“3สมาคมอสังหาฯ” จี้สมคิด ใช้ยาแรงฟื้นตลาดถดถอย
3 สมาคมอสังหาฯ เตรียมถกมาตรการช่วยอสังหาฯ ก่อนเสนอ“สมคิด” จี้ใช้ยาแรง อาทิ “ลดภาษี-เว้นธรรมเนียมโอน” อุ้มคนซื้อบ้าน-คอนโด กระตุ้นตลาด ถดถอย กระทบลูกโซ่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์มูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท หลังประเมิน“แอลทีวี”ฉุดตลาดฟุบ 20-30%
ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอ ผลกระทบจากสงครามการค้า กดดันเศรษฐกิจไทย โดยไตรมาสแรกมูลค่าส่งออกไทยติดลบ 1.64% ทำให้รัฐบาลกำลังหาแนวทางพยุงเศรษฐกิจ ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษกิจทั้งภาคท่องเที่ยว เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ประกอบการเตรียมนำเสนอมาตรการช่วยเหลือต่อรัฐ
นางสาวอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า สมาคมอาคารชุดไทย เตรียมหารือกับอีก 2 สมาคมด้านธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้แก่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เพื่อประเมินสถานการณ์ และหามาตรการบรรเทาธุรกิจอสังหาฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ก่อนนำเสนอต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้กระทรวงการคลังออกแพ็คเกจมาตรการกระตุ้น หนึ่งในนั้นคือมาตรการกำลังซื้อบ้าน ผ่านมาตรการสินเชื่อ
ทั้งนี้ตลาดอสังหาฯมีแนวโน้มถดถอย สาเหตุหลักๆ มาจากผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ (LTV) ทำให้กลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2-3 และกลุ่มคนที่ไม่มีเงินเก็บสะสมเพื่อใช้เป็นเงินดาวน์ ต้องชะลอการโอน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20-30% ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดในปี 2562 ไม่เติบโตหรืออาจจะติดลบ จากปี 2561 ที่เติบโตสูงถึง 20% และยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่กลุ่มอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และเครื่องใช้ภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์ ที่มูลค่าตลาดรวมกับธุรกิจอสังหาฯ ราว 1 ล้านล้านบาท
“รองนายกฯสมคิด ต้องการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเป็นอำนาจตามกฎหมายที่รัฐบาลชุดนี้ทำได้”
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมยอดโอนและยอดขายในต้นปี 2562 ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากมีการเร่งโอนก่อนมาตรการจะมีผลบังคับใช้ ทำให้ยอดที่วางแผนจะโอนในไตรมาส 2 -3 มาเร่งโอนในไตรมาสแรกแทน ก่อนมาตรการ LTV จะบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.ขณะที่จะเห็นผลกระทบหลังมาตรการมีผลบังคับใช้ 1-2 เดือน จึงจำเป็นต้องเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเห็นว่า การลดภาษี หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน เป็นการช่วยผู้ซื้อบ้านรายย่อยที่เคยทำได้ผลดีในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
“มาตรการที่จะเข้ามาช่วยพยุงตลาดอสังหาฯ คือ การยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน หรืออัตราภาษี ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีกับผู้ซื้อบ้าน ช่วยแบ่งเบาภาระได้มากขึ้น”
นายกสมาคมอาคารชุดไทย ยังกล่าวต่อว่า ภาพรวมการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้ค่อนข้างลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากมีสต็อกสะสมค่อนข้างสูง เมื่อมีมาตการLTVเพิ่มเข้ามา จึงต้องใช้เวลาระบายสต็อกเก่าเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเปิดตัวโครงการใหม่ต้องชะลอตัวออกไป
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า มาตรการลดหย่อนค่าโอนกรรมสิทธิ์ ภาษี ดอกเบี้ย ค่าจดจำนอง เพราะมาตรการเหล่านี้เป็น 1 ในรูปแบบของมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯที่หลายรัฐบาลนำมาใช้ ซึ่งได้รับผลดีจะเห็นได้จากที่ผ่านมาที่มีการใช้มาตรการรูปแบบนี้ พบว่ามูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯในช่วงที่มีมาตรการกระตุ้นเพิ่มขึ้นชัดเจน
"ถ้ามาตรการนี้ออกมาในช่วงที่เหลือของรัฐบาลนี้ก็เท่ากับเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถระบายบ้านและคอนโดที่สร้างเสร็จเหลือขายในมือภาพรวมทั้งประเทศหลายหมื่นยูนิตออกไปได้มากขึ้น ช่วยลดภาระของผู้ประกอบการได้ทันที โดยจะกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้มากกว่าผู้ซื้อทั่วไป
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวที่จะมีการเสนอต่อ ครม.พิจารณาในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.) คือการต่ออายุมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VoA) แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ประเทศ เพราะใกล้จะถึงกำหนดสิ้นสุดเดิมในวันที่ 30 เม.ย.นี้แล้ว โดยจะเสนอให้ขยายอีก 6 เดือน ไปสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค.นี้แทน เพื่อให้ครอบคลุมช่วงหยุดยาววันชาติจีนซึ่งเป็นช่วงที่ชาวจีนนิยมท่องเที่ยวต่างประเทศ และกระตุ้นให้ตลาดเป้าหมายอื่นๆ เช่น อินเดีย และไต้หวัน เดินทางเที่ยวไทยต่อเนื่อง
ส่วนมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ทางกระทรวงการคลังจะเสนอรวมเป็นแพ็กเกจ โดยมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ล่าสุดได้ข้อสรุปจากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้สามารถนำค่าที่พักและค่าบริการทางการท่องเที่ยวเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรองรวม 77 จังหวัดในช่วงไตรมาสที่ 2-3 หรือภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เพื่อกระตุ้นให้เห็นผลในระยะสั้น 5-6 เดือนนับจากนี้ซึ่งตรงกับช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหรือโลว์ซีซัน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าต้นเดือน พ.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อประคองภาวะเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อเนื่อง
โดยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินนโยบายที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเร็วกว่ากลุ่มอื่น และช่วยผู้ประกอบสตาร์ทอัพ ซึ่งคาดว่าภายใน 3 เดือนการเมืองจะเห็นภาพชัดเจน จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ตามปกติ
“ทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้ง เงินจะสะพัดมากแต่ครั้งนี้แปลกเงินไม่สะพัด 2 เดือนมานี้เศรษฐกิจนิ่ง เพื่อรอดูความชัดเจน เศรษฐกิจจากเดิมที่คาดว่าจะโต 4% เหลือเพียง 3% หากการจัดตั้งรัฐบาลยาวถึงครึ่งปีอะไรจะเกิดขึ้นคู่แข่งต่างประเทศหากข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่นิ่งเศรษฐกิจไทยก็จะลำบาก งานทุกอย่างจะต้องเร่งเดินหน้า”
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.)ทำมาตรการอัดฉีดเงินให้เอสเอ็มอีภายใน 3 เดือนเพื่อรักษาโมเมนตัมเศรษฐกิจระหว่างนี้ไม่ให้ทรุด
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพร กล่าวว่า ได้เสนอมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นอสังหาฯไปให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ได้พิจารณาในหลายมาตรการ โดยหลักการแล้ว จะเป็นมาตรการที่จะเข้าไปช่วยกระตุ้นฝั่งดีมานด์หรือผู้ซื้อมากกว่าผู้ผลิต ซึ่งจะเป็นลักษณะการลดหย่อน ไม่ใช่มาตรการภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการ ซึ่งสศค.จะเป็นผู้ตัดสินใจ