือไม่สามารถผ่านได้ หากปรับปรุงเขื่อนให้สามารถทดน้ำเป็นช่วงๆ ให้เรือผ่านได้ ซึ่งควรจะทำแบบนี้ทุกแม่น้ำก็จะทำให้การขนส่งทางแม่น้ำมีความสะดวกลดต้นทุนการขนส่งได้มาก รวมทั้งยังช่วยลดงบประมาณในการซ่อมแซมถนน และลดอุบัติเหตุ และจราจรติดขัดได้เป็นอย่างดี
เสนอแก้สีผังเมืองริมบางปะกง
นอกจากนี้ ควรจะปรับปรุงกฎหมายผังเมือง ที่กำหนดให้พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเป็นสีเขียวทะแยงขาว ห้ามสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทุกชนิด รวมไปถึงธุรกิจโรงแรม คลังสินค้า ทำให้ที่ดินริมฝั่งแม่น้ำใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ และส่งผลไม่ให้ขยายการใช้ประโยชน์การขนส่งผ่านแม่น้ำ
ส่วนข้อกังวลว่าโรงงานจะปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำนั้น ในขณะนี้ทุกโรงงานระวังในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ เพราะลงทุนโรงงานหลายร้อยล้านบาทหากถูกปิดเพราะเรื่องนี้ก็จะได้ไม่คุ้มเสีย และหน่วยงานราชการก็เข้ามาควบคุมเข้มงวด รวมทั้งประชาชนใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ถ่ายรูปเผยแพร่ได้ทันที
“เยอรมนีใช้การขนส่งทางแม่น้ำขนสินค้าจากโรงงานริมน้ำมาส่งให้กับเรือใหญ่ที่ส่งออกไปต่างประเทศ ทำให้ลดต้นทุนขนส่งได้มาก ส่วนน้ำเสียจากโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรก็ต่อท่อแจกจ่ายไปพื้นที่เกษตรโดยรอบ ทำให้ลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้มาก ไม่มีน้ำทิ้งลงสูงแหล่งน้ำสาธารณะ ขณะที่ไทยผังเมืองห้ามสร้างโรงงานติดแม่น้ำ ทำให้ธุรกิจริมแม่น้ำไม่เกิด โดยแนวทางแก้ไขไม่ยาก เพียงแต่แก้ไขประกาศแนบท้ายผังเมืองอนุญาตให้ตั้งกิจการเพิ่มเติมแต่ห้ามตั้งอุตสาหกรรมหนัก 16 ประเภท จะช่วยให้นำที่ดินริมฝั่งแม่น้ำมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น”
แนะสร้างโอกาสธุรกิจเอสเอ็มอี
นายบุญรักษ์ กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ส่วนใหญ่จะเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนรายใหญ่มากกว่าเอสเอ็มอีในพื้นที่ โดยเอื้อประโยชน์ทั้งการปรับผังเมืองเพื่อให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนซื้อพื้นที่ได้อย่างสะดวก การให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในทุกรูปแบบ ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การอำนวยความสะดวกต่างๆ
ในขณะที่เอสเอ็มอีในพื้นที่ อีอีซี กลับไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของคนไทย ดังนั้นรัฐบาลควรจะปรับปรุงนโยบายส่งเสริม อีอีซี ให้ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ด้วย
โดยเฉพาะการปรับปรุงผังเมืออนุญาตให้โรงงานแปรรูปสินค้าการเกษตรสามารถเข้าไปตั้ง หรือขยายกิจการในพื้นที่สีเขียวที่ใช้ทำการเกษตรได้ เพื่อให้เกษตรกรส่งผลิตผลการเกษตรเข้าสู่โรงงานแปรรูปได้โดยตรง ลดต้นทุนการขนส่ง เกิดความร่วมมือระหว่างโรงงานกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด
“ในปัจจุบันที่ดิน จ.ฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่สีเขียวถึง 95% ซึ่งโรงงานเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มาตั้งฐานการผลิตตั้งแต่ก่อนออกกฎหมายผังเมือง แต่ภายหลังผังเมืองกลับกำหนดพื้นที่โรงงานส่วนมากเป็นสีเขียว ทำให้โรงงานเหล่านี้ขยายโรงงาน หรือปรับปรุงกิจการได้ยาก หากไม่ปลดล็อกตรงนี้ ก็จะทำให้โรงงานเอสเอ็มอีไม่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาอีอีซี”