ดัน3จุดพักรถมอเตอร์เวย์
เล็งเปิดพีพีพี ดึงเอกชนลงทุนที่พักริมทางมอเตอร์เวย์สาย 7 เพิ่ม 3 จุด บางปะกง ศรีราชา บางละมุง วงเงิน 1.9 พันล้านบาท
รองรับการคมนาคมที่เพิ่มขึ้น พร้อมศึกษาสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า เร่งเปิดให้ทันมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด ปี 2563
กรมทางหลวงมีแผนพัฒนาจุดพักริมทางมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 ช่วงกรุงเทพฯ-ชลบุรี และหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก) ช่วงบางปะอิน-บางพลี โดยจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม แนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและการให้บริการมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทาง
นายพันธุ์ศักดิ์ สัตยเทวา ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง กล่าวว่า มอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางมีความสำคัญในการเดินทางและขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งเชื่อมการเดินทางสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด
รวมทั้งในอนาคตจะเชื่อมโยงการเดินทางจากสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยในอนาคตเมื่อโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมาก่อสร้างเสร็จจะเป็นโครงข่ายมอเตอร์เวย์ที่ยาวกว่า 400 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างอีอีซีกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พัทยา-มาบตาพุดเปิดปี63
นายพันธุ์ศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมทางหลวงกำลังสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางใหม่ตอนพัทยา-มาบตาพุด แบ่งเป็น 14 สัญญา โดย 13 สัญญาเป็นงานโยธา และสัญญาสุดท้าย คือ สัญญาระบบ ซึ่งความคืบหน้าของการก่อสร้างเส้นทางอยู่ที่ 90% คาดว่าไม่เกินกลางปี 2563 จะเปิดให้บริการได้ ซึ่งจะขยายความยาวของมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 จาก 78.9 กิโลเมตร เป็น 173.8 กิโลเมตร
ทั้งนี้ได้มีการออกแบบให้เส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 เชื่อมจากสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญนอกจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยต่อไปรถที่วิ่งจากสนามบินอู่ตะเภาจะใช้มอเตอร์เวย์เข้าสู่พื้นที่ภาคกลางได้เลย ซึ่งช่วยลดระยะเวลาและลดค่าต้นทุนด้านโลจิสติกส์
“เมื่อเปิดบริการมอเตอร์เวย์สาย 7 ช่วงพัทยา–มาบตาพุด ผู้ใช้บริการจะสูงมาก เพราะอีอีซีทำให้ภาคตะวันออกเติบโตเร็ว และเมื่อก่อสร้างมอเตอร์เวย์สาย 6 เสร็จ จะเชื่อมการเดินทางจากภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับอีอีซี ซึ่งจะใช้มอเตอร์เวย์เดินทางได้ถึง 400 กิโลเมตรจากภาคตะวันออกไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะใช้บริการโครงข่ายนี้ได้ภายในปี 2565” นายพันธุ์ศักดิ์กล่าว
จุดพักรถบางปะกง1.4พันล้าน
นอกจากนี้ เตรียมอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ซึ่งเป็นทางหลวงพิเศษที่มีการควบคุมการเข้า-ออก อย่างสมบูรณ์ โดยจะก่อสร้างและปรับปรุงจุดบริการที่พักริมทางหลายโครงการวงเงินรวมประมาณ 3,877 ล้านบาท
โดยมีโครงการที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการตาม พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 ซึ่งกำลังแก้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกและวิธีการให้คะแนน รวมทั้งร่างทีโออาร์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนปีนี้ 3 โครงการ รวมวงเงิน 1,946 ล้านบาท คือ 1.สถานีบริการทางหลวง (Service area) บางปะกงแห่งใหม่ บริเวณ กม.47+000 เงินลงทุน 1,400 ล้านบาท
2.ศูนย์บริการทางหลวงขนาดใหญ่ (Service center) บริเวณศรีราชา กม.93+500 วงเงิน 345 ล้านบาท 3.สถานีบริการทางหลวง (Service area) บางละมุง บริเวณ กม.140+000 วงเงิน 201 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะเริ่มก่อสร้างปี 2564-2565 และกรมทางหลวงเร่งพัฒนาให้ทันการเปิดมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุดในปี 2563
ปรับปรุงจุดพักรถ 3 แห่ง
นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังมีแผนที่จะปรับปรุงจุดบริการที่พักริมทางของกรมทางหลวงที่มีอยู่บนเส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และหมายเลข 9 วงเงินรวม 209.1 ล้านบาท คือ 1.ปรับปรุงจุดจอดพักรถทับช้าง วงเงิน 4.6 ล้านบาท เริ่มดำเนินการปี 2565
2.ปรับปรุงจุดจอดพักรถลาดกระบัง วงเงิน 6.5 ล้านบาท เริ่มดำเนินการปี 2565 และ 3.ปรับปรุงสถานีบริการทางหลวงบริเวณบางปะกงเดิม วงเงิน 198 ล้านบาท โดยเริ่มปรับปรุงในปี 2565
ชงเพิ่ม “คลองหลวง-มาบประชัน”
นายทวีศักดิ์ โปยารถ วิศวกรงานทาง และรองผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า ได้เสนอกรมทางหลวงเพื่อให้มอเตอร์เวย์สาย 7 และสาย 9 มีจุดบริการที่พักรถและให้บริการผู้ใช้บริการเพียงพอ รองรับการเดินทางในระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรในอนาคต ควรมีการก่อสร้างสถานีบริการทางหลวง และจุดจอดพักรถเพิ่มอีก 2 แห่งวงเงินรวม 1,722 ล้านบาท ได้แก่ 1.สถานีบริการทางหลวงบริเวณคลองหลวง กม. 16+000-20+000 วงเงินลงทุน 1,600 ล้านบาท โดยใช้รูปแบบพีพีพี
2.จุดพักรถมาบประชัน บริเวณ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ช่วง กม.119 +000 - กม.121 +000 ซึ่งเป็นพื้นที่เวนคืนเดิมของกรมทางหลวงสามารถสร้างได้ทั้งฝั่งกรุงเทพฯ – มาบตาพุด และจุดพักรถฝั่งทิศทางจากพัทยาฯ–กรุงเทพฯ วงเงินลงทุน 122 ล้านบาท
ตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ ได้นำเสนอว่าการออกแบบก่อสร้างและปรับปรุงที่พักริมทาง ให้คำนึงถึงการจัดพื้นที่จอดรถที่พอเพียงกับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ รวมทั้งให้บริการเชื้อเพลิงให้แก่ยานพาหนะหลากหลายประเภท ซึ่งรวมถึงจะต้องพิจารณาถึงการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย เพราะจะมีรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มในอนาคต
รวมทั้งเพื่อรองรับปริมาณรถที่ใช้บริการมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และ 9 ที่เพิ่มขึ้นจึงได้ศึกษาข้อดี-ข้อเสียของระบบจัดเก็บค่าผ่านทางระบบเปิด (Open system) และระบบปิด (Closed System) โดยรายงานให้กรมทางหลวงพิจารณาว่าระบบปิดมีความเป็นธรรมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมมากกว่า เพราะคิดตามระยะทางที่ใช้จริงและลดปัญหาการรั่วไหล รวมทั้งลดต้นทุนการดำเนินงานให้กรมทางหลวงได้ เช่น ค่าจ้างบุคลากร การเวนคืนที่ดินสร้างด่านเก็บค่าผ่านทาง
ทั้งนี้ หากใช้ระบบปิดและใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เก็บค่าผ่านมางจะลดค่าดำเนินงานได้ 19% และลดค่าบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเก็บค่าผ่านทางแบบระบบเดิมได้ 56%