ตลาดประชุมนานาชาติคึกคัก 'ทีเส็บ' ชูไทยเดินหน้าเพื่อเป็นเจ้าภาพประชุมระดับโลก

ตลาดประชุมนานาชาติคึกคัก 'ทีเส็บ' ชูไทยเดินหน้าเพื่อเป็นเจ้าภาพประชุมระดับโลก

ทีเส็บเผยยอดนักเดินทางไมซ์ในธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ (Conventions) ในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2562 เติบโต ชี้สาขาการประชุมขยายกว้างขึ้นตามสถานการณ์โลก การประชุมด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพมีจำนวนมากขึ้น

ผลสำรวจชี้ไทยจัดประชุมมากเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ตอกย้ำไทยเป็นจุดหมายการจัดงานที่ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากสมาคมวิชาชีพชั้นนำทั่วโลก ย้ำทีเส็บพร้อมกระตุ้นไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพิ่มขึ้น

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวว่า ธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ หรือ Conventions ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจไมซ์ที่สร้างรายได้ถึงร้อยละ 30 ของอุตสาหกรรมไมซ์ในภาพรวม ขณะเดียวกันการจัดประชุมนานาชาติยังส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในแง่ของการแลกเปลี่ยนวิชาการองค์ความรู้ในสาขาวิชาชีพ เพื่อเป็นฐานพัฒนาขีดความสามารถให้นำไปพัฒนาบุคลากร สินค้า บริการ รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่สร้างผลประโยชน์ต่อประเทศในระดับมหภาค

1_1

“ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ตุลาคม 2561 – ธันวาคม 2562) ธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีนักเดินทางกลุ่มประชุมนานาชาติมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 70,000 คน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 5,500 ล้านบาท โดยมีแนวโน้มของสาขาการจัดประชุมที่ขยายกว้างมากขึ้น ตามสถานการณ์โลก เช่น การประชุมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ โดยมีอัตราการใช้จ่ายต่อหัวสูงสุดในธุรกิจไมซ์ประมาณ 80,000 บาทต่อคนต่อทริป อัตราของตัวเลขที่เติบโตเกิดจากการประมูลสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของสมาคมวิชาชีพ ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก เตรียมการดึงงานและทำงานล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 3-7 ปี เพื่อให้เกิดการประชุมในแต่ละครั้ง ซึ่งทีเส็บได้กำหนดกลยุทธ์การทำงานเชิงรุกด้วยการเป็นพันธมิตรกับองค์กรหรือสมาคมระหว่างประเทศที่มีสมาชิกเป็นสมาคมวิชาชีพ องค์กรไม่แสวงหากำไร สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้สมาคมวิชาชีพในแต่ละสาขา ยื่นประมูลสิทธิ์ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานของสาขาวิชาชีพนั้นๆ เพิ่มมากขึ้น”  

จากการจัดอันดับล่าสุดของสมาคมส่งเสริมการประชุมระหว่างประเทศ หรือ International Congress and Convention Association (ICCA) พบว่าในปี 2560 ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการจัดประชุมนานาชาติเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และอันดับที่ 25 ของโลก มีจำนวนงานทั้งสิ้น 163 งาน ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นอันดับที่ 2 มีจำนวนการจัดงาน 160 งาน และมาเลเซียเป็นอันดับที่ 3 มีจำนวนจัดงาน 112 งาน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยทั้งด้านมาตรฐานระดับสากลของสถานที่จัดงาน การบริการดีเยี่ยม ความเป็นมิตร และความเป็นมืออาชีพของผู้ให้บริการ อีกทั้งประเทศไทยยังมีเสน่ห์ในด้านอาหารไทยและรูปแบบการจัดงานที่น่าประทับใจอีกด้วย

2_5

ในเดือนมีนาคมนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมนานาชาติระดับโลกถึง 8 งาน ทั้งด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์ พลังงานและไฟฟ้า การศึกษา การเงิน และธุรกิจสร้างสรรค์โฆษณา เป็นต้น โดยงานประชุมนานาชาติที่น่าสนใจ เช่น งานประชุม นานาชาติด้านจักษุวิทยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia-Pacific Academy of Ophthalmology Congress (APAO 2019) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นงานประชุมนานาชาติด้านจักษุวิทยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและมีผู้เข้าร่วมงานจากจักษุแพทย์ทุกแขนง ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการประชุม APAO เป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยจากสถิติพบว่ามีผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกปี และปีนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศจำนวนกว่า 5,500 คน สร้างรายได้กว่า 440 ล้านบาท นอกจากนี้ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนจักษุแพทย์และแพทย์ประจำบ้านทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานวิจัย โดยสนับสนุนทุนค่าลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมสำหรับจักษุแพทย์ 3 จังหวัดภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) รวมถึงทุนนำเสนอผลงานวิจัยสำหรับจักษุแพทย์ทั่วประเทศรวม 1 ล้านบาท เพื่อเพิ่มพูนความรู้บุคลากรสาธารณสุขและสามารถนำชื่อเสียงสู่ประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ มีงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติแห่งอนาคตด้านไฟฟ้าและพลังงาน หรือ IEEE PES GTD ASIA 2019 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กโทรนิกส์แห่งประเทศไทย เป็นการประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติด้านระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับระบบดิจิทัลที่น่าสนใจ คือ เป็นงานประชุมด้านไฟฟ้าและพลังงานระดับโลกที่มาจัดในภูมิภาคเอเชียเป็นครั้งแรกโดยประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ หลังจากที่ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ 40 กว่าปีในสหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการด้านไฟฟ้าและพลังงานเข้าร่วมงานกว่า 400 ราย และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประชุมจากต่างประเทศกว่า 3,000 คน สร้างรายได้กว่า 240 ล้านบาท

3

“ในแต่ละปี ประเทศไทยต้อนรับนักเดินทางประชุมนานาชาติเฉลี่ยกว่า 300,000 คนต่อปี สร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 25,000 ล้านบาท โดยทีเส็บสนับสนุนงานประชุมนานาชาติทั้งสมาคมวิชาชีพในและต่างประเทศมากกว่า 100 งาน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้สมาคมวิชาชีพของไทยประมูลสิทธิ์การจัดงานประชุมนานาชาติเฉลี่ย 30 งานต่อปี โดยธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติของประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และนับว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตตามนโยบายอุตสาหกรรม Thailand 4.0 ของรัฐบาล เป็นเวทีถ่ายทอดและกระจายองค์ความรู้ทุกสาขาจากระดับโลกสู่การพัฒนาประเทศ ที่ผู้ร่วมประชุมสามารถใช้เป็นฐานพัฒนาขีดความสามารถ ต่อยอดนำไปพัฒนาสินค้าและบริการหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งสร้างเครือข่ายของผู้ร่วมสาขาวิชาชีพเดียวกันต่อยอดไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” นายจิรุตถ์ กล่าวสรุป