“ภัทรา” พลิกโมเดลวิจัย ดันสปาไทยสู่ตลาดโลก

“ภัทรา” พลิกโมเดลวิจัย ดันสปาไทยสู่ตลาดโลก

จุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์“ภัทรา”มาจากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของ“ภัทราภรณ์ กันยะมี”จนกลายเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศถึงขั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำตาลโดดเข้ามาร่วมทุน คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมจากวัตถุดิบที่มีอยู่

ภัทราภรณ์ กันยะมี นักธุรกิจสาวจากเมืองรถม้า จ. ลำปาง ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอเดอะ ลิตเติ้ล ออนเนี่ยน แฟคทอรี่ เจ้าของผลิตภัณฑ์สปาและบำรุงผิวที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบและสมุนไพรไทย ภายใต้แบรนด์ ภัทรา” (Patta) หลังร่ำเรียนมาทางด้าน วิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกัน มหาวิทยาลัยมหิดล และศึกษาต่อระดับโท -เอกจากมหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ 

โดยแรงบันดาลใจในการคิดค้นและพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพรไทย เกิดขึ้นระหว่างศึกษาต่อในประเทศอังกฤษและทดลองจำหน่าย ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ ทำให้เกิดเป้าหมายในการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพรไทยออกมาสู่ตลาดอย่างจริงจัง ให้ทั่วโลกรับรู้ว่าแบรนด์ “ภัทรา” เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในระดับสากล จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆอย่างต่อเนื่องในพื้นที่บ้านเกิดที่ จ.ลำปาง 

ไปพร้อมกับการเข้าร่วมโครงการของ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งเสริมและพัฒนาด้านต่างๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ภัทราเติบโตมากขึ้น โดยมีทีมมีนักวิจัยจำนวน 4-5 คนเข้ามาร่วมในการทำงานวิจัยที่มีอยู่มาต่อยอดเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ออกมาสู่ตลาด ทั้งผลิตภัณฑ์สปา เครื่องสำอางผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเส้นผม และสบู่จำนวนกว่า 50 รายการ

“เราต้องการทำให้ทุกคนเห็นได้ว่า งานวิจัยสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ได้จริงและสินค้าของบริษัทแต่ละรายการจะมีงานวิจัยรองรับเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้การขยายตลาดส่งออกทำได้ง่าย ในอนาคตอยากทำให้สมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับได้เหมือนผลิตภัณฑ์สมุนไพรของญี่ปุ่น”

ตลอดระยะเวลาเกือบ10 ปีที่ผ่านมา แบรนด์“ภัทรา” ได้รับการยอมรับจากลูกค้าและคู่ค้า โดยมีช่องทางจำหน่ายผ่านร้านค้าในประเทศ รวมถึงการส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งโรงแรมระดับ 6 ดาว ที่มัลดีฟส์ รวมถึงตลาดในอาเซียน อาทิ เมียนมา

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้บริษัทมาจากแบรนด์ภัทรา 20% ที่เหลือ 80% มาจากการรับจ้างผลิตในรูปแบบ OEM (original equipment manufacturer) โดยการรับจ้างผลิต จะช่วยลดค่าโสหุ้ย (Overhead Cost)ลง อาศัย จุดแข็งของโรงงาน ที่มีทีมนักวิจัยจบระดับปริญญาเอกเข้ามาช่วยวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สปา บำรุงผิวและเครื่องสำอางที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและไม่ใช้สารเคมี ให้กับแบรนด์ของตนเองและคู่ค้าที่เข้ามาจ้างผลิต ส่งผลให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น

ภัทราภรณ์

“ภัทราภรณ์”ยังบอกด้วยว่า การทำตลาดในประเทศไทยค่อนข้างยาก เพราะจะปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์ที่เปลี่ยนเร็ว เช่น ต้องการหน้าขาว หน้าใส ฯลฯ เมื่อเทียบกับตลาดต่างประเทศ หากเลือกเล่นในเซกเมนต์ถูกเซกเมนต์ กลุ่มเป้าหมายจะมีความชัดเจนในเรื่องของความต้องการสินค้าที่มีนวัตกรรมและได้มาตรฐานมากกว่าราคา ประกอบกับทีมงานเป็นนักวิจัยจึงสามารถพัฒนาสูตรให้ตรงกับความต้องการได้ ทำให้ส่วนใหญ่ตลาดส่งออกจะเป็นการรับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์ของโรงแรม รีสอร์ท สปารวมทั้งแบรนด์สกินแคร์ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

