โชว์ลงทุนอีอีซี 1.2 ล้านล้าน

โชว์ลงทุนอีอีซี 1.2 ล้านล้าน

"บีโอไอ" โชว์ผลงาน 4 ปี ยอดลงทุนทะลุ 2.28 ล้านล้านบาท อีอีซียึดสัดส่วนการลงทุน 54% กว่า 1.2 ล้านล้านบาท กิจการเทคโนโลยีชีวภาพครองแชมป์อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ลงทุนสูงสุด 5.4 หมื่นล้านบาท “สมคิด” สั่งเพิ่มแรงจูงใจดึงเอกชนลงทุน

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่เป้าหมายในการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา (2558-2561) คำขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีมีสัดส่วนถึง 54% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด และที่ผ่านมารัฐบาลต้องการให้การลงทุนภาคเอกชนมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลพยายามเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าแผนดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการผลักดันการลงทุนภาคเอกชนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยนายสมคิด ต้องการให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์วางไว้ร่วมกัน ซึ่งบีโอไอจะต้องสร้างแรงจูงใจให้เอกชนลงทุนทุกด้านที่จะต่อยอดให้ประเทศ รวมถึงการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีเป้าหมายในปี 2563 จะมีการใช้ระบบ 5จี

โชว์ลงทุนอีอีซี 1.2 ล้านล้าน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ รายงานต่อที่ประชุมติดตามความคืบหน้าแผนดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ถึงผลดำเนินงานในปี 2558-2561 ในส่วนที่บีโอไอรับผิดชอบ โดยมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 5,518 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2.28 ล้านล้านบาท ซึ่งคำขอรับส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่าสูงต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจตัวอื่น

ชลบุรีโกยลงทุน7.3แสนล้าน

การลงทุนในพื้นที่อีอีซีช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา มีมูลค่าการลงทุนรวม 1.24 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 1.ชลบุรี 738,157 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60% ของการลงทุนในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด 2.ระยอง 383,570 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 31% ของการลงทุนในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด 3.ฉะเชิงเทรา 117,034 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9% ของการลงทุนในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด

ทั้งนี้ การลงทุนในพื้นที่อีอีซีครอบคลุมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีโครงการที่อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้ว คือ กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้าท่าเรือแหลมฉบังเงินลงทุน 7,215 ล้านบาท ส่วนโครงการที่อนุมัติหลักการก่อนการเปิดประมูล คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์

“ชีวภาพ”แชมป์อุตฯเป้าหมายใหม่

ทั้งนี้หากพิจารณาคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในช่วงดังกล่าวพบว่ามีมูลค่าการลงทุนถึง 1.49 ล้านล้าน คิดเป็นสัดส่วน 65% ของมูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 5 อุตสาหกรรม คือ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ดิจิทัล อากาศยาน เทคโนโลยีชีวภาพ และการแพทย์ มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 128,198 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6% ของมูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด

สำหรับกิจการเทคโนโลยีชีวภาพมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 54,640 ล้านบาท มีการลงทุนที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.กิจการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบเหลือใช้จากภาคเกษตร เช่น เซลลูโลส เงินลงทุน 112 ล้านบาท 2.กิจการวิจัยและพัฒนาผลิตกรีน ไฮโดรคาร์บอน จากผลผลิตการเกษตร เงินลงทุน 112 ล้านบาท 3.กิจการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่ทันสมัยและให้บริการตรวจหาเครื่องหมายทางพันธุกรรม เงินลงทุน 59 ล้านบาท 4.กิจการวิจัยและพัฒนาการผลิตที่ใช้เซลจุลินทรีย์สำหรับการผลิตอาหารเสริมให้สัตว์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ เงินลงทุน 868 ล้านบาท

แห่ลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัล

สำหรับการลงทุนดิจิทัลอยู่ในกลุ่มที่มีการขยายตัวสูงเมื่อเทียบในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ โดยในช่วง 4 ปี การขอรับส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่า 26,530 ล้านบาท โดยการลงทุนดิจิทัลที่สำคัญประกอบด้วย 1.กิจการดิจิทัลพาร์ค เงินลงทุน 1,581 ล้านบาท 2.กิจการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล เงินลงทุน 1,198 ล้านบาท 3.กิจการคลาวด์ เซอร์วิส และดาต้า เซ็นเตอร์ 1,006 ล้านบาท 4.กิจการคลาวด์ เซอร์วิส 600 ล้านบาท

ส่วนกิจการอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีการลงทุนในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา คือ 1.กิจการผลิตเลนส์แก้วตาเทียม 70 ล้านบาท 2.กิจการผลิตวัสดุฝังในร่างกาย เช่น กระดูกเทียม แผ่นโลหะดามกระดูก 19 ล้านบาท 3.กิจการผลิตเลนส์แก้วตาเทียมและคอนแทค เลนส์ 4,220 ล้านบาท 4.กิจการชุดทดสอบที่ใช้สำหรับคัดกรองหรือวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ 59 ล้านบาท 5.กิจการผลิต Therapeutic Monoclonal Antibody 2,266 ล้านบาท

2.อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม 5 อุตสาหกรรม คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เกษตรและแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยว มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 1.36 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 59% ของมูลค่าคำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด

ลงทุนเขต ศก.พิเศษไม่คืบหน้า

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาบีโอไอให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในเชิงพื้นที่ เพื่อกระจายการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่ม 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่อ มีการลงทุนรวม 206 โครงการ มูลค่าการลงทุน 50,534 ล้านบาท ซึ่งมีกิจการส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญอยู่ในกลุ่มกิจการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงชีวมวล รองลงมาเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูป โดยมีการลงทุนใน จ.สระแก้ว มากที่สุด ในขณะที่ จ.น่าน ไม่มีการลงทุน

2. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน มีการลงทุน 54 โครงการ เงินลงทุน 9,417 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติดและอาหารวัตว์ โดยมีการลงทุนใน จ.ตาก สงขลา และสระแก้ว มากที่สุด ในขณะที่ จ.นครพนม และนราธิวาส ไม่มีการลงทุน

3.จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการลงทุน 25 โครงการ เงินลงทุน 12,758 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และการแปรรูปยางขั้นต้น โดย จ.สงขลาและยะลา มีการลงทุนมากที่สุด ในขณะที่ จ.สตูล ไม่มีการลงทุน