"บุณยสิทธิ์"ไขปริศนา สหพัฒน์ สู้ศึก สึนามิเทคโนโลยี
จับตาบิ๊กมูฟ “สหพัฒน์” สู้ศึกดิจิทัล เร่งเครื่องทรานส์ฟอร์มองค์กรอายุกว่า 70 ปี “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ถอดสูตรรอด ยักษ์ใหญ่ต้องสปีดเร็ว ก่อนพ่ายธุรกิจเล็กที่เร็วกว่า ลุ้นยอดขายแตะ 3 แสนล้านปีนี้
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง “แลนด์สเคป” ธุรกิจไทย ที่องค์กรยักษ์ใหญ่ของไทย ต่างเร่ง “ทรานส์ฟอร์ม” ธุรกิจ หนีผลกระทบ ขี่กระแสดิจิทัล เพื่อดำรงความแข็งแกร่งธุรกิจ โตยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือ ยักษ์อุปโภคบริโภค อย่าง เครือสหพัฒน์ ที่ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่า อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างองค์กร รับคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้
พร้อมยอมรับว่า ธุรกิจ “แสนล้าน” อย่างเครือสหพัฒน์ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 7 ทศวรรษ กำลังเดินมาถึงช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของธุรกิจจากการเผชิญสึนามิเทคโนโลยี (ดิจิทัล ดิสรัปชั่น) คนรุ่นเก่าเก๋าประสบการณ์อาจมีพลังไม่พอที่จะต่อกรกับการแข่งขันยุคนี้ เท่ากับ“คนรุ่นใหม่” ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เพราะเข้าถึง “บิ๊กดาต้า” ได้มากกว่า
“โลกธุรกิจจะเป็นยุคของเร็วกินช้า สมัยก่อนใหญ่กินเล็ก ตอนนี้ใหญ่ไป ถ้าช้าเสร็จเล็ก ถ้าเร็วชนะ!” ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดฉากวิเคราะห์เกมธุรกิจยุคดิจิทัล
ก่อนขยายความว่า ธุรกิจที่จะยืนหยัดบนสังเวียนการค้าขายและคว้าชัยชนะได้ในปัจจุบันและอนาคตนั้น “ไม่จำเป็น” ต้องใหญ่เหมือนในอดีตเสมอไป แต่ต้องติด Speed (ความเร็ว) เมื่อมองขาดธุรกิจในยุคหน้า ทำให้เครือสหพัฒน์เดินหน้า“ปรับโครงสร้างและเปลี่ยนผ่านองค์กร”ให้แข็งแรง เป็น “ยักษ์ใหญ่เคลื่อนตัวเร็ว” ป้องกันการถูกจู่โจม “ล้มยักษ์” โดยธุรกิจขนาดเล็กที่ขยับเร็วกว่า
“เรากำลังทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล ให้มีความคล่องตัว ซึ่งต้องทำไปเรื่อยๆ เพราะมีเรื่องให้ต้องทำค่อนข้างมาก” ประธานเครือสหพัฒน์ เผยและว่า
การค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคมานานกว่า 70 ปี พบพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางใหม่ๆ โดยเฉพาะ “ออนไลน์” มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงใช้อุปกรณ์สื่อสาร เสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ตลอดจนเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ทำให้การชอปปิงหน้าร้านกระเทือนยอดขายหดตัวลง และไปโตที่ช่องทางออนไลน์แทน
ขณะที่สินค้าเดิมๆที่เคยทำตลาดและจำหน่ายได้ดีในอดีต ก็เปลี่ยนเป็นขายยากขึ้น และวงจรชีวิตของสินค้า(Life cycle)สั้นลงมาก
“ทุกวันนี้ออกสินค้าใหม่อย่าหวังว่าจะอยู่ได้นานๆ แบรนด์ต้องทำการตลาดหรือใส่ปุ๋ยต่อเนื่อง ถ้าไม่ทำตลาดเลยสินค้าจะไม่โตและโดนคู่แข่งแซง”
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้สหพัฒน์ให้ความสำคัญกับ “ขุมทรัพย์ข้อมูล” หรือบิ๊กดาต้าอย่างมากเพราะเห็นว่าจะช่วยให้คาดการณ์แนวโน้มตลาด ยอดขายในอนาคตได้ค่อนข้างมาก เป็นเหมือน“เข็มทิศ”ให้ดำเนินุรกิจแม่นยำมากขึ้น
“คนเก่าเก๋าประสบการณ์ แต่คนที่อายุเลย 60 ปี อาจต้องชิดซ้าย เพราะเข้าไม่ถึงบิ๊กดาต้า เปิดทางให้คนรุ่นใหม่ เพราะเร็วและรู้โซเชียลมีเดียต่างๆ การรุกใช้บิ๊กดาต้า ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆมารองรับการค้าขาย ขยายช่องทางใหม่ๆ จากเดิมมุ่งขายสินค้าเฉพาะหน้าร้านทางเดียว ตอนนี้ต้องทำมัลติชาเนล ทุกช่องทาง ส่วนผู้บริโภคเราต้องรู้จักให้มาก อย่างคนไทยใช้เฟสบุ๊คมากสุดในโลก เทคโนโลยี 4G ทำให้การสื่อสารเร็ว ผู้บริโภคมีมือถือจะทำอะไรก็ได้ทั้งซื้อสินค้า ซื้อความสุขได้ทันทีโดยไม่ต้องเข้าไปในศูนย์การค้า ร้านแผงลอยอีกต่อไป”
