ปักธงแปดริ้ว 'อุตฯชีวภาพ'
กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งดันอุตสาหกรรมชีวภาพ เผย นักลงทุนไทย-ต่างชาติ เล็งขยายลงทุนโรงงานเอทานอล-พลาสติกชีวภาพในฉะเชิงเทรา ยกระดับผลผลิตมันสำปะหลัง คาดภาคเหนือ-อีสานตอนบน เกิดลงทุน 6 หมื่นล้านบาท ในปี 2564
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเร่งรัดนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 ซึ่งกำหนดพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ 3 เขต ได้แก่ 1.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 2.เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (จ.นครสวรรค์ และ จ.กำแพงเพชร) และ 3.เขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง (จ.ขอนแก่น)
สำหรับพื้นที่อีอีซี ได้มีผู้ประอบการให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก มีเม็ดเงินลงทุนไปแล้วกว่า 9.7 พันล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้มีนักลงทุนไทยและต่างชาติหลายรายสนใจที่จะเข้ามาลงทุนด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง จากนั้นจะต่อยอดไปสู่เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพต่อไป ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเรื่อไปให้กับสำนักงานนโยบายเขตพัมนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ดำเนินการต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างโรงงาน 1-2 ปี
ฉะเชิงเทราแหล่งผลิตวัตถุดิบ
“จ.ฉะเชิงเทรามีจุดเด่นในเรื่องของผลผลิตมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก เหมาะที่จะนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้สูงกว่าการผลิตเป็นวัตถุดิบทั่วไป จึงทำให้นักลงทุนไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพขนาดใหญ่ โดยเริ่มแรกส่วนใหญ่จะนำมันสำปะหลังมาผลิตเป็นเอทานอลก่อน จากนั้นก็จะนำไปต่อยอดเป็นสินค้าเคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพต่อไป”
ทั้งนี้ นอกจากในพื้นที่เป้าหมาย 3 แห่งที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีนักลงทุนสนใจลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในจังหวัดอื่น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง มีผู้ประกอบการรายใหญ่สนใจที่จะต้องไบโอคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ เนื่องจากภาคกลางมีวัตถุดิบใช้ในอุตสาหกรรมชีวภาพเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเริ่มจากการตั้งโรงงานเอทานอลขึ้นมาก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเรื่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเร็วๆ นี้
ตั้งเป้าไบโอฮับอาเซียนปี 2570
สำหรับความคืบหน้ามาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี 2561-2570 ได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยจะเป็น ไบโอฮับของอาเซียนภายในปี 2570 โดยคาดว่าจะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพภายในประเทศ อย่างน้อย 1.9 แสนล้านบาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 8.5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรอย่างน้อย 8 แสนครัวเรือน และมีการผลิตและจ้างแรงงานที่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญสูง อย่างน้อย 2 หมื่นตำแหน่ง
ในส่วนของมาตรการเร่งด่วน ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับปรุง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ให้นำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และจัดสรรวัตถุดิบน้ำอ้อยที่เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ และยังได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2559
โดยเพิ่มเติมข้อความ ยกเว้นโรงงานที่ตั้งอยู่เดิมในพื้นที่ 50 กิโลเมตร ให้ความยินยอม เพื่อให้สามารถต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานเดิม รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทยให้ใช้บังคับผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการผังเมือง
นำร่องลงทุนอีอีซี 9.7 พันล้าน
นอกจากนี้ มีการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่นำร่องทั้ง 3 เขต ได้แก่ เขต อีอีซี ในปี 2560-2561 มีมูลค่าการลงทุนรวม 9,740 ล้านบาท ประกอบด้วย น้ำยาล้างไต และ PLA ได้เปิดดำเนินการผลิตแล้ว และ Palm Biocomplex Phase 1 : เมทิลเอสเตอร์ และมีแผน Palm Biocomplex Phase 2 ได้แก่ Specialties, Surfactants และ Vit.E
ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์, กำแพงเพชร) คาดว่าปี 2564 จะมีมูลค่าการลงทุนรวม 4.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 เฟส โดย เฟส 1 จะผลิตเอทานอล และปรับพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในเฟส 2 เพื่อผลิต Lactic Acid, PLA, Bio-Succinic Acid (BSA), Bio 1,4 Butanediol และ Furfural
ส่วนภาคอีสานตอนกลาง (ขอนแก่น) คาดว่าปี 2564 จะมีมูลค่าการลงทุนรวม 2 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินแล้ว 90% รวมแล้วทั้ง 2 พื้นที่จะมีเงินลงทุนกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท
หนุนใช้สินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ โดยจะออกประกาศใช้มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพตามความเหมาะสม เช่น มาตรการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 3 พ.ศ. 2560-2564 มาตรการจัดจำหน่ายถุงพลาสติกผ่านผู้ประกอบการเอกชน เป็นต้น รวมทั้งยังได้จัดทำข้อตกลงระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการในการส่งเสริมการใช้พลาสติกชีวภาพเพื่อลดปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วน โดยเน้นเรื่องการให้องค์ความรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกชีวภาพ โดยนำร่องในพื้นที่ท่องเที่ยวทั้งบนบก ทางทะเล และชายฝั่ง รวมถึงพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติในประเทศ
ส่วนของมาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (CoBE) ซึ่งให้สถาบันพลาสติกเป็นหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยง เตรียมความพร้อม และบริหารงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านชีวภาพเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจชีวภาพกับหน่วยงานต่างๆ มีภารกิจหลัก 4 ด้าน เช่น การวิจัยพัฒนาสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม และให้การรับรองผลิตภัณฑ์ชีวภาพ รวมทั้งการจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบเชื่อมโยงงานวิจัย ให้คำปรึกษา สนับสนุนเงินทุนในการยกระดับสถานประกอบการชีวภาพสู่อุตสาหกรรม 4.0