“4หุ้น” เคยฮอต !! ความสวยที่จางหาย
กำลังซื้อผู้บริโภคขาลง-สารพัดปัญหาถาโถม บดบังความสวย “4 หุ้นดัง” BEAUTY-ICHI-TKN-DDD ที่ครั้งหนึ่งเคย “เสน่ห์แรง” จากสตอรี่การเติบโตก้าวกระโดด ทว่าวันนี้กลับคลายมนต์ขลัง สะท้อนผ่าน “รีเทิร์น”ต่ำเตี้ย ลุ้นกลับมาสวย อีกครั้งได้หรือไม่?
มีกระแสความ “ร้อนแรง” ตั้งแต่ยังไม่เข้ามาเป็นสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สะท้อนผ่านความ “ฮอตฮิต” ของหุ้น IPO (การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) ที่เหล่านักลงทุนหน้าเก่า-ใหม่ อยากจับจองเป็นเจ้าของ
หนึ่งในนั้นต้องมี “4 หุ้นดัง” นั่นคือ หุ้น บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY , หุ้น อิชิตัน กรุ๊ป หรือ ICHI , หุ้น เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN และ หุ้น ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD ที่กลายเป็นหุ้นในดาวใจที่บรรดานักลงทุน ผู้พิสมัยการลงทุนด้วยกลยุทธ์ “หุ้นเติบโต” (Growth Stock) เพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นหุ้นที่เต็มไปด้วย “สตอรี่” ที่มีอัตราการเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” อีกทั้งยังเป็นหุ้นที่สร้าง “ผลตอบแทน” (รีเทิร์น) ให้นักลงทุนได้เป็นกอบเป็นกำ
ถือเป็น “จุดดึงดูดเงิน” ในกระเป๋าของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี ประเมินจาก “กำไรจากส่วนต่างของราคา” (Capital Gain) ที่ขยับพุ่งขึ้นไป แตะระดับพันล้านไปจนถึงหมื่นล้านบาท!!
ทว่า พักหลังสถานการณ์ หุ้น BEAUTY-ICHI-TKN-DDD กลับไม่ดีเช่นเดิม หลังมีปัจจัยกดดันจากทิศทาง “ขาลง” โดยเฉพาะ“กำลังซื้อผู้บริโภค” ทั้งในและต่างประเทศจากยอดขายสินค้าของแต่ละบริษัทที่ลดลงฮวบฮาบ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ยิ่งเฉพาะตลาด “ผู้ซื้อหลัก” สำคัญอย่าง “ชาวจีน” ที่ตอนนี้กำลังซื้อหดหายไปมาก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเมืองไทยลดลง ประกอบกับการรุกตลาดเข้าไปในประเทศจีนยอดขายยังไม่มาก
หลากปัจจัยกดดันดังกล่าว ทำให้ “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” (Market Cap) ของ 4 หุ้นเคยสวยปรับตัว “ลดลง” จากในอดีต (ระหว่างปี 2560-2561) โดย “หุ้น BEAUTY” ของ “สุวิน ไกรภูเบศ” หุ้นใหญ่ จำนวน 453,974,000 หุ้น คิดเป็น 15.10% มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปในระดับ 62,456.00 ล้านบาท เหลือ 19,690.71 ล้านบาท เท่ากับว่ามาร์เก็บแคป “หดหาย” ไปกว่า 42,765.29 ล้านบาท !