“บุณยสิทธิ์” ยังระบุว่า ในอนาคตสหพัฒน์ยังให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจอาหาร ออนไลน์ และโลจิสติกส์มากขึ้น โดยกลุ่มอาหารมีการเติบโตในทิศทางที่ดีต่อเนื่อง และกลายเป็นสินค้าที่มียอดขายแซงธุรกิจหลักอื่นๆ เช่น แฟชั่น เครื่องสำอาง ฯ มาประมาณ 4-5 ปีแล้ว เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตไม่ว่าโลกธุรกิจจะเปลี่ยนไปทางใด ก็ยังต้องบริโภค
ส่วนธุรกิจออนไลน์ ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย(LAZADA)ในการพัฒนาการค้าขายอีคอมเมิร์ซ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ www.thailandbest.in.th ของเครือเพื่อจำหน่ายสินค้าหลากหลายกลุ่ม เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สุขภาพ กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ เครื่องใช้ภายในบ้าน ท่องเที่ยว รถยนต์ เช่ารถ เป็นต้น
ส่วนธุรกิจโลจิสติกส์ ต้องลงทุนและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับการค้าขายอีคอมเมิร์ซ ที่ผ่านมาได้ร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่นและไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่นในเครือลงทุนราว 1,500 ล้านบาท สร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่ขนาด 72,000 ตารางเมตร(ตร.ม.) บนเนื้อที่ 50 ไร่ ย่านสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดจะแล้วเสร็จเร็วๆนี้
“เราให้ความสำคัญอาหาร ออนไลน์ โลจิสติกส์และบิ๊กดาต้าอย่างมาก อย่างอาหารถือเป็นดาวรุ่งของเราเป็นสินค้าในพอร์ตโฟลิโอใหญ่สุด ยอดขายกลุ่มแฟชั่นแล้ว จากเมื่อก่อนแฟชั่นเป็นตัวนำ”
ขณะเดียวกันบริษัทยังยุติกิจการที่แนวโน้มการเติบโตน้อยลง เช่น ธุรกิจโรงปั่นด้าย เป็นต้น
สำหรับภาพรวมสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผ่านมา เขาประเมินว่า เริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรประชารัฐ ทำให้ผู้บริโภคมีเงินซื้อสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ยอมรับว่า ไตรมาส 1 ปี 2562 ตลาดยังไม่คึกคักมากนัก เพราะทุกคนรอดูการเลือกตั้ง
ในปี 2562 สหพัฒน์ ยังคาดการณ์ยอดขายว่า หากเติบโต 1-2% ถือว่าพอใจแล้ว เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยังส่งผลกระทบให้เงินที่กระจายสู่ประชากรฐานรากลดลง จึงต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับเหมาะสมที่ 32-33 บาท โดย 5 ปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 3 บาท ส่งผลให้เงินในกระเป๋าผู้บริโภคหายไปโดยไม่รู้ตัว
ขณะที่ธุรกิจส่งออกก็ลดลงทั้งตลาดยุโรป สหรัฐ สินค้าที่สหพัฒน์เคยรับจ้างผลิตให้แบรนด์ดังยุติไปทั้งกลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า เป็นต้น ทำให้ต้องหาสินค้าใหม่มาทดแทน และหาตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา ค้าขายชายแดนให้มากขึ้น
ทั้งนี้ 5 ปีที่ผ่านมา สหพัฒน์สร้างยอดขายเติบโตประมาณ 2-4% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับอดีตจะเติบโต 10-20% หรือโต 2 เท่าของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) เพราะฐานยอดขายต่ำ และสินค้าที่ผลิตออกมาไม่ได้ขายดีทุกอย่าง เนื่องจากทางเลือกของผู้บริโภคไม่มากเหมือนปัจจุบัน
“สหพัฒน์ค่อยๆโต ในยุคที่เรากำลังทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ตัวเลขนี้ถือว่าพอใจแล้ว ส่วนรายได้ปีนี้จะแตะ 3 แสนล้านบาทหรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้ แต่ที่ยังไม่กล้าสรุปเพราะการส่งออกเราน้อยลง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ต้องจับตาดูการเมือง และเศรษฐกิจโลกด้วย”
อย่างไรก็ตาม สหพัฒน์ เป็นองค์กรใหญ่ มีบริษัทในเครือนับร้อยบริษัท และมีคนทำงานรุ่นเก่าจำนวนมาก ผสมกับคนรุ่นใหม่ การทรานส์ฟอร์มสู่ยุคดิจิทัล จะทำให้องค์กรตามทันการเปลี่ยนแปลงโลกหรือไม่ “เสี่ยบุณยสิทธิ์” แสดงความมั่นใจว่า
“เราน่าจะตามทันยุคดิจิทัล ไม่น่าจะสู้เขา(คู่แข่ง)ไม่ได้ การปรับตัว ปรับแนวคิดของคน นำบิ๊กดาต้ามาใช้ไม่เหมือนการทำงานสมัยก่อน ที่มีปัญหาแล้วประชุมหาทางแก้ไข แต่วันนี้บิ๊กดาต้า คือโซลูชั่นที่สามารถแก้ปัญหาได้ตลอดเวลา และบิ๊กดาต้าไม่ใช้แค่จากภายในองค์กร แต่เราสามารถเชื่อมต่อกับดาต้าภายนอกบริษัทได้ด้วย”