หากเป็นกลุ่มลูกค้าในมัลดีฟส์จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง ต้องการสมุนไพรที่มีมาตรฐาน และเข้าใจถึงประสิทธิภาพและกระบวนการทำงานของสมุนไพรว่าต้องใช้เวลา เราทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านงานวิจัยเข้าไปรองรับทำให้สามารถจำหน่ายในราคาแพงได้ในตลาดพรีเมี่ยม ขณะที่ในตลาดเมียนมาเป็นตลาดแมสจะเป็นครีมทาหน้า ครีมกันแดด ตลาดโวลุ่มใหญ่แต่ราคาต่อหน่วยต่ำ

ที่ผ่านมาเฉลี่ยต่อปีบริษัทใช้งบประมาณวิจัยขั้นต่ำ2ล้านบาท ทั้งนี้เพราะจุดแข็งของโรงงานคือมีทีมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่มีองค์ความรู้จริง จึงต้องลงทุนวิจัย รีวิวเปเปอร์งานวิจัยตลาดเวลา หากเล็งเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่จะทำรายได้ หรือสร้างมูลค่าได้คุ้มค่าทดลองพัฒนาวิจัยและนำไปเสนอคู่ค้า

จากประสบการณ์การทำงานกับคู่ค้ามานาน ทำให้ได้รับความไว้วางใจ ในความเชี่ยวชาญระดับมืออาชีพส่งผลให้เกิดเป็นโมเดลฟ้าประทานที่ช่วยให้เธอและทีมงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่นั่นก็คือการ การร่วมทุนกับบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ต้องการแตกไลน์เซกเมนต์ใหม่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด จากบายโปรดักส์ในโรงงานมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องแยกบริษัทใหม่ออกไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทดลองมาจ้างผลิตครีม แชมพูเพื่อเป็นของที่ระลึกแก่ลูกค้าและคู่ค้ามา2 ปีได้รับการตอบรับที่ดี

เนื่องจาก แนวโน้มของเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เข้ามามีบทบาทในการยกระดับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) โดยร่วมกับผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ มากขึ้น เพราะนวัตกรรมต่าง ๆ ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่ง'จำเป็น'ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ด้านนี้โดยตรงเพื่อร่นระยะเวลาในการลองผิดลองถูก ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จเร็วขึ้น

ยกตัวอย่าง ปัจจุบันมีความพยายามในการต่อยอดทำผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากเบต้ากลูแคน (Beta-glucan) ซึ่งเป็นตัวต่อต้านอนุมูลอิสระ ให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น จากเดิมที่ซัพพลายให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารสัตว์ ให้สามารถมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ ด้วยการพัฒนาเป็น เซรั่มบำรุงผิว ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีมูลค่าสูง นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายใหญ่จากอุตสาหกรรมอาหาร สนใจที่ให้ทีมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่มาจากบายโปรดักส์ในโรงงานมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเช่นเดียวกัน

กุญแจความสำเร็จของโรงงานเราไม่ใช่โรงงานที่ผลิตเพื่อขายของแต่เป็นโรงงานอินโนเวชั่นที่ใช้องค์ความรู้จากนักวิจัยที่ร่ำเรียนมาสร้างนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับบริษัท

โดยในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 70 ล้านบาทตั้งเป้าว่าภายใน4 ปีจากนี้ไม่นับรวมการร่วมทุนตั้งบริษัทจะมีรายได้ 100 ล้านบาท นี่คือตัวอย่างของการเลือกทำธุรกิจในสิ่งที่ตนเองถนัดและเชี่ยวชาญ

------------------------

สำเร็จได้อย่าง "ภัทรา"

-ต่อยอดวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ได้จริง

-สร้างความเชื่อมั่นด้วยงานวิจัย

-โฟกัสสิ่งที่ถนัดและเชี่ยวชาญ

-รับจ้างผลิตเพื่อลดค่าโสหุ้ย