ขณะที่ราคาหุ้น BEAUTY เคยทำจุด “สูงสุด” (New High) 23.70 บาทต่อหุ้น (ณ 30 เม.ย. 2561) แต่ปัจจุบันราคาหุ้นอยู่ที่ 6.65 บาทต่อหุ้น (11 เม.ย.2562) ที่ผ่านมาหุ้น BEAUTY ถือเป็นหุ้นที่สร้างการเติบโตสูงอย่างมาก สาเหตุมาจากการเติบโตของกำไรสุทธิที่ทำจุดสูงสุดต่อเนื่องทุกปี นับตั้งแต่ปี 2555 ที่มีกำไรสุทธิ 173.70 ล้านบาท เป็น 1,229.32 ล้านบาทในปี 2560
“หุ้น ICHI” ของ “ตัน ภาสกรนที” หุ้นใหญ่ จำนวน 360,639,600 หุ้น คิดเป็น 27.74% มีมาร์เก็ตแคปในระดับ 11,830.00 ล้านบาท เหลือ 3,874.00 ล้านบาท
เท่ากับว่ามาร์เก็ตแคปหดหายไปกว่า 7,956 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นเคยทำจุดสูงสุด 29.75 บาทต่อหุ้น (เมื่อ 26 ส.ค. 2557) และลงมาต่ำสุด 2.90 บาท หรือลดลงกว่า 90.03% เทียบกับราคาสูงสุด ล่าสุดราคาหุ้นอยู่ที่ 3.54 บาท (11 เม.ย.2562)
“หุ้นTKN” ของ “อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” หุ้นใหญ่ จำนวน 343,944,500 หุ้น คิดเป็น 24.92% มีมาร์เก็ตแคปในระดับ 28,842.00 ล้านบาท เหลือ 11,109.00 ล้านบาท เท่ากับว่ามาร์เก็ตแคปหดหายไปกว่า 17,733 ล้านบาท ด้านราคาหุ้นเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุด 29.50 บาทต่อหุ้น (เมื่อ 6 มี.ค.2560) ล่าสุดราคาหุ้น 9.35 บาทต่อหุ้น (11 เม.ย.2562)
“หุ้น DDD” ของ “สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์” หุ้นใหญ่ จำนวน 179,595,700 หุ้น คิดเป็น 56.50% มีมาร์เก็ตแคปในระดับ 27,966.00 ล้านบาท เหลือ 5,976.29 ล้านบาท เท่ากับว่ามาร์เก็ตแคปหดหายไปกว่า 21,989.71 ล้านบาท ราคาหุ้นเคยทำจุดสูงสุด 121 บาทต่อหุ้น (เมื่อ 12 ก.พ.2561) ล่าสุดราคาหุ้น 30 บาทต่อหุ้น
สอดคล้องกับทิศทางผลประกอบการ 2 ปีย้อนหลัง (2560-2561) พบว่าทั้ง “รายได้-กำไรสุทธิ” ลดลงต่อเนื่อง โดย หุ้น BEAUTY มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,229.32 ล้านบาท และ 991.59 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 3,735.37 ล้านบาท และ 3,501.24 ล้านบาท หุ้น ICHI มีกำไรสุทธิ 315.09 ล้านบาท และ 43.84 ล้านบาท รายได้อยู่ที่ 5,719.03 ล้านบาท และ 5,216.22 ล้านบาท
หุ้น TKN มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 608.44 ล้านบาท และ 459.18 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 5,283.13 ล้านบาท และ 5,697.41 ล้านบาท และหุ้น DDD มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 351.06 ล้านบาท และ 181.41 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 1,684.38 ล้านบาท และ 1,303.98 ล้านบาท
จากหุ้นที่เคยมี “สตอรี่” การเติบโต มีผลตอบแทนระดับสูง ทว่าในช่วงที่ผ่านมาหุ้นเหล่านี้กลับให้ผลตอบแทนที่ “ตกต่ำ” !! หุ้นหลายตัวราคาร่วงลงมาต่ำกว่า 50% และผลประกอบการที่ลดลง ทำให้เกิดคำถามที่ว่าฤาจะสิ้น “ยุคทอง” ของหุ้นเหล่านี้?
โดยมุมมองนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอสวิคเคอร์ส ประเมินว่า สถานการณ์ของหุ้น BEAUTY-ICHI-TKN-DDD มีลักษณะคล้ายๆ กัน คือ อดีตเคยเป็นหุ้นที่ “ฮอตฮิต”และเรียกความสนใจจากนักลงทุนอยากมีหุ้นไว้ประดับพอร์ต ต่างจากในปัจจุบันมุมมองที่เรียกว่า “ขาดเสน่ห์” ไปแล้วในสายตาของนักลงทุน จากราคาหุ้นที่ร่วงหนัก รวมทั้งทิศทางผลประกอบการยังไม่สดใสนัก เนื่องจากมีสารพัดปัจจัยลบ ประเมินจากตัวเลขผลประกอบการปี 2561 ที่มีตัวเลขออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ไว้มาก
ทว่า มุมมองปี 2562 คาดว่าทิศทางธุรกิจเริ่มผงกหัวขึ้นบ้าง จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมา จำนวนนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัว หลังลดลงจากเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต และผลกระทบจากปัญหาเครื่องสำอางบางแบรนด์ไม่ผ่านมาตรฐาน อย. ดังนั้น คาดว่าปีนี้ในแง่ของรายได้จากในและต่างประเทศจะกลับมาเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดในประเทศขยายตัว สำหรับตลาดต่างประเทศคาดว่า รายได้จากจีนจะเติบโตโดดเด่น
สำหรับ หุ้น ICHI คาดว่าตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม (Ready to Drink Tea) จะฟื้นตัว จากปี 2561 ที่ตลาดลดลง 10.20% หรือมูลค่า 11,892 ล้านบาท เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัว รวมทั้งการปรับขึ้นราคาสินค้าบางกลุ่มเพราะว่ามีต้นทุนภาษีสรรพสามิต
อย่างไรก็ตาม มองว่า 4 หุ้นดังกล่าว กำไร “ผ่านจุดต่ำสุด” ไปแล้วในปี 2561 จากหลายปัจจัยกระทบในปีก่อน และคาดกำไร 2562 กลับมาทยอยเติบโตเป็นตัวเลข “สองหลัก” อีกครั้ง โดยปัจจัยหนุนมาจาก ข้อ 1.ในประเทศจะกลับมาเน้น Traditional Trade มากขึ้น ผ่านการทำตลาดเฉพาะกลุ่มและเพิ่มช่องทางกระจายสินค้า ข้อ 2. ในต่างประเทศจะรับรู้รายได้มากขึ้น
“ภาพการฟื้นตัวเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จะต้องรอถึงครึ่งปีหลัง ดังนั้นเราจึงแนะนำรอดูพัฒนาการของหุ้นดังกล่าวต่อไป จากการเปลี่ยนกลยุทธ์มามุ่งเน้นที่ตลาดไทยและต่างชาติ”
ขณะที่ “สุวิน ไกรภูเบศ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BEAUTY บอกว่า ปี 2562 บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ ด้วยการพัฒนากิจกรรมตลาด ขยายช่องทางการจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ และสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค อีกทั้งมีแผนพัฒนาระบบ E-Commerce ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อขยายตลาดในกลุ่มผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยวางเป้าหมายให้แบรนด์ BEAUTY เป็นหนึ่งในผู้นำ “International Beauty & Health Business ของภูมิภาคเอเชีย”
โดยในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเติบโตมีนัยสำคัญ ล่าสุดบริษัทได้เซ็นสัญญาแต่งตั้ง Carrot Mall ผู้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในช่องทางค้าปลีกออฟไลน์และออนไลน์รายใหญ่ และเป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทนำสินค้าเข้าจำหน่ายผ่านช่องทาง Cross Border E-commerce ในแพลตฟอร์ม TMALL เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า Scentio Milk Plus Whitening Q10 Facial Foam ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคจีนและมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางตลาดหลัก (General Trade) ประกอบด้วย ช่องทาง “ออฟไลน์และออนไลน์” ในตลาดจีนเพียงผู้เดียว
“เราวางเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโตมากกว่า 20% พร้อมรักษาอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 25%”
ขณะที่ “ตลาดในบ้าน” มุ่งเน้นกลยุทธ์ขยายช่องทางจำหน่ายทุกรูปแบบเปิดสาขาใหม่โดยเน้นทำเลที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้า พร้อมทั้งมีแผนปรับดีไซน์ของร้าน BEAUTY BUFFET ให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยจะมีร้านต้นแบบสาขาแรกที่มาบุญครองในไตรมาส 2 ปี 2562 ประกอบกับการใช้กลยุทธ์ใช้สินค้าขับเคลื่อน (Product Driven) ผลักดันยอดขาย
โดยบริษัทยังรักษาความสามารถทำกำไรได้ในเกณฑ์ดี โดยในปี 2561 มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 28.3% อัตรากำไรขั้นต้น 65.3% เนื่องจากบริษัทมีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และมีช่องทางการตลาด ช่องทางการจำหน่าย ที่เข้าถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างหลากหลายมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม “หุ้นใหญ่ BEAUTY” มองว่า บริษัทยังได้รับผลกระทบระยะสั้น ซึ่งผลขายอาจชะลอตัวเล็กน้อย จากกรณีตลาดเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อกระแสข่าวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางของบริษัทอื่นไม่ผ่านมาตรฐาน อย. ส่งผลกระทบให้ฐานลูกค้ารายย่อย “ระมัดระวัง” ในการซื้อมากขึ้น แต่ในระยะยาวถือว่าเป็นผลดีต่อบริษัทเพราะสินค้าของบริษัทผลิตถูกต้องมีเลขที่จดแจ้งที่ได้รับการรับรองจาก อย. ทุกรายการ อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่ผ่านมาลดลงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดซื้อจากลูกค้านักท่องเที่ยวลดลง
“สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DDD ระบุว่า แผนการดำเนินงานในปี 2562 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 15% มาอยู่ที่ 1,450 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 1,250 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้มีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์เดิม และออกแบรนด์สินค้าใหม่ จำนวนรวม 8 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ แบรนด์ SoS (เอะสึ โอ เอะสึ) และ PRETTii FACE ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ที่คาดจะเปิดตัวไตรมาส 2 ปี 2562
นอกจากนี้ ยังจะมุ่งเน้นช่องทางการจัดจำหน่ายแบบร้านค้าดั้งเดิมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 5% ของร้านค้าแบบดั่งเดิมในปัจจุบัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2-3% และ จะขยายจุดขายในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งปีนี้บริษัทวางงบการตลาดที่ 49% ของยอดขายรวม
ขณะที่ ตลาดในต่างประเทศปีนี้ยังคงรักษาระดับส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจีน ไว้ไม่ให้ปรับตัวลดลง มีแผนเพิ่มตัวแทนจำหน่ายอีก 1-2 ราย และ ในฮ่องกงจะมุ่งเน้นการกระจายสินค้าไปตามร้านค้าต่างๆ ให้มากขึ้น ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ จะรักษาระดับการทำยอดขายต่อเดือนให้เท่าๆกันทุกเดือน คาดรายได้ปีนี้จะมากกว่า 100 ล้านบาท
“ปีนี้หากรายได้โต 15% กำไรก็ต้องโตตามที่ 15% ซึ่งทั้ง 2 อย่างต้องไปในทางทิศทางเดียวกัน โดยไตรมาส 1 และ ไตรมาส 4 จะเป็นไตรมาสที่ดีของเรา เพราะโตตามการท่องเที่ยว และ การจับจ่ายของลูกค้า ซึ่งใน2 เดือนแรก เราก็เห็นยอดขายขยับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ไตรมาสก่อนหน้า”
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งสนใจในธุรกิจบริการด้านความงามเพื่อต่อยอดการเติบโต คาดว่าจะเห็นความชัดเจนอย่างน้อย 1 รายในปีนี้ มูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีการซื้อกิจการ 1 ราย มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท
“สัดส่วนรายได้ต่างประเทศปีนี้ยังคงรักษาระดับส่วนแบ่งการตลาดในจีน ไว้ไม่ให้ปรับตัวลดลง จากแผนเพิ่มตัวแทนอีก 1-2 ราย”
“อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TKN บอกว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 5,662.7 ล้านบาท โดยตลาดภายในประเทศ บริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติมที่มีมาร์จิ้น พร้อมทั้งการขยายสาขาเฒ่าแก่น้อยแลนด์ และเฒ่าแก่น้อยแลนด์พลัสอย่างต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจอาหารจานด่วน Hinoyacurry ในปีนี้จะมีการเปิดสาขาเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน หลังจากเปิดสาขาแรกในช่วงกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายสินค้าในประเทศจีนในช่วงไตรมาส 3/61 จำนวน 1 ราย คาดว่า จะทำให้ยอดขายกลับมาดีตั้งแต่ ไตรมาส1-2/62 เป็นต้นไป และนอกจากนี้ค่าบาทเงินที่แข็งค่ายังเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการส่งออก
ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่าสัดส่วนรายได้หลักในปีนี้ยังคงมาจากต่างประเทศอยู่ที่ 60% และในประเทศ 40% ซึ่งบริษัทจะหาตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนเพิ่มเติมอีก 1 ราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3 ราย ส่วนตลาดในสหรัฐฯปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบคุณภาพการผลิตในโรงงานจากศูนย์การค้าคอสโก หลังจากผ่านกระบวนการดังกล่าวแล้ว จะส่งผลให้ยอดขายแบรนด์ใหม่ NORA ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นโดยในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายอยู่ที่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรทั้งในประเทศสหรัฐฯ และจีน เพื่อเข้า “ร่วมลงทุน”(JV) โดยในสหรัฐฯ จะเข้าไปร่วมลงทุนกับแบรนด์ท้องถิ่น และสร้างแบรนด์ใหม่ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้ ส่วนประเทศจีน จะร่วมลงทุนกับผู้ดำเนินธุรกิจ คอนซูเมอร์โปรดักท์ ในการขยายช่องทางการขายสินค้าที่ไม่ใช่สาหร่าย ผ่านแบรนด์เถ้าแก่น้อย เช่น การนำเอาสินค้าในประเทศไทยไปจำหน่ายในประเทศจีน เป็นต้น
“สนใจที่ขยายตลาดและเพิ่มช่องทางการขายในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยปัจจุบันบริษัทได้เข้าไปเจรจากับพันธมิตรในประเทศจีนและสหรัฐ ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะเห็นความชัดเจน”