ชง 'กพอ.' หนุนลงทุนหุ่นยนต์
สกพอ.ชงคณะกรรมการนโยบายอีอีซี หนุนลงทุนหุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ ดึงธุรกิจเอสไอญี่ปุ่น 180 ราย จับมือไทย 100 ราย ร่วมลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ปั้นบุคลากร 3.7 หมื่นคน รองรับภายใน 5 ปี คาดปีนี้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยโต 20%
หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้หุ่นยนต์ และเครื่องจักรอัตโนมัติ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ภายในประเทศ ทำให้ยอดการใช้หุ่นยนต์ของไทยเพิ่มขึ้นมาก โดยบริษัทผู้ให้บริการด้านการพัฒนาและออกแบบระบบอัตโนมัติ (System Integrators : SI) เติบโตสูงมากจนมีงานล้นมือ
นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ปลายเดือน เม.ย.นี้ จะมีกลุ่มผู้ประกอบการเอสไอ จากญี่ปุ่น 180 ราย จะมาจับมือร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการเอสไอของไทย 100 ราย ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในธุรกิจเอสไอ และบุคลากรด้านหุ่นยนต์ของไทยได้มาก โดยเฉพาะการผลักดันอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
นอกจากนี้ สกพอ.เตรียมพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์ รองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ภายในอีอีซี โดยจากการประเมินพบว่าในช่วงปี 2562 – 2566 ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์มีความต้องการใช้บุคลากรประมาณ 37,526 คน แบ่งเป็นระดับอาชีวะศึกษา 21,885 คน ระดับปริญญาตรี 14,277 คน และระดับปริญญาโท – เอก 1,364 คน โดย สกพอ.ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยผลิตบุคลากรเหล่านี้ให้เพียงพอ
เพิ่มช่องทางหนุนสิทธิประโยชน์
ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีมาใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติให้มากขึ้น แต่ก็ยังติดกฎระเบียบที่กำหนดการให้สิทธิประโยชน์ได้เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่สามารถแยกให้การส่งเสริมเป็นกิจกรรมได้ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น เครือซีพี , เอสซีจี , โฮมโปร , สหพัฒนพิบูลย์ ซึ่งจะลงทุนขนาดใหญ่จัดคลังสินค้าอัจฉริยะ หรือลงทุนระบบผลิตในโรงงานนำใช้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติมาใช้งาน เพราะอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ วัสดุก่อสร้าง ไม่อยู่ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
ดังนั้น จะส่งเรื่องการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์นี้ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาให้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้ลงทุนได้
ส่วนสถานการณ์ล่าสุดในปีนี้ อุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์ที่ได้ขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอไปแล้ว เช่น บริษัทแองก้า บริษัทนาชิ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทแองก้าลงทุนไปแล้ว 2-3 พันล้านบาท ส่วนบริษัทนาชิ ได้เข้ามาลงทุนซื้อที่ดินแล้ว เพื่อผลิตหุ่นยนต์ที่มีขนาดแรงยกวัตถุ 15 กิโลกรัม ใช้เงินลงทุน 2-3 พันล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทซีเอ็นซี ที่มีฐานการผลิตเครื่องจักรในไทย ได้ขยายสายการผลิตไปสู่การผลิตหุ่นยนต์เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีบริษัทเอสไอ อีกหลายรายจะเข้ามาลงทุน เช่น ยาสึกาวา เอบีบี และคูก้า ซึ่งจากการลงทุนเหล่านี้ จะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นหัวใจของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น การผลิตมอเตอร์, คอนโทรเลอร์ และ Harmonic Drive (ชุดเกียร์ขับเคลื่อนหุ่นยนต์) จะเข้ามาลงทุนในอนาคต รวมทั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมสมาร์ทซิตี้ จะทำให้ระบบออโตเมชั้นขยายตัวสูงขึ้น เป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
คาดปีนี้อุตฯหุ่นยนต์โต20%
นายประพิณ อภินรเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนทำให้ธุรกิจเอสไอเติบโต 20% ในปี 2561 และคาดว่าปี 2562 จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 20% ส่วนการใช้หุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมาก็ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 20% มีจำนวนกว่า 3 พันตัว แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ที่โต 25% ส่วนในปี 2562 คาดว่าจะโตได้มากกว่า 20% โดยส่วนใหญ่จะขยายตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ส่วนอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีมีรการใช้หุ่นยนต์ขยายตัวประมาณ 10%
โดยที่ผ่านมารัฐบาลตั้งเป้าส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมที่ต้องใช้หุ่นยนต์เร่งด่วน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นพื้นฐานได้ทยอยไปผลิตในประเทศอื่นแล้ว ดังนั้นจะต้องเพิ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้เกิดขึ้นภายในประเทศ
กระตุ้นภาคเกษตรใช้หุ่นยนต์
2.อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ซึ่งมีโอกาสขยายตัวมากและจะเพิ่มศักยภาพต่อฐานการผลิตของไทยมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้หุ่นยนต์ขยายตัว 10%
3.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น หุ่นยนต์ที่ช่วยอำนายความสะดวกให้กับผู้สูงอายุต่างๆ โดยที่ผานมามหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตั้งศูนย์ผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์ มูลค่าลงทุนกว่า 1.2 พันล้านบาท จะลงทุนได้ทันทีประมาณ 400 ล้านบาท
ส่วนการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมภายในประเทศนั้น จะต้องใช้เวลาในการเพิ่มความต้องการหุ่นยนต์ภายในประเทศให้คุ้มค่าในการตั้งโรงงานผลิต ที่จะต้องมีจำนวนการผลิตไม่ต่ำกว่า 300 ตัวต่อเดือน โดยในปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมกว่า 3 พันตัวต่อปี หรือประมาณ 300 ตัวต่อเดือน ซึ่งในจำนวนนี้มาจากผู้ผลิตหุ่นยนต์หลายสิบบริษัท ไม่มีรายใดที่มียอดขายได้คุ้มค่าต่อการลงทุนตั้งโรงงาน
คาด5ปีความต้องการใช้พุ่ง
ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมของไทยที่ขยายตัวปีละ 20% หากรัฐบาลให้การส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้ามาใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น รักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับ 4% ต่อปี ก็คาดว่าภายใน 5 ปี ความต้องการหุ่นยนต์ภายในประเทศจะมีเพียงพอในการตั้งโรงงานผลิต
นอกจากนี้ การที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตหุ่นยนต์ที่เข้มแข็ง จะต้องเร่งดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ศึกษามาตรฐานด้านหุ่นยนต์ของทุกประเทศเพื่อนำมาปรับให้เหมาะกับไทย 2.พัฒนาเทคโนโลยีคอนโทรลเลอร์ (อุปกรณ์ควบคุม ) ทั้งระบบโรบอตคอนโทรล และโมชั่นคอนโทรลเลอร์ 3.การผลิตแขนกลหุ่นยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งในส่วนนี้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตได้